ขอแรงคนรักสัตว์ 10,000 ชื่อ ดันต่อ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ

ข่าวการจับสุนัขนับพันตัวเตรียมส่งขายภัตตาคารในต่างประเทศสร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคนรักสุนัขที่มองเห็นสัตว์เลี้ยงชนิดนี้เป็นมากกว่าสัตว์ แต่เป็นเพื่อนหรือสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเลยทีเดียว

เมื่อเปิดกฎหมายปัจจุบันดูว่าจะมีมาตราไหนคุ้มครองสัตว์เลี้ยงแสนรักได้บ้าง เนื่องจากสัตว์ไม่ใช่คน จะหาสิทธิ ‘มนุษย’ ชนก็ไม่มี คงเหลือเพียงกฎหมายอาญา มาตรา 381 ที่ว่า

    มาตรา 381 ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้ รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากจะมีบทลงโทษน้อยนิดแล้ว ความชัดเจนว่ากรณีไหนจะเรียกว่าคือ “กระทำการทารุณ” ก็ไม่ได้เขียนไว้ อาจตีความได้ว่า แม้ไม่ได้ลงมือทำร้าย แต่เลี้ยงดูแบบทิ้งๆ ขว้างๆ หรือกระทั่งฆ่าสัตว์เลี้ยงกฎหมายก็อาจไม่ได้ครอบคลุมถึง ยิ่งการฆ่าสัตว์เลี้ยงมากินเป็นอาหารนั้นกระทบกับความรู้สึกของคนรักสัตว์ แต่กฎหมายก็ไม่ได้เอาผิดอะไร นอกจากนี้เจ้าของที่ชอบเอาสัตว์ไปปล่อยตามที่สาธารณะต่างๆ นอกจากจะไม่เห็นแก่สัตว์แล้วยังสร้างภาระให้กับสังคมเพิ่มเติมก็ไม่มีกฎหมายที่ไหนมาจัดการดูแล

คนมีความรู้สึก สัตว์ก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับคน และย่อมไม่อยากถูกทำร้ายหรือทรมาน สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ร่วมกับสภาทนายความ และเครือข่ายอีก 32 องค์กรพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 โดยจัดกิจกรรมประชุมระดมความเห็นเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … ขึ้นและเปิดตัวร่างในวันที่ 18 สิงหาคม 2549 จากนั้นก็เปิดให้ประชาชนคนรักสัตว์มาเข้าชื่อกันให้ครบ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา

ขณะที่การรวบรวมรายชื่อยังไม่เสร็จสมบูรณ์ กรมปศุสัตว์เองก็กำลังจัดทำร่างกฎหมายฉบับเดียวกันที่มีเนื้อหาคล้ายกันอยู่ด้วย ทางฝ่ายภาคประชาชนกับภาครัฐจึงประชุมร่วมกันและนำหลักการร่างกฎหมายของทั้งสองฉบับมารวมเป็นร่างเดียวเพื่อผลักดันต่อ และสามารถนำร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … ฉบับร่วมกันเข้าสู่วาระของรัฐสภาได้สำเร็จผ่านทางคณะรัฐมนตรี

แต่เนื่องจากนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … ยังไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในสภา ร่างกฎหมายจึงต้องตกไปพร้อมกับการยุบสภาด้วย และรัฐบาลใหม่ภายใต้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรขึ้นมารับตำแหน่ง ก็ไม่ได้ร้องขอให้รัฐสภานำร่างพ.ร.บ.นี้กลับมาพิจารณาต่อ ทำให้ความตั้งใจที่จะมีกฎหมายคุ้มครองและจัดสวัสดิภาพของสัตว์จึงยังไม่อาจเกิดขึ้นได้

แม้ว่าในกระบวนการผลักดันกฎหมายจะเหมือนกับถูกผลักให้ประชาชนต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ตั้งแต่แรก แต่ก็ยังไม่ถึงกับเริ่มนับหนึ่งใหม่เสียทีเดียว เพราะตัวร่างกฎหมายซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็น ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นมีอยู่แล้ว และรายชื่อของประชาชนที่เคยเข้าชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ก็มีอยู่ประมาณแปดพันรายชื่อได้แล้ว หากตั้งต้นจากจุดนี้เหลือเพียงการสนับสนุนจากประชาชนอีกเพียงสองพันรายชื่อ ก็จะสามารถส่งร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิสัตว์ฉบับแรกของประเทศไทยกลับเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาได้อีกครั้ง

ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … (ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขแล้ว) มีหลักการดังนี้

  • กำหนดให้การกระทำอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
  • กำหนดลักษณะของการทารุณกรรมสัตว์ที่เป็นความผิดให้ชัดเจน โดยไม่รวมการฆ่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหาร การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาด การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมทางศาสนา การจัดให้สัตว์ต่อสู้กันตามประเพณีของท้องถิ่น
  • กรณีที่สัตว์ตกอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทรมาน และสัตวแพทย์เห็นว่าถ้าให้มีชีวิตอยู่ต่อไปจะได้รับความทุกข์ทรมาน เจ้าหน้าที่จะสั่งให้ฆ่าสัตว์นั้นได้ โดยที่เจ้าของสัตว์นั้นต้องยินยอม (Mercy Kill)
  • ห้ามเจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือทำการใดให้สัตว์พ้นจากความดูแลของตน เว้นแต่มอบให้คนอื่นที่ประสงค์จะดูแลแทน ผู้ใดฝ่าฝืน ละทิ้งสัตว์ มีโทษปรับสองหมื่นบาท
  • หากพบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสม
  • กำหนดให้เจ้าของสัตว์มีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิภาพให้สัตว์เลี้ยงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามแต่ชนิด และลักษณะของสัตว์นั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของการคุ้มครองสัตว์ เพราะไม่ได้มุ่งที่จะลงโทษผู้ที่ทรมานสัตว์เท่านั้น แต่คุ้มครองให้สัตว์ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในทุกด้านด้วย

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับองค์กรสิทธิสัตว์ 32 องค์กรจึงอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อคนรักสัตว์มาช่วยกันลงชื่อกันให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … กลับเข้าไปในรัฐสภาอีกครั้ง และเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิสัตว์ฉบับแรกของประเทศไทยต่อไปให้ได้

สำหรับท่านที่สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. … โดย

1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ข.ก.1 ตามไฟล์แนบด้านบน และกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน

2. ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

3. ส่งเอกสารทั้งหมดมาที่ ตู้ ปณ.55 ปณฝ.สุทธิสาร กรุงเทพฯ 10321

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และ เว็บไซต์ล้านนาด็อก

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage