หลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และกลายเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ คสช. เร่งผลักดันโครงการพัฒนาของรัฐทั้งทางคมนาคม และการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง เช่น โครงการรถไฟรางคู่, รถไฟความเร็วสูง, โครงการรถไฟในกรุงเทพมหานคร, โครงการสมาร์ทซิตี้ทั้งในกรุงเทพมหานคร และขอนแก่น เป็นต้น แต่ด้วยความเร่งด่วนของโครงการใหญ่หลายโครงการ ทำให้รัฐรีบเร่งในการเริ่มโครงการโดยไม่ได้สนใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อคนในพื้นที่ของโครงการพัฒนาของรัฐแต่ละโครงการ ซึ่งคนจนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างหลายหมื่นคน การออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลตลอดเวลาเกือบ 5 ปีก็ไม่ได้รับการแก้ไข
โครงการเกี่ยวกับรถไฟเกิดขึ้นหลายโครงการ ทำให้คนจนริมทางรถไฟถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัย
ในยุค คสช. มีโครงการเกี่ยวกับการคมนาคมเกิดขึ้นมากมาย แต่โครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนที่ไม่มีที่ดินอยู่อาศัยมากที่สุดคือโครงการเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟ จากรายงานของเครือข่ายสลัมสี่ภาค พบว่ามีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุค คสช. แล้วส่งผลกระทบต่อชุมชนริมทางรถไฟ และยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาจากรัฐบาล
หนึ่ง โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วง หาดใหญ่ – สงขลา
สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้วางแผนการก่อสร้างรางคู่ทั่วประเทศออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2553 – 2558 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 และระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้มีทางรถไฟรางคู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 – 2568 ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วง หาดใหญ่ – สงขลา นั้นอยู่ในระยะที่ 2 ของแผนการสร้างรถไฟรางคู่ แต่ขณะนี้โครงการได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงาน EIA และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างภายใน ปี 2562 นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีชุมชนริมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบต้องรื้อที่อยู่อาศัยราว 3,000 หลังคาเรือน และได้รับผลกระทบทางอ้อม อีกกว่า 5,000 ครัวเรือน หลังจากการเจรจากับทางกระทรวงคมนาคมตลอดระยะเวลา 5 ปี ในช่วงที่ คสช. บริหารประเทศ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับทางชาวบ้าน และเรื่องพื้นที่รองรับในการสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ก็ยังไม่มีการจัดสรรให้ชาวบ้านแต่อย่างใด
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลจีน โดยจะเป็นการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงจากไทยถึงจีนได้ โดยโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะแรกเป็นสถานีบางซื่อ กรุงเทพ – นครราชสีมา ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 ส่วนช่วงที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย และช่วงที่ 3 คือจุดเชื่อมต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือในช่วงการก่อสร้างช่วงที่ 2 ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา – หนองคาย ต้องผ่านพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีชุมชนริมทางรถไฟที่ได้รับผลกระทบต้องถูกให้รื้อถอนบ้านเรือน และย้ายที่อยู่อาศัยออกจากริมทางรถไฟประมาณ 200 หลังคาเรือน และการเจรจากับทางกระทรวงคมนาคมตลอดระยะเวลา 5 ปี ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับทางชาวบ้าน และเรื่องพื้นที่รองรับในการสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ก็ยังไม่มีการจัดสรรให้ชาวบ้านแต่อย่างใด แต่โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงก็ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
โครงการพัฒนาเมือง ไล่ที่คนจนเพื่อเอาพื้นที่ไปพัฒนาเศรษฐกิจเมือง
นอกจากการพัฒนาด้านคมนาคมแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจเมืองให้ดีขึ้นก็เป็นอีกจุดมุ่งหมายหนึ่งของรัฐบาล คสช. แต่ผลกระทบกลับตกไปสู่คนจนในเมืองที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน หลายครอบครัวถูกไล่ที่เพียงเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่อาศัย อีกทั้งการไล่รื้อชุมชนเหล่านี้ รัฐยังไม่มีการจัดหาที่รองรับการอยู่อาศัยด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของคนในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ได้รับผลกระทบดังนี้
หนึ่ง โครงการเขตเศรษฐกิจย่านสถานีแม่น้ำ ในกรุงเทพมหานคร