ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ต้องรออีกนานแค่ไหน

“ไม่มีผู้บริโภคคนไหนไม่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ”  ตั้งแต่การซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงของชิ้นใหญ่ๆ อย่างซื้อบ้านซื้อรถ ไม่ว่านานเท่าไร ความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการไทยยังเป็นปัญหาอยู่คู่กับตลาดซื้อขายสินค้าและผู้บริโภค จนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม 

รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 กำหนดให้มีองค์การอิสระผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย และกำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เปิดโอกาสให้กับผู้บริโภคมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของตนเอง  กลไกดังกล่าวถือเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้บริโภค เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

สิบกว่าปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี กฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาเป็นฉบับ พ.ศ.2550 ในปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ได้ระบุรับรองการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไว้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น ตลอดจนกำหนดว่า 

“ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย”

และภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ นอกจากภาครัฐจะมีความพยายามในการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคแล้ว ภาคประชาชนยังกระตือรือร้นเข้าชื่อกันได้ถึง 12,208 รายชื่อ และยื่นร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคไปให้รัฐสภาพิจารณา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552

 

องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคที่จะจัดตั้งขึ้นตามร่างกฎหมายฉบับประชาชน มีบทบาทหน้าสำคัญ ดังนี้ 

(๑) ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

(๒) ตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน 

(๓) ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้

(๔) สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

(๕) ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม 

(๖)สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภคดังกล่าว ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชน

ขณะที่ภาคประชาชนเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคของประชาชนเอง ภาครัฐก็กำลังขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในฉบับของภาครัฐ และร่างฉบับของภาครัฐนั้นผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓ วาระในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว แต่มีการยุบสภาไปก่อน ร่างกฎหมายนี้จึงยังค้างอยู่ในสภา

ทั้งนี้ร่างฉบับของภาครัฐยังมีเนื้อหาหลายส่วนที่น่าสังสัยว่า อาจไม่สามารถสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่น การให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายอาจทำให้องค์การอิสระที่จัดตั้งขึ้นไม่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ

ขณะที่ตามร่างฉบับของภาครัฐไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคในการทำงานเชิงรุก เช่น การฟ้องคดีแทนผู้บริโภค หรือเสนอความเห็นให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและกำหนดไว้ในร่างฉบับของภาคประชาชน

หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภคได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage