ร่างพ.ร.บ.แก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

16 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพียงแค่ร้อยละ 6-11

แม้จะไม่มีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงในการลงเลือกตั้ง แต่ก็พบว่าสนามการเมืองระดับท้องถิ่นมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ขณะที่หลายกลุ่มเชื่อว่า การมีตัวแทนชุมชนที่มีความหลากหลายของเพศจะช่วยสะท้อนปัญหาและความต้องการได้หลากหลายกว่า

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาและหลากองค์กรภาคประชาชน จึงเริ่มดำเนินกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสมอภาคของหญิงและชายมาตั้งแต่ปี 2538 โดยรณรงค์ให้มีการ “กำหนดสัดส่วน” ของสมาชิกอบต. เพื่อให้ผู้นำหญิงในระดับท้องถิ่นมีความกล้าและสนใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีข้อห้ามให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมือง แต่ยังไม่ได้หมายถึงความเสมอภาคและเท่าเทียม เพราะวัฒนธรรมไทยยังเห็นว่า เรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง ผู้หญิงคิดมาก ไม่อยากใช้เงินเพื่อลงแข่งขันหาเสียงเลือกตั้ง และอีกหลากหลายทัศนะที่ทำให้ผู้หญิงมีข้อเสียเปรียบทางการเมือง

ประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงบอกว่า การให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน มิได้ส่งผลที่เท่าเทียมกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การหาแนวทางเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เสมอภาค หาวิธีสร้างโอกาสที่ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้หญิงในเวทีการเมืองท้องถิ่น และเริ่มเกิดแนวคิดเรื่อง “การกำหนดสัดส่วน” ขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

ที่มาภาพ ชัย ราชวัตร

การกำหนดสัดส่วนในที่นี้คือ ให้ระบุชัดลงไปในกฎหมายเลยว่า ตำแหน่งนั้นๆ จะต้องมีจำนวนผู้หญิงและผู้ชายอย่างละเท่าไร อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้มีทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้าน โดยระดับที่พอยอมรับได้ร่วมกันคือ กำหนดสัดส่วนให้มีเพศหนึ่งไม่เกินสองในสาม

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรที่ร่วมรณรงค์แก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 45 โดยระบุว่า หากจำนวนสมาชิกอบต.ในหมู่บ้านนั้นๆ เป็นเลขคู่ ก็ให้กำหนดสัดส่วนหญิงชายอย่างละเท่าๆ กัน แต่หากจำนวนสมาชิกเป็นเลขคี่ ก็ให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งไม่เกินสองในสาม

    “มาตรา 45  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละสองคน เป็นหญิงหนึ่งคนและชายหนึ่งคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น
    ในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้าน ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน เป็นหญิงสามคนและชายสามคน และในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงสองหมู่บ้าน ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละสามคน เป็นเพศใดเพศหนึ่งไม่เกินสองคน”

ทั้งนี้ การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน เคยพยายามรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ครบ 50,000 ชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนกระทั่งรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไป และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ทางเครือข่ายนำโดย นางสุธีรา วิจิตรานนท์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยบทบาทชายหญิงและการพัฒนา ก็ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ด้วยรายชื่อประชาชนทั้งสิ้น 44,015 ชื่อ และอยู่ระหว่างเข้าคิวรอเข้าสู่วาระที่หนึ่งของสภามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2551

ไฟล์แนบ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage