ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 163 ประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมายหรือแก้ไขพระราชบัญญัติได้โดยการเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อ แต่กระนั้นก็ดี กฎหมายหลายฉบับที่ประชาชนพยายามจะเสนอก็ยังไม่สามารถรวบรวมรายชื่อได้ครบ หรือหากรวบรวมได้ครบก็ยังไม่เคยมีกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนฉบับไหนเลยที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
ขณะเดียวกัน นอกจากการเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา 291 ยังให้ประชาชนมีสิทธิเสนและมีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยการเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อ ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ควรจะแก้ไขได้ยาก จึงกำหนดจำนวนรายชื่อไว้สูงกว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติ แต่กระนั้นความพยายามของภาคประชาชนในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางการเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อนั้นก็เคยเดินหน้ารวบรวมรายชื่อจนครบมาแล้วครั้งหนึ่ง
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ 35 องค์กร นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เก่า ทำการรวบรวมรายชื่อประชาชนซึ่ง คปพร.ระบุว่ารวบรวมได้กว่าสองแสนรายชื่อเมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2551 เพื่อประกอบในการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต่อประธานรัฐสภา
หลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยประชาชนนี้ มีเพียง การเพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 5 กำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และในหมวด 3 ถึงหมวด 15 และบทเฉพาะกาล หรือเรียกได้ว่าทุกส่วนยกเว้นบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัติรย์ ให้เอารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้
จุดยืนของ คปพร.ต่อการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ได้เคยแถลงเอาไว้ว่า 1) รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลผลิตของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คมช.คือ ผู้กำหนดและบงการ ส.ส.ร.50 จึงเป็นรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ การลงประชามติยังทำภายใต้กฎอัยการศึกและบรรยากาศทางการเมืองแบบเผด็จการและเป็นไปในเชิงบังคับ 2)รัฐธรรมนูญ 2550 มีเนื้อหาเผด็จการตัดตอนประชาธิปไตย ควบคุมระบบรัฐสภาทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ลดทอนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย เช่น ระบบเลือกตั้ง 1 เขต 3 เบอร์และการแบ่งพื้นที่สัดส่วน 8 ส่วน รวมทั้งการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 74 คน และการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก จังหวัดละ 1 คน เนื้อหาของรัฐธรรมนูญเหล่านี้เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศ 3)คปพร.ขอเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ เพราะเป็นการทวงคืนประชาธิปไตย จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับตัดแปะ คปพร.ยังเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดตั้ง ส.ส.ร.3 และการลงประชามติด้วย
ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาคัดค้านพร้อมระบุว่าเป็นความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล เนื่องจากร่างดังกล่าวยกฉบับปี 40 มาทั้งฉบับ ไม่มีมาตรา 237 เกี่ยวกับคดียุบพรรค และมาตรา309 เรื่องการเอาผิดคดีทุจริตของอดีตผู้นำ
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้บรรจุญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่างของ คปพร. เข้าไปเพื่อพิจารณารวมการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างอื่น รวม 4 ฉบับ และเมื่อวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2553 การประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้อภิปรายประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 2 วัน ท่ามกลางการลงมติมีความวุ่นวายตลอดทั้งวัน ผลการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของทางคปพร.ที่เสนอโดยประชาชน ด้วยวิธีการขานชื่อสส.แต่ละคนผลการลงคะแนนออกมาว่า รับหลักการ 222 เสียง ไม่รับหลักการ 235 เสียง งดออกเสียง 123 เสียง
สรุปผล คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เสนอโดยภาคประชาชน สามารถรวบรวมรายชื่อได้ครบ หรือมากกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
ดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.ได้ตามไฟล์แนบ
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ ประชาไท และ siamintelligence
ไฟล์แนบ
- ฉบับคปพร (485 kB)