“อนามัยเจริญพันธุ์” แปลมาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่า Reproductive Health (RH) ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ตามนิยามของ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือ “ความพร้อมที่จะมีลูก” นั่นเอง
เรื่อง “อนามัยเจริญพันธุ์” ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสุขภาพเท่านั้น แต่มีแง่มุมด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับหญิงที่จะมีบุตรด้วย
ปัญหาการ “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ หรือ “ทำแท้ง” ที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกตามหลักวิชาชีพแพทย์ และไม่ปลอดภัย นำไปสู่การทอดทิ้งและทำร้ายทารกแรกคลอด การต้องออกจากสถาบันการศึกษาก่อนกำหนด โดยปัญหาเหล่านี้ป้องกันและแก้ไขได้ยากเพราะเรื่องเพศในสังคมไทยสัมพันธ์กับวัฒนธรรมความเชื่อบางประการ
ประชาชนกลุ่มหนึ่ง นำโดย มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาวะผู้หญิง (สคส.) จึงจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. …” ขึ้นเพื่อเตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 คนเสนอกฎหมาย โดยมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
“ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. …” มีหลักการน่าสนใจ ดังนี้
- คนทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการคุมกำเนิด การดูแลครรภ์ การคลอด การยุติการตั้งครรภ์ ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมทั้งการรักษาการมีบุตรยาก และโรคเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ต่างๆ (มาตรา 7)
- คนทุกคนมีสิทธิตัดสินใจเลือกเองว่าจะมีชีวิตคู่ หรือไม่ และมีสิทธิตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ จำนวนเท่าใด (คู่สมรส พ่อแม่ หรือบุคคลใดจะบังคับเรื่องการมีชีวิตคู่และการมีบุตรไม่ได้) (มาตรา 8)
- คนทุกคนมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เด็กและเยาวชนมีสิทธิได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องและเพียงพอ (มาตรา 9)
- คนทุกคนมีสิทธิที่จะปลอดภัยจากอันตรายจากขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับอนามัยการเจริญพันธุ์ (จะบังคับแต่งงาน หรือบังคับการมีเพศสัมพันธ์ หรือห้ามการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเหตุผลทางความเชื่อ ศาสนา หรือประเพณีไม่ได้) (มาตรา 10)
- ห้ามไม่ให้โน้มนาว ข่มขู่ บังคับ อันส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์พักการเรียน หรือต้องออกจากสถานศึกษา (มาตรา 15)
- ห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ปฏิเสธการจ้างงานเพราะเหตุตั้งครรภ์ (มาตรา 18)
- รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน ให้มีสิทธิเลือกเพศตนเองและสิทธิในการเลือกวิธีการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- รัฐมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ต้องจัดให้มีบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่มีมาตรฐาน (มาตรา 12)
- ต้องจัดให้มีระบบการศึกษาต่อเนื่องที่เหมาะสมกับนักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ (มาตรา 15)
- ต้องคุ้มครองสิทธิของคนที่มีเพศไม่ชัดเจน ต้องให้สิทธิตัดสินใจเลือกเพศได้ด้วยตนเอง และสิทธิในการเลือกวิธีการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 23)
- ฯลฯ
ขณะนี้ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. …” กำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2556
สามารถดาวน์โหลดสมุดแสดงความคิดเห็นเพื่อดูรายละเอียดร่างกฎหมายนี้และกรอกความคิดเห็นได้ตามไฟล์แนบ หรือทางออนไลน์ที่ http://thairhbill.wordpress.com
หรือพิมพ์สมุดรับความเห็น แล้วกรอกความเห็น ส่งไปยัง
“มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง
12/22 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900″
ไฟล์แนบ
- rh-law-note (425 kB)