ผู้สมัคร สว. 67 ควรเคลียร์หุ้นสื่อก่อนสมัคร เหตุแนววินิจฉัยถือหุ้นยังไม่ชัด 

วันที่ 28 มีนาคม 2567 กิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นการสมัครเป็นผู้มีสิทธิเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่แทนที่ชุดพิเศษที่กำลังหมดวาระลงในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ โดยมีประเด็นคำถามเช่น คุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครในแต่ละกลุ่มและรายละเอียดของผู้ที่จะมารับรองความเชี่ยวชาญ รวมทั้งประเด็นสำคัญที่ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนอย่างเรื่องการถือหุ้นสื่อมวลชน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ  มาตรา 14 (3) ระบุลักษณะต้องห้าม หนึ่งในนั้นคือ การเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ประธานกมธ. ถามในประเด็นดังกล่าวแบ่งเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง นิยามของการถือหุ้นสื่อหมายความโดยกว้างถึงการถือไม่ได้แม้แต่หุ้นเดียวหรือต้องถือหุ้นในปริมาณมากพอที่จะสามารถตีความได้ว่า ครอบงำควบคุมสื่อได้  และสอง กิจการที่จะถูกตีความว่า เข้าข่ายเป็นกิจการสื่อมวลชนจะต้องเป็นกิจการที่มีการทำภารกิจสื่อมวลชน ณ เวลานั้นอยู่จริงหรือว่าถ้าเป็นกิจการที่ไม่ได้มีการทำสื่อแต่ว่าในวัตถุประสงค์ของบริษัทได้มีการจดทะเบียนไว้เผื่อเป็นวัตถุประสงค์ที่อาจจะทำได้

กิตติพงษ์ตอบว่า อำนาจในการวินิจฉัยกรณีของการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นของผู้อำนวยการเลือกตั้งในแต่ละระดับ โดยจะเริ่มมาจากระดับอำเภอ ถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งเห็นว่า ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามก็รับสมัครได้ หากมีผู้ร้องคัดค้านกระบวนการจะส่งตรงไปที่ศาลฎีกาทั้งหมดไม่ได้เหมือนที่ผ่านมาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะพิจารณาหรือวินิจฉัยก่อน ซึ่งส่วนนี้จะมีความแตกต่างกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และการเลือกตั้งท้องถิ่น 

โดยกิตติพงษ์กล่าวสรุปแนวทางการพิจารณาว่า “ยังคงเป็นประเด็นในส่วนดุลพินิจของผู้อำนวยการเลือกจะยึดแนวในส่วนกรณีของที่ศาลฎีกาเคยมีแนววินิจฉัยไว้ไหม หรือว่าจะยึดแนวของศาลรัฐธรรมนูญอันนี้ก็เป็นประเด็นอยู่เหมือนกันแต่สุดท้ายก็ต้องไปจบอยู่ที่ศาลฎีกา”

พริษฐ์ถามว่า พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการวางแนวทางให้ชัดเจนเรื่องลักษณะต้องห้าม เนื่องจากปัจจุบันมีแนววินิจฉัยที่แตกต่างกัน

 “ส่วนของสำนักงานฯ [สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง] ก็มีการพูดคุยในเรื่องของประเด็นนี้อยู่ว่าในส่วนของแนวทางจะเป็นอย่างไรเพื่อให้แต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอได้ใช้เป็นแนวทาง แต่ก็เป็นเพียงแนวทางเท่านั้นเพราะว่าในเรื่องของอำนาจในเรื่องของการที่จะรับสมัครหรือไม่รับสมัครยังเป็นอำนาจของผู้อำนวยการเลือกอยู่ตามกฎหมาย แต่เราก็พยายามที่จะวางหลักวางแนวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตอนนี้อยู่ในชั้นของสำนักงานฯ ที่จะพิจารณาในเรื่องพวกนี้ก็ถือว่าเป็นประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมายแล้วก็ในเรื่องของการปฏิบัติจริงๆ”

ย้อนดูวินิจฉัยคดีหุ้นสื่อแนวศาลฎีกา-รธน.ไม่ชัดยังขัดกันในสาระสำคัญ

สำหรับแนวการวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อมวลชนที่ยังมีข้อโต้แย้ง เช่น สัดส่วนหุ้นสื่อมวลชน ในคำวินิจฉัยช่วงแรกหลังการเลือกตั้ง 2562 ศาลฎีกาให้น้ำหนักที่การจดทะเบียนตั้งบริษัทว่า มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับสื่อมวลชนหรือไม่เท่านั้น หลังการเลือกตั้ง 2566 แนววินิจฉัยเกี่ยวกับคดีหุ้นสื่อมีความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น ศาลฎีกาไม่ได้มองเพียงการถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ให้น้ำหนักเรื่องสัดส่วนของหุ้นที่มีปริมาณมากน้อยเพียงพอให้มีอำนาจสั่งการให้เกิดคุณต่อบุคคลและพรรคการเมืองที่ตนสังกัดหรือโทษต่อบุคคลหรือพรรคการเมืองตรงข้ามได้จริงหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมองต่าง โดยยังมองว่า กฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงสัดส่วนหุ้นมากน้อยหรือความสามารถในการครอบงำสั่งการ ดังนั้นเพียงแค่ถือหุ้นสื่อแม้เพียงหุ้นเดียวก็ถือว่า มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว

ศาลฎีกา

ถอนชื่อผู้สมัครอนาคตใหม่เหตุบริษัทก่อสร้างมีวัตถุประสงค์ทำสื่อด้วย

วันที่ 19 มีนาคม 2562 ศาลฎีกามีคำสั่งถอนชื่อภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครสส. เขต 2 จังหวัดสกลนครของพรรคอนาคตใหม่ออกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตดังกล่าว เหตุสืบเนื่องมาจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนครประกาศรายชื่อภูเบศวร์เป็นผู้สมัคร แต่มาตรวจสอบพบว่า ภูเบศวร์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ จึงขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 และพ.ร.ป.สส. 2561 ภูเบศวร์แย้งว่า บริษัทดังกล่าวประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย “ที่ระบุในวัตถุประสงค์ข้อที่ 43 ว่า ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอร์ตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล เป็นเพียงแบบวัตถุประสงค์สำเร็จรูปแนบคำขอจดทะเบียนเท่านั้น อีกทั้งห้างดังกล่าวได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2562”

ในคำสั่งระบุโดยสรุปว่า เมื่อภูเบศวร์เป็นผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนดังกล่าวและมีวัตถุประสงค์ในการทำงานสื่อ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้งสส. ไม่รับฟังข้อโต้แย้งเรื่องห้างหุ้นส่วนดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ข้อ 43 รวมทั้งการจดทะเบียนยกเลิกห้างหุ้นส่วนยังเกิดขึ้นหลังจากยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสส. จึงถือว่า ภูเบศวร์มีลักษณะต้องห้ามรับสมัครในวันที่ยื่นใบสมัคร ให้ถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อรับสมัครสส. เขต 2 จังหวัดสกลนคร

คืนสิทธิผู้สมัครสส.เหตุถือหุ้นน้อยไม่มีอำนาจสั่งการ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกาพิพากษาคืนสิทธิผู้สมัครสส.ให้แก่ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครสส. เขต 2 จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากผู้อำนวยการเลือกตั้ง เขต 2 นครนายก ใช้ดุลพินิจตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ของเขา สืบเนื่องมาจากชาญชัยถือหุ้นจำนวน 200 หุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนโดยอ้อมเพราะมีบริษัทย่อยที่ประกอบกิจการเสนอและบริการธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ขัดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 42(3) 

ศาลฎีกามีคำสั่งโดยสรุปว่า บริษัทย่อยทั้งสองที่เป็นเหตุในคดีนี้ประกอบกิจการสื่อ และเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของเอไอเอส มีอำนาจควบคุมการดำเนินการของบริษัททั้งสอง เมื่อพิจารณานิยามว่าด้วยบริษัทย่อยและการควบคุมกิจการตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ถือว่า เอไอเอสมีอำนาจในการควบคุมกิจการในบริษัทย่อยทางอ้อมที่เป็นสื่อด้วยจึงถือว่า เอไอเอสอยู่ในความหมายของสื่อมวลชนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามศาลพิจารณาในเรื่องอำนาจสั่งการของชาญชัยประกอบด้วย มองว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับลักษณะต้องห้ามสมัครสส. เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องตีความโดยเคร่งครัด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชาญชัยถือหุ้น 200 หุ้นจากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด 2,973,925,791 หุ้น โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดเพียง 39,000 บาท ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก 

“ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่นเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้ เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นในจำนวนมากพอที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพียง ๒๐๐ หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

คำสั่งศาลฎีกาที่ ลต สสข ๒๔/๒๕๖๖

ศาลรัฐธรรมนูญ

ธนาธรพ้นสส. แม้วี-ลัค มีเดียหยุดกิจการแล้ว

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่พ้นจากความเป็น สส. เหตุสืบเนื่องมาจากกรณีหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ธนาธรระบุว่า บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จดแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวในเดือนมกราคม 2562 และมีการโอนหุ้นให้แก่มารดาแล้วในเดือนเดียวกันโดยไม่ได้กลับมาประกอบกิจการอีกเลย หลังจากนั้นจึงมีการยื่นสมัครรับเลือก สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่

ในคำวินิจฉัยศาลระบุว่า ในวันที่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.ธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซึ่งประกอบกิจกรรมสื่อมวลชนอยู่ในวันดังกล่าว ไม่ได้มีการแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ฯ ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 แม้จะอ้างว่า หยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว แต่ก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและแจ้งยกเลิกการเป็นผู้พิมพ์ฯ ดังนั้นถือว่า ยังเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับ สส. ในประเด็นเรื่องการโอนหุ้นให้มารดาก่อนหน้าการลงสมัคร ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังมีความเคลือบแคลง เช่น การไม่ปรากฏสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นหลังการโอนหุ้นเมื่อเทียบกับการส่งสำเนาครั้งก่อนๆ และการชำระค่าหุ้นที่ล่าช้ากว่าที่ผ่านมา จึงมองว่า ยังมีข้อพิรุธหลายประการพิจารณาว่า ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ธนาธารยังถือหุ้นวี-ลัคมีเดียอยู่

ธัญญ์วารินหลุดสส. เหตุถือหุ้นในบริษัทรับจ้างทำสื่อ

วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่พ้นจากความเป็นสส. เหตุสืบเนื่องมาจากประธานรัฐสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของสส.ฝ่ายค้านรวม 33 คน โดยในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยได้พิจารณาสมาชิกภาพของสส. 29 คนสืบเนื่องจากการพิจารณาหลักฐานขั้นต้นของวุฒินันท์ บุญชู พรรคอนาคตใหม่ที่ชัดเจนว่า ไม่ได้ถือหุ้นสื่อ และอีกสามคนที่สมาชิกภาพสส. หมดไปหลังจากคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ​2563 โดยมีเพียงธัญญ์วารินที่พ้นจากตำแหน่งสส.

ในคำวินิจฉัยระบุถึงการถือหุ้นของธัญญ์วารินในสองบริษัทได้แก่ บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัดและบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ศาลพิจารณาวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนบริษัทประกอบงบการเงิน บริษัทแรกศาลมองว่า จัดตั้งขึ้นประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตเช่น รายการทีวีและสารคดี และรับจ้างถ่ายโฆษณาและถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสื่อกลางในการนำเนื้อหาไปสู่มวลชนให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ถือเป็นการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน ต้องห้ามตามมาตรา 98(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ขณะบริษัทแอมฟายน์ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตเช่น สื่อภาพยนตร์ โฆษณา และสื่อการแสดง และประสานงานการถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ถือเป็นกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นการถือหุ้นในวันสมัครรับเลือกตั้งสส. ศาลมองว่า ข้อโต้แย้งเรื่องการโอนหุ้นไปให้แก่บุคคลอื่นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งนั้นมีข้อพิรุธ เห็นว่า ในวันดังกล่าวธัญญ์วารินยังถือหุ้นสื่ออยู่ สำหรับสส. อีก 28 คน ศาลวินิจฉัยว่า ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ 

ภาดาท์นั่งสส.ต่อ จดทะเบียนทำโฆษณาแต่ไม่มีรายได้จริง

วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ภาดาท์ วรกานนท์ สส.พรรคพลังประชารัฐไม่พ้นจากตำแหน่งสส. เหตุสืบเนื่องมาจากประธานรัฐสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของสส.ฝ่ายรัฐบาล 41 คน คดีนี้ศาลไม่รับคำร้อง 9 คนและสมาชิกภาพสิ้นสุดลง 3 คนจากคดีถึงที่สุดที่มีโทษจำคุกและการลาออกจากตำแหน่ง เหลือผู้ถูกร้องให้พิจารณาเรื่องการถือหุ้นสื่อมวลชนรวม 29 คน เช่น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ สุชาติ ชมกลิ่นและภาดาท์ วรกานนท์ ประเด็นหลักในคำวินิจฉัยนี้คือ บริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัดของภาดาท์

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทมีวัตถุประสงค์ เช่นการบริการ และรับทำโฆษณาและให้บริการโฆษณาตามสื่อต่างๆ ภาดาท์ชี้แจงว่า บริษัทประกอบกิจการจัดฝึกอบรมค่ายเยาวชนและ “ยังมิได้ประกอบกิจการและมีรายได้จากกิจการบริการรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์และการโฆษณาตามสื่อต่างๆที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทไม่มีผู้ว่าจ้างให้ประกอบกิจการดังกล่าว” ศาลรับฟังข้อเท็จจริงประกอบหลักฐานทางบัญชีระบุว่า บริษัทตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการบริการและรับทำโฆษณา และการฝึกอบรม รายได้ในปี 2560 เป็นรายได้ที่มาจากการฝึกอบรม และงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนถึงวันที่จดทะเบียนเลิกบริษัทในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ไม่มีรายได้จากการให้บริการ จึงฟังได้ว่า บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ 

พิธารอดถือหุ้นไอทีวีจริงแต่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว

วันที่ 24 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลถือหุ้นไอทีวีว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. พิธาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน พิธาจึงไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) สมาชิกภาพ สส. ของพิธาจึงไม่สิ้นสุดลง คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสภาพจริงของการประกอบกิจการ คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ไอทีวีมีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับการทำงานสื่อมวลชน และเอกสารที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเดือนพฤษภาคม 2566ระบุประเภทธุรกิจคือ สื่อโทรทัศน์  ศาลเห็นว่า 

“การพิจารณาว่านิติบุคคลใดเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิติบุคคลที่จดทะเบียนหรือจดแจ้งไว้เป็นทางการเพียงอย่างเดียวแต่จะพิจารณาควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการของนิติบุคคลนั้นด้วยว่ามีการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นหรือไม่”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2567

โดยสรุปศาลเห็นว่า ไอทีวีตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสื่อมวลชนแต่หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2550 และไม่มีคลื่นความถี่ในการประกอบกิจการ ไม่มีรายได้จากกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ในกรณีที่ชนะคดีในศาลปกครองสูงสุด บริษัทอาจดำเนินกิจการต่อไปได้ตามวัตถุประสงค์ที่ข้อใดข้อหนึ่งจากที่แจ้งไว้ 45 ข้อ แต่หากจะประกอบกิจการสื่อมวลชนจะต้องดำเนินการทำสัญญากับรัฐและขอใบอนุญาต ไม่สามารถประกอบกิจการได้ทันที นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่า ไอทีวีได้รับใบอนุญาตอื่นๆ เช่น ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2551 ดังนั้นในวันที่สมัครรับเลือกตั้งไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตามในคดีนี้มีข้อโต้แย้งอีกหนึ่งเรื่อง พิธายกคำสั่งศาลฎีกาในคดีของชาญชัย อิสระเสนารักษ์ที่ถือหุ้นในจำนวนน้อยมากและไม่มีอำนาจในการสั่งการ กรณีของเขาถือหุ้นไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.00348 ของหุ้นสามัญทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเช่นกัน ท้ายสุดศาลมองว่า มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มีพัฒนาการมาจากมาตรา 265 วรรคหนึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีคำวินิจฉัยคำวินิจฉัยก่อนหน้าที่ 12-14/2553 และ 7/2562 วางหลักไว้เรื่องการห้ามถือหุ้นในบริษัทต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุถึงจำนวนหุ้นและอำนาจในการครอบงำกิจการ ดังกล่าวทำให้การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวเป็นการถือหุ้นตามความหมายของมาตราดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 98(3)

“เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ เป็นบทบัญญัติที่มีพัฒนาการมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖๕ วรรคหนึ่ง โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒ – ๑๔/๒๕๕๓ และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๗/๒๕๖๒ วางหลักไว้ว่า รัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีช่องทางที่จะใช้หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในทางใดทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) จึงห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน โดยไม่ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓)”

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage