ปกป้องกระดูกสันหลักของชาติด้วย ร่าง พ.ร.บ.ข้าวชาวนาไทย

ในสังคมไทย ‘ข้าว’ คืออาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวได้ว่า ข้าว คือชีวิตและหน้าตาของประเทศ ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงมักได้ยินหรือถูกสั่งสอนให้เห็นถึงความสำคัญของข้าวอยู่เสมอ ซึ่งความสำคัญดังกล่าวพบตั้งแต่การกินจนถึงการส่งออกข้าว
แน่นอนว่า การให้ความสำคัญต่อข้าวย่อมหมายรวมถึงการให้ความสำคัญต่อชาวนาในฐานะผู้ผลิตข้าวด้วย อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญที่นามธรรม เช่น บทเพลง คำขวัญ ฯลฯ นั้น ดูจะเป็นเพียงวาทกรรมที่แห้งแล้งและไม่ได้ให้ความสำคัญต่อคุณค่าและศักดิ์ศรีของชาวนาอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มประชาชนชาวนา โดยนายภานุพงศ์ ภัทรคนงาม ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,898 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติข้าวชาวนาไทย พ.ศ. … เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ซึ่งเนื้อหาการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความน่าสนใจอยู่หลากประเด็น ดังนี้

เหตุผล ของร่างพระราชบัญญัติข้าวชาวนาไทย

แม้ประเทศไทยจะมีชาวนาอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ชาวนาไม่มีกฎหมายว่าด้วยชาวนาเพื่อรับรองและคุ้มครองในอาชีพตน ต่างกับอาชีพอื่นๆ ที่มีกฎหมายรับรอง เช่น ช้าราชการ ตำรวจ ทหาร แพทย์ ทนายความ ขณะที่ชาวนาเป็นอาชีพที่ไม่มีอำนาจต่อรองและถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางและรัฐบาล จนทำให้เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
ด้วยเหตุนี้เพื่อความมั่นคงในชีวิตและอาชีพชาวนา จึงจะต้องเพิ่มอำนาจและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ชาวนาควรจะได้โดยการตรา พ.ร.บ ข้าวชาวนาไทยขึ้นกำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนชาวนาไทย” หมวดที่ 1 มาตรา 5 กำหนด ให้จัดตั้งกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนธนาคารข้าวชาวนาไทย” (กธ.ขช.) ให้กองทุนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าว การขายข้าว การออมข้าว และการออมเงินของสมาชิก (2) เพื่อจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก เพื่อเป็นหลักประกันแก่ สมาชิกและบุคคลในครัวเรือนเมื่ออยู่ในวัยชราภาพหรือทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย (3) เพื่อจัดตั้งโรงสีข้าวกลางทุกอำเภอ
นอกจากนี้ มาตรา 11 ระบุว่า กองทุนไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน

การคุ้มครองชาวนาไทย

กฎหมายว่าด้วยข้าวชาวนาไทยนี้จะช่วยคุ้มครองชาวนาไทย ดังนี้
1) รัฐจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนในกองทุนชาวนา ด้วยการสมทบค่าธรรมธรรมเนียมซื้อขายข้าว
2) กองทุนช่วยจะเหลือชาวนาที่มีที่นาเป็นของตนเองแต่ไม่มีโฉนด และชาวนาที่มีอาชีพทำนาแต่ไม่มีที่นา จะต้องได้รับการดูแลให้มีที่นาเป็นของตนเอง โดยนำโฉนดที่
นา นส.3 ที่อยู่กับนายทุนและธนาคาร ธกส. มาใช้ให้เกิดประโยชน์
3) ชาวนาจะต้องเป็นผู้ขายข้าวให้กับพ่อค้าและกำหนดราคาเองได้ตามกลไกการผลิต
4) กองทุนจะช่วยจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีราคาย่อมเยาและทำให้ต้นทุนในการทำนาลดลง
5) กองทุนจะมาช่วยชาวนาในกรณีเจ็บป่วยหรือในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและต้องการความช่วยเหลือทุกกรณี
6) ให้เป็นเงินบำเหน็จบำนาญให้กับชาวนาที่เป็นสมาชิกหลักจากที่ไม่สามารถทำนาได้
7) ทำให้ลูกหลานสืบทอดอาชีพทำนาตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษและเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติข้าวชาวนาไทย พ.ศ. … ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143(2) ดังนั้น จึงต้องส่งร่างฉบับนี้ไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรองก่อน
ขอขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซด์รัฐสภา

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage