เผยปัจจัยทางธรรมสามประการ เหตุคัดค้านการบวชภิกษุณี

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 มีการจัดสัมมนาดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอก ของ นัชชา วาสิงหน เรื่อง “การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย” ณ ห้อง 205 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ โดยมี พระสงฆ์ นักวิชาการ และพุทธศาสนิกชน เราร่วมรับฟังและวิจารณ์ เป็นจำนวนมาก

นัชชา วาสิงหนได้นำเสนอว่า ความขัดแย้งเรื่องการบวชภิกษุณีในสังคมไทย มีผลมาจาก ผู้สนับสนุนการบวช และไม่สนับสนุนการบวชภิกษุณี ซึ่งสองกลุ่มนี้ถือว่ามีนัยยะสำคัญที่จะทำให้ภิกษุณีสามารถบวชได้หรือไม่ในสังคมไทย

เผยปัจจัยทางธรรมสามประการ เหตุคัดค้านการบวชภิกษุณี

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย (25/6/11)

นัชชา อธิบายว่า ทัศนะของฝ่ายคัดค้านไม่ให้มีการบวชภิกษุณี คือ

  1. พระพุทธเจ้าไม่มีพุทธประสงค์ ที่จะให้มีภิกษุณีในพระพุทธศาสนา
  2. ภิกษุณีเป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์ ของภิกษุสงฆ์
  3. ปัญหาความสมดุลของโครงสร้างทางสังคม ที่ยังมองว่ายังไม่จำเป็นต้องมีภิกษุณี
  4. การแก้ปัญหาภิกษุณีไม่ได้อยู่ในอำนาจของคณะสงฆ์ไทย
  5. การบวชชีเป็นทางเลือกให้สตรีบวชได้ในสังคมไทย

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณีมองว่า

  1. พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์ในการประดิษฐานภิกษุณีเกิดขึ้นมาจริง
  2. คณะสงฆ์มีอำนาจบวชให้กับภิกษุณี ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ไทย
  3. การทดแทนการบวชภิกษุณีด้วยการบวชชีไม่สามารถทดแทนการบวชภิกษุณีได้ ดังนั้น จึงควรให้มีการบวชภิกษุณี

นัชชา ยังแสดงถึงสาเหตุคัดค้านการบวชภิกษุณี มาจากปัจจัย 3 ประการ คือ

                ตัณหา มาจากความอยากปกป้องระบบผู้ชายเป็นใหญ่ในสังคมและอัตลักษณ์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากอุดมคติดังกล่าว

                ทิฏฐิ คือ มองว่าการบวชภิกษุณีเป็นไปไม่ได้เลย

                มานะ คือ ท่าทีปฏิเสธการแก้ปัญหาการบวชภิกษุณีอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ให้คุณค่า และยังก่อให้เกิดการด้อยค่าของการแก้ปัญหา

นัชชา กล่าวด้วยว่า ข้ออ้างเหตุที่บวชภิกษุณีไม่ได้ เพราะภิกษุณีสายเถรวาทสูญสิ้นไปแล้วนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สอดคล้องกับพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกไม่ได้ระบุไว้ ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณี ยังดำรงอยู่ครบถ้วน การบวชจึงทำได้

ในงานวิจัยยังระบุว่า ตามธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะต้องมีพุทธบริษัทสี่ ตามพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ภิกษุณีก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของพุทธบริษัทสี่  ซึ่งพุทธบริษัทสี่คือเงื่อนไขที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของพุทธศาสนา ที่แต่ละหน่วยทดแทนกันไม่ได้ การขาดพุทธบริษัทบางประการย่อมกระทบกับพุทธบริษัทองค์รวม

นัชชา ได้กล่าวว่า ความเป็นนิกายต่างๆในพุทธศาสนา อยู่ภายใต้หลักของศาสนาพุทธ คล้ายกับกฎหมายลูกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด จะหักล้างสิ่งที่อยู่ในศาสนาหลักไม่ได้ การแก้ปัญหา คือ ต้องกลับไปยึดถือทิฏฐิที่ถูกต้อง ปัญหาความขัดแย้งก็จะไม่เกิด

ทั้งนี้ นัชชากล่าวทิ้งท้ายว่า ยังเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติที่จะให้มีภิกษุณี เนื่องจากความคิดในสังคมไม่ชัดเจน วาทกรรมที่น่าเป็นห่วง คือ ที่ว่ากันว่าภิกษุณีมีอยู่แล้ว เดี๋ยวสังคมก็ยอมรับไปเอง ตนคิดว่า อีก 500 ปีก็ไม่มีทางที่ภิกษุณีจะเกิดขึ้นได้ เว้นแต่จะทำขึ้นมาทันที หากเราคิดว่าภิกษุณีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ที่มาภาพ : วิกิพีเดีย (25/6/11)

หลังจากนั้น ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้วิจารณ์ดุษฎีนิพนธ์นี้ กล่าวว่า งานวิจัยฉบับนี้เหมือนเป็นแค่บอกสภาพปัญหาแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำอย่างไรให้มีการบวชภิกษุณีขึ้นมาได้ ตนอยากให้งานวิจัยชื้นนี้พูดถึงว่าจะทำอย่างไรให้เกิดภิกษุณีขึ้นมา

ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ กล่าวด้วยว่า อยากให้คนมองว่าภิกษุณีก็เป็นมนุษย์ และมนุษย์บรรลุธรรมได้ รวมถึงสามารถทำประโยชน์ในปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน ในงานเผยแพร่พระพุทธศาสนา ฝ่ายภิกษุณีก็เผยแพร่ไม่ย่อหย่อนกว่าภิกษุแต่อย่างไร

ด้าน ผศ.ดร.มนตรี สืบด้วง ผู้วิจารณ์ดุษฎีนิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่คัดค้านการบวชภิกษุณีดังที่ในงานวิจัยระบุไว้สามตัวนี้ ไม่ใช่พฤติกรรม แต่ฝังรากลึกอยู่ โดยในงานวิจัย ผู้วิจัยมองว่าปัจจัยทางธรรมสามประการที่เป็นเหตุคัดค้านการมีภิกษุณีนั้น เป็นกระบวนการส่งต่อ ซึ่งก็คือ ตัณหา นำไปสู่ ธรรมะ และนำไปสู่ทิฏฐิ นั้น มนตรี มองว่าในส่วนตนคิดว่าไม่ใช่ปัจจัยส่งต่อดังที่งานวิจัยได้กล่าวถึง

ผศ.ดร.มนตรี กล่าวด้วยว่า บางครั้งมีนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนมองว่าถ้ามีบวชสังฆกรรมสองครั้ง แสดงว่าต้องมีครั้งใดผิด ต้องดูว่าอะไรภิกษุณีทำได้ กับทำไม่ได้ ซึ่งเป็นการมองที่ไม่เข้าใจเรื่องสังฆกรรมของนักวิชาการ

** ทั้งนี้ มีการขับเคลื่อนให้แก้ไข พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดย ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน และเครือข่ายคนทำงานด้านผู้หญิง โดยให้เพิ่มคำว่า “คณะภิกษุณี” ลงในนิยามของคำว่า “คณะสงฆ์อื่น” ซึ่งจะทำให้ภิกษุณีมีสถานภาพถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามหลักเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา และเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม โดยไม่จำกัดว่าเฉพาะชายหรือหญิง สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://ilaw.or.th/priestess

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage