มาตรา 37 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน โดยที่ได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ และสาระสำคัญในมาตรา 30 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ระบุว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
เชื่อมโยงกับพุทธบัญญัติครั้งพุทธกาล ที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้สตรีบวชเป็นภิกษุณี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความคลุมเครือในถ้อยความตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่มิได้รับรองสถานภาพของภิกษุณีไว้อย่างชัดเจน เป็นที่มาของประเด็นสำคัญที่ว่า ภิกษุณีมีได้หรือไม่ และหากมีภิกษุณีแล้วสังคมไทยจะได้อะไร
เมิ่อวันที่ 29 ก.ค. 54 เครือข่ายพุทธบริษัทสี่ ร่วมกับเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม เครือข่ายส่งเสริมสถานภาพทางกฏหมายของภิกษุณีสงฆ์สายศรีลังกาเพื่อเติมเต็มพุทธบริษัทสี่ และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง จึงจัดเสวนาขึ้นในหัวข้อ “สังคมไทยจะได้หรือเสียอะไร หากมีภิกษุณีสงฆ์” ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมเสวนาคือ ภิกษุดุษฎี เมธงฺกุโร จากวัดทุ่งไผ่ ภิกษุณีธัมมนันทา จากวัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล นักวิชาการด้านสตรีศึกษา ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสมพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มาภาพ gaelx
ภิกษุณีธัมมนันทา กล่าวถึงประเด็น “ผู้หญิงสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้หรือไม่” ว่า พระพุทธองค์ไม่ได้มีข้อบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้หญิงบวช เป็นเพียงผลจากการตีความของประวัติศาสตร์ ในครั้งพุทธกาลเมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งจะออกบวช เขินอายต่อการตอบคำถามในขั้นตอนอันตรายิกธรรมที่ถามถึงเครื่องเพศของผู้หญิง ทำให้ไม่ยอมตอบอันตรายิกธรรมจึงบวชให้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติให้มีภิกษุณีก่อน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความเขินอายขั้นตอนดังกล่าวหากผู้หญิงจะถามตอบกันเอง นำไปสู่การมีสงฆ์สองฝ่าย (ภิกษุและภิกษุณี) ในการบวชภิกษุณี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหรือที่จริงแล้วไม่จำเป็น แต่เมืองไทยนำข้อบัญญัติสงฆ์สองฝ่ายนี้มาตีความไม่ให้มีการบวชภิกษุณี
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ชี้ว่า จากผลสำรวจด้านสุขภาพ ผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย ขณะที่เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างการอยู่อย่างมีความสุขกับช่วงอายุ ผู้หญิงมีช่วงอายุที่มีความสุขสั้นกว่าผู้ชาย โดยสาเหตุผูกโยงอยู่กับความคาดหวังของสังคมต่อผู้หญิงซึ่งมีสาเหตุทั้งจากสรีระที่บอบบางของผู้หญิงเอง ทั้งจากลักษณะของการมอบบทบาทหน้าที่ของแม่หรือภรรยาให้แก่ผู้หญิง นำไปสู่ความรู้สึกกดดันต่อความคาดหวังว่าผู้หญิงต้องแต่งงานมีครอบครัว นอกจากนั้นแล้ว ผู้หญิงยังถูกจำกัดในการเข้าถึงธรรมะ ในลักษณะที่ถูกห้ามบวชเป็นภิกษุณี หรือการไร้สถานะทางกฏหมายในฐานะภิกษุณี
รศ.ดร.วิลาสินีเชื่อว่า ปัญหาต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการท้องไม่พร้อมของเด็กหญิง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือความเปราะบางอื่นๆ เป็นต้นว่า ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ อันเป็นผลจากความอ่อนแอทางศีลธรรม ย่อมได้รับการเยียวยาหากมีภิกษุณีสงฆ์มาช่วยเป็นอีกสถาบันหนึ่งในการโอบอุ้มดูแลความเปราะบางเหล่านั้น โดยทางออกที่ดีคือการรองรับสถานภาพของภิกษุณีให้เป็นสถาบันที่ชัดเจนในกฏหมายเสียก่อน
มากไปกว่านั้น การมีภิกษุณีช่วยเปิดโอกาสในการเข้าถึงของผู้หญิง โดยเฉพาะสุขภาวะทางปัญญา ช่วยสร้างอัตลักษณ์แบบผู้หญิงให้ชัดเจนขึ้น ช่วยสร้างคุณค่าของผู้หญิงในลักษณะที่ผู้หญิงมีความตระหนักในค่าของตัวเอง ช่วยยืนยันความสามารถในการพึ่งตัวเองของผู้หญิง นำไปสู่การมีพื้นที่เข้าถึงสุขภาวะทางจิตที่กว้างขึ้น เกิดการพัฒนาอำนาจภายใน ท้ายสุดคือความเชื่อมั่นต่อสังคม
ด้าน ภิกษุดุษฎี เมธงฺกุโร มีข้อเสนอแนะต่อประเด็นภิกษุณีไว้ว่า หากจะให้มีภิกษุณีในประเทศไทย ภิกษุควรพัฒนาความคิดของตัวเองให้ตระหนักว่าไม่เหนือกว่าผู้หญิง ขณะที่ตัวภิกษุณีเองก็ไม่ควรทำตัวเหนือกว่าแม่ชีหรืออุบาสิกา เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องนี้อยู่มาก นอกจากนั้นแล้วควรมีการแยกลักษณะภายนอกของภิกษุกับภิกษุณีให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการอาบัติ เนื่องจากภิกษุอาจเข้าใจผิดคิดว่าภิกษุณีเป็นภิกษุได้เพราะห่มจีวรสีเดียวกันและปลงผมปลงคิ้วเหมือนกัน การแก้ปัญหาดังกล่าวมีตัวอย่างในเวียดนามที่ให้ภิกษุณีใส่หมวกเพื่อแยกเพศ
นอกจากนี้ รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสมพันธุ์ ผู้ดำเนินรายการได้ชี้ไว้ตอนท้ายว่า การรองรับสถานภาพของภิกษุณีในกฏหมายช่วยให้ผู้หญิงยกระดับการมีสิทธิเสรีภาพที่มากขึ้น แม้ว่าเมืองไทยจะมีความหลากหลายทางศาสนาแต่ผู้หญิงต่างศาสนาย่อมได้รับผลพลอยได้จากสิ่งนี้ เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า มีเสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่มีสิทธิที่จะทำ มีเสรีภาพในการทำอะไรก็ได้ตามความต้องการเท่าที่ไม่ขัดต่อการเคารพเสรีภาพผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญ