ความเคลื่อนไหวสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออก เดือนมกราคม 2558

ช่วงเวลา

Period

1 – 31 ม.ค. 2558

1 – 31 Jan 2015

 

22 พ.ค. 2557 – 31 ม.ค. 2558

22 May 2014 – 31 Jan 2015

   คนที่ถูกประกาศเรียกทั้งหมด
    Number of individuals summoned    

10

669  

 คนที่ถูกจับกุมทั้งหมด
Number of individuals arrested 

            14  

 376 

ผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ
Arrests at peaceful demonstrations

0

136

จำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหลังถูกเรียกหรือถูกจับกุม
Number of individuals facing criminal prosecution after summoned/arrested

    123 คน      

ขึ้นศาลทหาร
Before the military court

        90 คน   

ขึ้นศาลพลเรือน
Before the civilian court

        39 คน

บุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ (ม.112)
Individuals under investigation for lese majeste crime (section 112)

        32 คน

 

หมายเหตุ ตัวเลขข้างบนคือตัวเลขเท่าที่ทางศูนย์ข้อมูลเก็บและยืนยันได้ แต่ก็อาจผู้ถูกจับกุม/ถูกดำเนินคดีบางส่วน ที่ตกหล่นจากการบันทึก 

คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 : จับกุมเพิ่มอีก 7 คน

การร้องทุกข์กล่าวโทษ การจับกุมตัว และ ความเคลื่อนไหวคดี

6 มกราคม 2558

มีการจับกุมผู้ต้องหาคดี 112 รายใหม่ ทหารตำรวจสนธิกำลังเข้าจับกุม ชโย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.เมือง จ.สระแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความในแชทเฟซบุ๊กผิดมาตรา 112 เขาถูกนำตัวกลับไปที่บ้านเพื่อตรวจค้นและถูกยึดคอมพิวเตอร์ จากนั้นจึงถูกนำตัวมาสอบสวนที่ค่ายทหารในกรุงเทพ ในการแถลงข่าวการจับกุม 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า การจับกุมชโยเป็นการขยายผลจากการจับกุม พงษ์ศักดิ์ ผู้ต้องหาอีกรายที่ถูกจับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม  

เจ้าหน้าที่เชื่อว่า การกระทำตามข้อกล่าวหาของทั้งชโยและพงษ์ศักดิ์มีลักษณะเป็นขบวนการ วันที่ 23 มกราคม 2558 ชโยถูกส่งตัวไปที่ศาลจังหวัดทหารบกสระแก้ว เพื่อขอฝากขัง

7 มกราคม 2558

พล.อ.อ.ชาญศักดิ์ นิวาศะบุตร รองสมุหราชองครักษ์ เข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดี พล.อ.สายัณห์ คัมภีร์พันธ์ สมุหราชองครักษ์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยการออกคำสั่งให้ตนพ้นจากราชการ 

พล.อ.อ.ชาญศักดิ์ชี้ว่า การจะให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง เป็นพระราชอำนาจเท่านั้น

ในวันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจชนะสงคราม เรียก 2 นักศึกษา กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อม พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ที่ปรึกษา เข้าให้ปากคำในกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทสมเด็จพระนเรศวรระหว่างงานเสวนาซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2557 ก่อนจะมีนายทหารมาร้องทุกข์กล่าวโทษในวันที่ 16 ตุลาคม 2557    

12 มกราคม 2558

ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายนัดสืบพยานคดีของ สมัคร เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำการจับกุมเบิกความว่า ขณะทำการจับกุม สมัครมีลักษณะเหมือนคนเมาสุรา แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ 

13 มกราคม 2558

พล.ต. น.พ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้ก่อตั้ง องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน เข้าพบเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ สุรชัย แซ่ด่าน แกนนำ “แดงสยาม” กรณี  จัดรายการ โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต

21 มกราคม 2558

ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐานคดี สิรภพ โดยดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นการลับ ทนายจำเลยเปิดเผยว่า จะมีการสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 10 ปาก และ พยานจำเลย 3 ปาก ส่วนแนวทางการสู้คดี จำเลยจะพิสูจน์ว่าข้อความที่โพสต์ไม่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 

25 มกราคม 2558

“ชบา” หญิงสูงวัย ถูกจับกุมที่บ้านพัก โดยทหารกว่าสิบนายพร้อมอาวุธ  ชบาถูกกล่าวหาว่าอัพโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ลงบนเว็บไซต์ยูทูป และเผยแพร่คลิปดังกล่าว ลงบนเฟซบุ๊กของตนเอง “ชบา” ถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารตั้งแต่ถูกจับกุม ก่อนจะถูกนำตัวมาขออำนาจศาลฝากขังในวันที่ 30 มกราคม 2558 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

นอกจาก “ชบา” แล้ว ก็มีรายงานว่าในวันเดียวกัน ทหารในเครื่องแบบ 10 คน และเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ อีก 4-5 คน จับกุมชายชื่อ ธารา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยข้อหาเดียวกัน ธาราถูกนำตัวไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อขอฝากขังในวันที่ 30 มกราคม 2558 

28 มกราคม 2558

มีรายงานเข้ามาว่า ทหารตำรวจพร้อมอาวุธจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกสองคน จากบ้านพักย่านสาธุประดิษฐ์ ทราบภายหลังว่า ไพศิษฐ์ ผู้เป็นพี่ชายถูกนำตัวมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ส่วนน้องชายของไพสิทธ์ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านในช่วงเย็นของวันที่ถูกจับกุม

นอกจากไพสิทธิแล้ว ผู้ที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวพร้อมกับเขาอีก 3 คน เงินคูณ ดำรงค์ และศิวพร ก็คาดว่าน่าจะถูกจับกุมในเดือนมกราคมเช่นกัน  

ในเดือนมกราคม มีผู้ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 คน รวมแล้วสิ้นเดือนมกราคม 2558 มีผู้ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 32 คน 

ความเคลื่อนไหวอื่นๆ: รัฐยังเร่งติดตามคดี 112 จับคดีแอบอ้างอีกสอง

7 มกราคม 2558

ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พูดถึง การติดตามผู้ต้องหาคดี 112 กลับมาดำเนินคดี ว่า สิ่งที่ต้องทำ คือการเร่งสร้างความเข้าใจกับต่างชาติว่า คดี 112 เป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีทางการเมือง 

9 มกราคม 2558

พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง พร้อมด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการติดตามเอาผิดผู้ต้องหาคดี112 ที่กำลังลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ

พล.อ. ไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงมีมติให้นายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติการใหม่ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

12 มกราคม 2558

หลังมีการเผยแพร่ข่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ เอกภพ หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ปรากฎว่ามีคนไทยกลุ่มหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กประนามการให้สถานะดังกล่าว และขู่ว่าจะเลิกบริจาคเงินรายเดือนให้กับสำนักงานฯ

นอกจากจะมีการโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีสำนักงานฯในเฟซบุ๊กเพจ “ล้านชื่อต้านล้างผิด”แล้ว ยังมีการไปโพสต์ข้อความโจมตีบนเฟซบุ๊กเพจของสำนักงานฯด้วย ในวันที่ 11 มกราคม 2558 สำนักงานฯ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจของตัวเองเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะว่า “หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชติ เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและไม่ใช่องค์กรการเมือง”

14 มกราคม 2558

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ปิดเฟซบุ๊กเพจ หลังถูกโจมตี กรณีสำนักงานฯให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่เอกภพหรือ “ตั้ง อาชีวะ”

หลังเป็นที่รับทราบกันว่ามีการปิดเฟซบุ๊กเพจดังกล่าว เฟซบุ๊คเพจ วี ฟอร์ ไทยแลนด์ ก็โพสต์ข้อความว่า “มาตรการต่อไปคือการกดดันให้สำนักงานฯย้ายออกไปจากประเทศไทย

24 มกราคม 2558

พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ควบคุมตัว สมมาตร ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯและฉ้อโกงประชาชนมาขออำนาจศาลทหารฝากขัง 

สมมาตรถูกจับกุมหลังอ้างว่าเป็นหลานพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขายหุ้นให้กับประชาชน โดยมีการอ้างถึงสถาบันด้วย เบื้องต้นสมมาตรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ในวันเดียวกันนี้ก็มีการจับกุม โชติช่วง นายช่างชลประทาน ที่จังหวัดหนองคาย โชติช่วงถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันในการประกอบธุรกิจ

30 มกราคม 2558

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก พล.ต.ต. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์  และพล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯด้วยการแอบอ้างสถาบันเป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อรวมกับโทษในฐานความผิดอื่น ทั้งสองถูกจำคุกรวม 6 ปี

คดีการเมืองหลังการรัฐประหาร: ศาลทหารไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจเหนือคดีพลเรือน

22 มกราคม 2558

ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานโจทก์ คดี สิรภพฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องที่จำเลยขอให้ศาลทหารส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 โดยศาลให้เหตุผลว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีตามประกาศ คสช. และศาลทหารไม่มีอำนาจส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พยานโจทก์ปากที่ 1 เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย เพราะจำเลยไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง

พ.ท.บุรินทร์ เบิกความว่า เชื่อว่าประชาชนทั่วไป น่าจะทราบถึงคำสั่งเรียกบุคคลรายงานตัว เพราะคำสั่งดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านทางสื่อหลายช่องทาง แต่ไม่ขอยืนยันว่าจำเลยจะทราบคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ ในการถามค้าน ทนายจำเลยถาม พ.ท.บุรินทร์ว่า กฎหมายใดให้อำนาจคสช.เรียกบุคคลรายงานตัว พ.ท.บุรินทร์ตอบว่า คำสั่งดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ แต่เป็นการใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์

ในวันเดียวกัน ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดี ณัฐ อดีตจำเลยคดี 112 ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และให้จำคุกเพิ่มอีก 20 วัน เพราะณัฐเคยต้องโทษจำคุกในคดี 112 มาก่อน รวมจำคุก 2 เดือนกับ 20 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน กับ 10 วัน

หลังศาลมีคำพิพากษา ณัฐยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินประกัน 40,000 บาท แต่ศาลส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ณัฐจึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ วันที่ 26 มกราคม ณัฐได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว

23 มกราคม 2558 

ศาลทหารกรุงเทพ นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องที่จำเลยขอให้ศาลทหารส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 โดยศาลให้เหตุผลว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีตามประกาศ คสช. และศาลทหารไม่มีอำนาจส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

หลังอ่านคำสั่ง ศาลตรวจพยานหลักฐานของคู่ความ อัยการทหารแถลงขอสืบพยาน 11 ปาก ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยาน 5 ปาก การสืบพยานนัดแรกจะมีในวันที่ 10 มีนาคม 2558

นอกจากคดีของสมบัติแล้ว ในวันเดียวกันที่ศาลทหารกรุงเทพก็มีการสืบพยานคดี สมบัติ ก. และ พรรณมณี ฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำลายทรัพย์สินของทางราชการด้วย ในวันนี้จะมีการสืบพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมซึ่งไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ศาลให้เลื่อนการสืบพยานปากต่อไปจากที่นัดไว้ช่วงปลายเดือนมกราคม 2558 ไปเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคม 2558 

26 มกราคม 2558

ศาลทหารกรุงเทพ นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีวรเจตน์ ฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 41/2557 ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลอ่านคำสั่งยกคำร้องที่จำเลยขอให้ศาลทหารส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 โดยศาลให้เหตุผลว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีตามประกาศ คสช. และศาลทหารไม่มีอำนาจส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

หลังอ่านคำสั่ง ศาลเริ่มกระบวนพิจารณา มีการตรวจบัญชีพยานและหลักฐานของคู่ความ อัยการทหารแถลงจะสืบพยานทั้งหมด 7 ปาก ทนายจำเลยแถลงจะสืบพยาน 6 ปาก ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เวลา 8.30 น. 

ในวันเดียวกัน ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยาน คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 41/2557 เนื่องจากพยานที่จะมาเบิกความในวันนี้รับราชการอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ไม่สามารถมาเบิกความที่กรุงเทพ ศาลแขวงดุสิตจึงให้สืบพยานปากนี้ที่ศาลแขวงชลบุรี 

พ.ต.เอกสิทธิ์ นงนุช ผู้ทำการจับกุมสมบัติเบิกความว่า ตนได้รับคำสั่งให้ทำการจับกุมบุคคลที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การจับกุมเกิดขึ้นในเวลา 19.00 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2557 หลังจับกุมสมบัติถูกส่งไปควบคุมตัวของทหารในวันเดียวกัน ก่อนที่จะถูกนำตัวไปที่สโมสรทหารบกในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ทนายจำเลยถามพยานว่าสมบัติถูกควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎอัยการศึกให้อำนาจหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ตนเพียงทำตามคำสั่ง

การสืบพยานนัดต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่ศาลแขวงดุสิต

การเรียกบุคคลรายงานตัวและการจับกุมตัวบุคคล

ช่วงปลายเดือน มกราคม คสช. เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวหลายคน เนื่องจากแสดงความเห็นต่อกรณีการถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และต่อกรณีการเดินทางเยือนประเทศไทยของตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ  

27 มกราคม 2558

สิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ารายงานตัวที่ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 หลังแถลงข่าวและโพสต์เฟซบุ๊ก ต่อกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 

29 มกราคม 2558

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ารายงานตัวที่ค่ายค่ายศรีพัชรินทร์  จังหวัดขอนแก่น เพื่อพูดคุยกับทหาร หลังให้สัมภาษณ์สื่อกรณี รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนประเทศไทย

30 มกราคม 2558

เจ้าหน้าที่ทหาร 2 นายเชิญตัว พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากบ้านไปปรับเปลี่ยนทัศนคติที่กองทัพภาคที่ 1 หลังออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องของน้ำมัน โดยทำการเชิญตัวอย่างสุภาพ 

ในวันเดียวกัน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เข้ารายงานตัวกับคสช. หลังจากที่โพสต์ ข้อความ ผ่านเฟชบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาล ณัฐวุฒิ เข้าพูดคุยกับทหารในสโมสรทหารบกเทเวศน์ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็เดินทางกลับ

นอกจากณัฐวุฒิแล้ว บุคคลสำคัญในรัฐบาลที่แล้วอย่าง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ และ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ก็เข้ารายงานตัวที่กองทัพภาคที่ 1 เพื่อปรับความเข้าใจกับทหาร เช่นเดียวกัน

30 มกราคม 2558 วรชัย เหมะ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยได้รับการประสานให้เข้ารายงานตัวที่กองทัพภาคที่ 1 แต่เนื่องจากวรชัยอยู่ต่างจังหวัด จึงขอเดินทางมารายงานตัวในวันที่ 2 กุมภาพันธ์แทน อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนัด วรชัยได้รับการประสานอีกครั้งว่าไม่ต้องเดินทางไปรายงานที่กองทัพภาคที่ 1 แต่มีนายทหารเดินทางมาพบและพูดคุยที่บ้านแทน

นอกจากบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทย 7 คนแล้ว ก็มีรายงานว่า คนเสื้อแดงอย่างน้อย 3 คน ถูกทหารในพื้นที่เรียกไปพบหรือโทรมาคุย

ในเดือนมกราคม 2558 มีผู้ถูกคสช.เรียกรายงานตัวอย่างน้อย  10 คน นับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2558 มีคนถูกเรียกรายงานตัวอย่างน้อย 669 คน โดยนักการเมืองทั้ง 7 คน เคยถูก คสช.เรียกตัวมาก่อนหน้านี้เเล้ว

การจับกุมบุคคล

มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า มีบุคคล 3 คน ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 เพราะให้ที่พักพิงแก่พงษ์ศักดิ์ผู้ต้องหาคดี มาตรา 112

9 มกราคม 2558 ตำรวจ สน.ดุสิต คุมตัวผู้ชุมนุมสองคนที่ชูสามนิ้วขณะรวมตัวกันให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาชี้แจงปมปัญหาทุจริตจำนำข้าวต่อสนช. บริเวณหน้ารัฐสภาก่อนปล่อยตัวในวันเดียวกัน

ในเดือนมกราคม 2558 รวมกับการจับกุมบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 อีก 9 คนแล้ว มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 14 คน นับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2558 มีคนถูกจับกุมด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างน้อย 376 คน

การแทรกแซง และ ปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ

22 มกราคม 2558

ทหารประสานมายังทีมผู้จัดละครเวที บางละเมิด ว่าต้องส่งหนังสือขออนุญาติก่อน ต่อมาทหารมาพบเพื่อพูดคุยกับผู้จัดและอนุญาตให้จัดต่อไปตามกำหนดเดิมได้ แต่จะขอร่วมชมการแสดง พร้อมทั้งบันทึกเทปการแสดงไว้ด้วย

25 มกราคม 2558

ทหารประสานให้กลุ่มข่ายลูกหลานเมืองแพร่ ผู้จัดเสวนา “อัตลักษณ์ ตัวตน คนเมืองแพร่” ถอดบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกบฏเมืองแพร่ ออกจากเอกสารประกอบงานเสวนา เนื่องจากคำว่า “กบฏ” เป็นเรื่องอ่อนไหวในสถานการณ์ปัจจุบัน  

ก่อนการจัดงาน ผู้จัดงานได้ทำหนังสือขออนุญาตจัดสัมมนาและส่งเอกสารประกอบการสัมมนาให้เจ้าหน้าที่ทหารตามข้อกำหนดของคสช. ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ขอให้ผู้จัดงานนำบทความ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม: พินิจกรณีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445)”  ออกจากเอกสารประกอบการสัมมนา โดยแจ้งว่าบทความดังกล่าวมีคำว่า “กบฏ” ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และไม่เหมาะสมที่จะเผยแพร่ในขณะนี้ 

29 มกราคม 2558

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ยกเลิกการจัดแถลงข่าว “ดัชนีสถานภาพสื่อเอเซีย:ประเทศไทย 2557” โดยระบุว่าถูกคสช. ขอร้องให้เลื่อนการจัดงานออกไปก่อน เจ้าหน้าที่ทหารยังประสานไปยังผู้จัดการโรงแรมวี (Vie Hotel) ในช่วงเช้าด้วยว่าไม่อนุญาตให้จัดงานดังกล่าว 

ในวันเดียวกัน เฟซบุ๊กของ บีบีซีไทยก็เผยแพร่ข้อความจากการสัมภาษณ์ สุนัย ผาสุก ตัวแทน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย ซึ่งระบุว่า ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยผ่านทางโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่จะไม่มีการจัดแถลงข่าว เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย

ในเดือนมกราคม 2558 มีการปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 3 ครั้ง นับตั้งแต่การรัฐประหารจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2558 มีการปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรมสาธารณะอย่างน้อย 45 ครั้ง

ความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพการแสดงออก กรณีอื่นๆ

23 มกราคม 2558

ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าว ภูเก็ตหวาน ยื่นหนังสือต่อตัวแทนคสช.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้กองทัพเรือถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ยื่นฟ้องไว้ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต โดยความในหนังสือระบุว่า การดำเนินคดีครั้งนี้เป็นการจำกัดเสรีภาพและการทำงานของสื่อ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่อย่างใด

27 มกราคม 2558

ศาลจังหวัดราชบุรี พิพากษาปรับชาวนาราชบุรี 5 คน คนละ 10,000 บาท จากกรณีที่ชาวนาราชบุรีจากหลายอำเภอรวมตัวกันปิดถนนพระราม 2 ที่อำเภอปากท่อ จังหวัด ราชบุรี ระหว่างวันที่ 1-7 ก.พ.  2557  เพื่อเรียกร้องเงินจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

เนื่องจากชาวนาทั้ง 5 ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือปรับคนละ 5,000 บาท 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage