ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 30 กรกฎาคม 2558 | ยอดรวมเฉพาะเดือนกรกฎาคม 2558 |
---|---|---|
คนถูกเรียกรายงานตัว | 779 | 12 |
คนถูกจับกุมคุมขัง | 476 | 1 |
คนถูกจับกุมคุมขังจากการชุมนุมโดยสงบ | 209 | – |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 144 | 19 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 46 | – |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 53 | – |
คดีหมิ่นประมาทพ่วง พ.ร.บ.คอมพ์ กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง
14-16 กรกฎาคม 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ตนัดสืบพยาน คดีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ศาลสืบพยานโจทก์ 1 วันและสืบพยานจำเลย 2 วัน ต่อเนื่องกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันสืบพยานจำเลย อัยการไม่มาศาลทั้ง 2 วัน จึงไม่มีการถามค้านจากฝ่ายโจทก์
ชุติมา นักข่าวของภูเก็ตหวาน เบิกความในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ต่อจากอลัน ซึ่งเป็นบรรณาธิการเว็บไซด์ว่า เธอเป็นคนนำข้อความตามฟ้องจากรายงานของรอยเตอร์ส มาอ้างอิงในบทความของเธอบนเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน แต่ไม่ได้เป็นผู้นำบทความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ก่อนการอ้างอิงข้อความตามฟ้อง เธอได้โทรศัพท์ไปตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อข่าวจากทั้งจากกองทัพเรือและกองบังคับการตำรวจน้ำแล้ว หลังสืบพยานเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 1 กันยายน 2558
จำเลยและทีมทนาย คดีภูเก็ตหวาน ถ่ายภาพร่วมกัน ที่หน้าศาลจังหวัดภูเก็ต
20 กรกฎาคม 2558 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีบริษัท เนเชอรัล ฟรุต ฟ้องหมิ่นประมาท อานดี้ ฮอลล์ หลังการไต่สวนพยานครบทุกปาก ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 เวลา 9.00
สืบพยานคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช.ต่อ 3 คดี
6 กรกฎาคม 2558 คดีสิรภพฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ พยานโจทก์ปากที่ 1 ต่อจากนัดที่แล้ว โดยนัดนี้เป็นการถามค้านของทนายจำเลย ซึ่งตั้งคำถามถึงอำนาจที่คสช.ใช้เรียกคนรายงานตัว เมื่อทนายถามว่าหลังการรัฐประเทศปกครองด้วยระบอบใด พ.อ.บุรินทร์ตอบว่า “ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”
17 กรกฎาคม 2558คดีจิตราฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ทหารที่มีหน้าที่รับรายงานตัวบุคคลซึ่งเป็นพยานเบิกความว่า จิตรามีชื่อในคำสั่งรายงานตัวแต่ไม่ได้เข้ารายงานตัวตามกำหนด ต่อมามีเพื่อนของจิตรามายื่นหนังสือว่าจิตราอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถมารายงานตัวตามกำหนด แต่ไม่มีเจตนาหลบหนีการรายงานตัว
21 กรกฎาคม 2558คดีวรเจตน์ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ศาลทหารให้เลื่อนการสืบพยานออกไปเพราะ พ.อ.ทรงวิทย์ ติดราชการ ไม่สามารถมาเบิกความได้ แต่อัยการต้องการสืบพยานปากนี้ จึงขอให้ศาลนัดสืบพยานปากนี้ใหม่
เปิดคำพิพากษาคดีติดป้ายแยกประเทศตามมาตรา 116 จับตาคดีที่เพิ่มจำนวนขึ้น
7 กรกฎาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องขอฝากขัง 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในผลัดที่สอง เพราะเห็นว่าไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวต่อ นักกิจกรรมทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในเช้าวัน 8 กรกฎาคม 2558 โดยไม่มีเงื่อนไข
8 กรกฎาคม 2558 รินดา หญิงอายุ 44 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา ว่าโอนเงินหมื่นล้านบาทไปสิงคโปร์ ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกไปจับที่บ้าน เธอถูกควบคุมตัวที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ 1 คืน ก่อนถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในวันต่อมา
รินดาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 14(2)ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ญาติของรินดายื่นประกันตัวโดยใช้เงินสด 100,000 บาทแต่ศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวระหว่างการฝากขังผลัดแรก ก่อนที่ศาลจะให้ประกันตัวในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ในช่วงการฝากขังผลัดที่ 2
22 กรกฎาคม 2558คดีติดป้ายผ้าแยกประเทศล้านนา ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 4 ปี ในความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา แต่ลดโทษให้ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 3 ปี เพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ และให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 5 ปี
คำพิพากษาของศาลพอสรุปได้ว่า การติดป้ายแยกประเทศ ในขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในความวุ่นวาย ประชาชนแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายและมีความแตกแยกทางการเมือง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย นอกจากนี้ข้อความบนป้ายก็มีลักษณะเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐ
คดี 112 ศาลทหารพิพากษาคดีเครือข่ายบรรพต 10 คน รวมทั้งเริ่มสอบคำให้การและสืบพยานอีกหลายคดี
7 กรกฎาคม 2558 คดีธาราโพสต์คลิปบรรพตบนเว็บไซด์ ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ ธาราแถลงขอให้ศาลเลื่อนการสอบคำให้การไปก่อนเพราะยังไม่ได้รับคำฟ้องจากทนายซึ่งส่งผ่านทางเรือนจำ ศาลนัดสอบคำให้การใหม่วันที่ 7 สิงหาคม 2558
8 กรกฎาคม 2558คดีศศิวิมลโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ศาลทหารเชียงใหม่ นัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายจำเลยยื่นบัญชีพยานบุคคลแต่ไม่มีพยานเอกสาร เมื่อทราบว่าศศิวิมลไม่มีพยานเอกสาร ศาลและเจ้าหน้าที่ศาลขอพูดคุยกับทนายโดยจะให้งดตรวจพยานหลักฐานในนัดนี้ เพราะอ้างว่าตรวจพยานหลักฐานแต่โจทก์ฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ทนายยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีในกฎหมาย ศาลจึงต้องตรวจพยานหลักฐาน
หลังการตรวจพยานหลักฐานแล้วเสร็จ ศาลนัดสืบพยานปากแรก วันที่ 7 สิงหาคม 2558
9 กรกฎาคม 2558คดีเครือข่ายบรรพต ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษา ที่ห้องพิจารณาคดีนอกจากจะมีคู่ความก็มีญาติของจำเลยกว่า 20 คน รวมถึงสื่อมวลชนนั่งสังเกตการณ์อยู่ด้วย ศาลอ่านคำพิพากษาโดยไม่อ่านทวนคำฟ้อง ศาลทหารลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1-2 และ 7-12 (“เผ่าพันธุ์” , “พนา”, หัสดิน, กรณ์รัฏฐ์, ทิพย์รชยา, นงนุช, วิทยา, กรวรรณ) ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นเวลา 10 ปี จำเลยทั้ง 8 ให้การรับสารภาพ ลงโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี
จำเลย ที่ 5และ6 (“สายชล” และ สายฝน) ศาลลงโทษจำคุกในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน การกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 3 ปี
สำหรับ”ทวีสิน” และ “ขวัญใจ” จำเลยคดีเครือข่ายบรรพตที่ให้การปฏิเสธในวันนัดสอบคำให้การ ศาลให้จำหน่ายคดีออก และให้อัยการทหารส่งฟ้องใหม่ภายใน 15 วัน นับจากวันสอบคำให้การ 9 กรกฎาคม 2558 แต่ขอให้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสองไว้ก่อน
10 กรกฎาคม 2558คดีสมัคร ศาลทหารเชียงราย นัดสืบพยานโจทก์สองปาก คือ อดีตภรรยาของจำเลย และอดีตผู้ใหญ่บ้านที่รู้จักจำเลย แต่สมัครแจ้งกับทนายว่า ตัดสินใจรับสารภาพเพื่อให้คดีจบในวันนี้ เพราะศาลนัดสืบพยานมาหลายนัดแต่คดีก็ยังไม่เสร็จ ทำให้รู้สึกเครียด ทนายแจ้งความประสงค์ของจำเลยกับเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลถามสมัคร ว่าต้องการรับสารภาพจริงหรือไม่ สมัคร รับว่าใช่ ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 6 สิงหาคม 2558
28 กรกฎาคม 2558คดี อัญชัญ ศาลทหารนัดสอบคำให้การ และสั่งพิจารณาลับ อัญชัญ ให้การปฏิเสธ ศาลนัดวันสืบพยานปากแรกวันที่ 29 ตุลาคม 2558
การปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมเกิดขึ้นทั้งในและนอกราชอาณาจักร
4 กรกฎาคม 2558 ทหารในเครื่องแบบ 4-5 นาย พยายามขอดูเนื้อหางาน เสวนาวิชาการเรื่องเพศ “Gender & LGBTIQs” ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
16 กรกฎาคม 2558 มติชนออนไลน์ รายงานบทสัมภาษณ์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์นักวิจัยรับเชิญ มหาวิทยาลัย Freiburg กรณีถูกแทรกแซงกิจกรรมวิชาการว่า “ผมเดินทางออกจาก Freiburg ไปยังแฟรงค์เฟิรต์แต่เช้า แต่เพียงไม่กี่นาทีก่อนที่เล็คเชอร์จะมีขึ้น ผมได้รับแจ้งว่า ทางผู้จัดขอยกเลิกงานเล็คเชอร์ของผม เพราะสถานกงสุลฯ ได้โทรศัพท์มาขอให้ยกเลิก และได้มีการพูดถึงการขู่ว่าจะมีการตัดเงินช่วยเหลือจากสถานกงสุลฯ หากผู้จัดยังดื้อที่จะให้มีเล็คเชอร์ของผมต่อไป”
การเรียกรายงานตัวและ”เยี่ยมบ้าน” นักกิจกรรม
1 กรกฎาคม 2558 ลมุน แจ้งเร็ว มารดาของ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด 1 ใน 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งของศาลทหารแจ้งว่า มีทหารในเครื่องแบบ 3 นาย ไปพบที่บ้านพักที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เพื่อสอบถามว่า ทำไมชลธิชา จึงมีพฤติการณ์ ต่อต้าน คสช. และสอบถามเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู ว่า เหตุใดจึงไม่ควบคุมดูแลลูกสาวไม่ให้มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาล
พุทิตา นักกิจกรรมจากจังหวัดเชียงใหม่โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีทหาร 2 นาย ตำรวจ 2 นาย ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน มาถ่ายรูปที่บ้าน ตั้งแต่เช้า โดยทั้งหมดแต่งกายนอกเครื่องแบบ
2 กรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อตรวจสอบกรณีมีคณะอาจารย์ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรม 14 คนที่ถูกควบคุมตัว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบว่ามีอาจารย์ลงชื่อทั้งหมด 16 คน
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย มาที่สำนักงานประชาไท เพื่อสอบถามข้อมูล โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่ขอเบอร์โทรศัพท์ และชื่อของผู้ที่สามารถติดต่อได้ประจำ พร้อมถ่ายรูปของเจ้าหน้าที่บางส่วนและภาพภายนอกสำนักงานไปด้วย
4 กรกฎาคม 2558 เฟซบุ๊กส่วนตัว ของเนติวิทย์ แจ้ง ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายมาเยี่ยมบ้านเขาตามคำสั่งของทหาร
8 กรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย เข้าพบ จรัล อัมพรกลิ่นเเก้ว โดยอ้างเหตุ ที่เขาวิจารณ์และสื่อสารข้อมูลเรื่องการซื้อ “เรือดำน้ำ” ผิดพลาด
ในวันเดียวกันที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เบญจรัตน์ แช่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ให้ข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย มาสอบถามถึง อาจารย์ประทับจิต นีละไพจิตร และได้พบกับ รศ.โคทม อารียา และอาจารย์ของสถาบันอีก 6 คน ใช้เวลาพูดคุยราว 1 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือว่า ถ้าจะทำกิจกรรมอะไรขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลพื้นที่ และขอให้เพลาเนื้อหาลง
20 กรกฎาคม 2558 เจ้าหน้าที่ จากกรมทหารราบที่ 11 เรียก ณัฐ สัตยาพรพิสุทธ์ เข้าพบ โดยอ้างว่าต้องการติดตามบุคคลตามเป้าหมาย
22 กรกฎาคม 2558 เอเอสทีวีเมเนเจอร์ออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังไปที่บ้านผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน โดยจะไปพูดคุยกับ “ประสิทธิชัย หนูนวล” แต่ไม่อยู่บ้าน เจอแต่แม่ ทหารชี้แจงว่าเป็นการสอบถามข้อมูลตามปกติไม่ได้ไปข่มขู่
24 กรกฎาคม 2558 ปริวัฒน์ คำภีระ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งถ่ายสารคดีเรื่องลำน้ำฮวย บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อส่งรายการ ที่นี่บ้านเรา ทางไทยพีบีเอส ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จ.มหาสารคาม เรียกพบเนื่องจากขัดข้อตกลงเคยเซ็นไว้ที่จะขออนุญาตก่อนเข้าพื้นที่และจะไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน นอกจากปริวัฒน์แล้ว มีนิสิตที่ลงพื้นที่ไปถ่ายทำรายการถูกเรียกไปพบอีกอย่างน้อย 7 คน
27 กรกฎาคม 2558 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ณัตพล ชาว อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในผู้ที่โพสต์ข้อความคัดค้านการใช้มาตรา 44 ควบคุมเด็กแว้น-รถซิ่ง เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ หลังจากทหารเรียกมาปรับทัศนคติ”
สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกอื่นๆ
14 กรกฎาคม 2558 ณัฐพล เข็มเงิน หนุ่มพังค์พ่นสีสเปรย์ ถูกศาลอาญาสั่งจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานทำลายทรัพย์สินราชการ
ณัฐพลหรือ “เจเจ” จำเลยคดีพ่นสีป้ายศาลอาญา (ภาพโดยประชาไท)
16 กรกฎาคม 2558 ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวกรณี “พีซ ทีวี” จอดำ โดยวินิจฉัยว่า คำสั่งกสทช. ไม่ชอบด้วยกม. พร้อมกำชับให้พีซทีวีออกอากาศอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เนื้อหารายการขัดต่อประกาศคำสั่งคสช.
26 กรกฎาคม 2558 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ทหารปลดป้าย อวยพรวันเกิด “ทักษิณ” ที่ติดริมถนนสายแพร่-ลอง
RELATED POSTS
No related posts