ลงชื่อ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

คณะนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, สาวตรี สุขศรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, จันทจิรา เอี่ยมยุรา เคยแถลงข้อเสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112

หลังจากปล่อยเวลาให้สังคมได้ร่วมกันถกเถียงเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวอยู่เกือบหนึ่งปีเต็ม สถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ก็กลับทวีความรุนแรง และเป็นที่สนใจของสังคมมากขึ้นทุกขณะ กล่าวได้ว่า มาตรา 112 กลายเป็น กฎหมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากถึงที่สุดมาตราหนึ่งในยุคสมัยนี้ จนอาจะบานปลายไปสู่การถกเถียงที่สร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในสังคมก็เป็นได้

กลุ่มนักวิชาการ นักเขียน และนักกิจกรรมหลายกลุ่ม จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็น คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ขึ้นเพื่อนำข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ชุดดังกล่าว มารณรงค์โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ให้ประชาชนเข้าชื่อกันให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา โดยเชื่อว่าเป็นช่องทางที่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์เสนอ มีสาระสำคัญ 7 ประเด็น ดังนี้

1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร  

2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นคนละมาตรากับการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปี โดยแยกระหว่างการหมิ่นประมาททั่วไปกับการหมิ่นประมาทที่เป็นการโฆษณาออกจากกัน

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น

ผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ทั้ง 7 ข้อ สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยวิธีการดังนี้ 

1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มข.ก.1 ตามไฟล์แนบด้านบน และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน 

2. ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 

3. ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง ตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 

คำแนะนำในการกรอบแบบฟอร์ม 

1. ต้องมีทั้งนำสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน 

2. ลายเซ็นต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งในสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน กับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑) 

3. ในส่วนบนของหนังสือที่เขียนว่า “เขียนที่” นั้น ให้เขียนที่อยู่ สถานที่ไหนก็ได้ที่ท่านกรอกแบบฟอร์ม

4. ใน ข้อ 5 ของ แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่และลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย (แบบ ข.ก.๑) ที่เขียนว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในช่องว่าง “พ.ศ. …” และ “(ฉบับที่…)”ไม่ต้องกรอกข้อความใดๆ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage