ร่วมเสนอร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับผู้ใช้แรงงานเขียนเอง

กฎหมายแรงงานสัมพันธ์  เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติระหว่างฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงในเรื่องสิทธิหน้าที่ และผลประโยชน์ในการทำงานร่วมกันได้ด้วยความสัมพันธ์อันดี รวมถึงกำหนดวิธีการสำหรับระงับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้น

ขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานจะทำหน้าที่กำหนดสิทธิหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เหตุเลิกจ้าง อัตราค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง ค่าจ้างล่วงเวลา วันหยุด วันลา ฯลฯ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์จะกำหนดวิธีการจัดการความสัมพันธ์ เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงาน คณะกรรมการลูกจ้าง สมาคมนายจ้าง สมาพันธ์นายจ้าง การประชุมหารือระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกสร้างการต่อรองระหว่างฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างให้เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกัน

กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังทำหน้าที่กำหนดวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างสองฝ่าย เช่น วิธีการแจ้งข้อเรียกร้อง สิทธิของนายจ้างที่จะปิดงาน และสิทธิของลูกจ้างที่จะนัดหยุดงาน นอกจากนี้ยังกำหนดตัวคนกลางที่จะเข้ามาช่วยระงับข้อพิพาท เช่น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น

ฝ่ายผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ได้และเสียประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายนี้ เห็นว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2518 ไม่มีการแก้ไขปรับปรุงให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบการจ้างงานในปัจจุบัน ทำให้กฎหมายมีช่องว่างที่เปิดโอกาสให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสหภาพแรงงาน

ที่มาภาพ voicelabour

คณะทำงานขับเคลื่อนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับปฏิรูป ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สหพันธ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และนักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน ได้ยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับของผู้ใช้แรงงานออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยยึดหลักการสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

1. สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2. กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน

3. เปลี่ยนกรอบคิดแรงงานสัมพันธ์ จากความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ไปสู่ “ หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ”

4. มุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม

5. ส่งเสริมพัฒนา คุ้มครองระบบแรงงานสัมพันธ์

ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับของผู้ใช้แรงงาน มีหลักการสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับปัจจุบัน เช่น

1. กำหนดนิยามของ “นายจ้าง” ให้ครอบคลุมนายจ้างที่รับช่วงมาจากเจ้าของงานอีกทีหนึ่ง ให้ทำหน้าที่จ่ายค่าจ้างหรือจัดหาลูกจ้าง และ รวมถึงผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของด้วย (ผู้ที่จ้างเหมาแบบจ่ายค่าตอบแทนตามชิ้นงาน) ส่วนคำนิยามของ “ลูกจ้าง” ก็ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ และผู้รับจ้างทำของด้วย (มาตรา 4วรรคหนึ่งและวรรคสอง) 

2. กำหนดห้ามนายจ้างไล่ออก หรือโยกย้าย ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง โดยไม่อาจอ้างได้ว่าลูกจ้างทุจริต หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือขาดงานเกินสามวัน โดยกำหนดให้นายจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้นจึงจะสามารถทำได้ (มาตรา 28) 

3. ให้สิทธิลูกจ้างที่นัดหยุดงาน หรือถูกนายจ้างสั่งปิดงานสามารถชุมนุมและใช้บริการพื้นฐานในสถานประกอบการได้ และห้ามนายจ้างรับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานแทนลูกจ้างที่นัดหยุดงานหรือถูกปิดงานนั้น (มาตรา 31) 

4. ในกรณีของกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค เช่น โทรศัพท์ การประปา การไฟฟ้า ฯลฯ หรือกิจการอื่นที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือกรณีที่รัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกหรือภาวะฉุกเฉิน ให้ยกเลิกวิธีการพิเศษในการระงับข้อพิพาทแรงงาน ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการเดียวกับกิจการประเภทอื่น โดยมีข้อยกเว้นว่ากิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคหากลูกจ้างจะนัดหยุดงานต้องแจ้งให้สาธารณชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน (มาตรา 32)

5. ยกเลิกอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่จะสั่งห้ามลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง หรือห้ามนายจ้างเพิ่มค่าจ้าง เมื่อประเทศเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และยกเลิกอำนาจในการสั่งให้ลูกจ้างที่หยุดงานกลับเข้าทำงานต่อ หรือจัดหาบุคคลอื่นทำงานแทนลูกจ้าง เมื่อเห็นว่าการนัดหยุดงานนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน (ยกเลิกมาตรา 33, 35 เดิม)

6. เพิ่มหมวดการส่งเสริมและคุ้มครองสหภาพแรงงานเข้ามา กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้าง โยกย้าย เปลี่ยนตำแหน่ง ไม่มอบหมายงานให้ทำ หรือลงโทษ กรรมการสหภาพแรงงาน ห้ามนายจ้างให้เงินหรือทรัพย์สินแต่กรรมการสหภาพแรงงานเป็นพิเศษ และห้ามนายจ้างเลือกปฏิบัติระหว่างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกับลูกจ้างอื่น (มาตรา 108-110)

ฯลฯ

           
           สำหรับผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับผู้ใช้แรงงาน สามารถทำได้ดังนี้
           1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ข.ก.1 ตามไฟล์แนบ
           2. กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แนบสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง
           3. ส่งเอกสารทั้งหมดมาที่ สำนักงานประสานงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 503/20 ถนนนิคมรถไฟ มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์/โทรสาร 02-251-317 
 
 
 
 
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage