พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ขาดชื่ออีกพันกว่ายังไม่ช้าไป

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 สัปดาห์สุดท้ายก่อนยุบสภา สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ พ.ศ…. กฎหมายมีชื่อคล้ายกับกฎหมายที่ภาคประชาชนกำลังระดมรายชื่อเสนอกฎหมายอยู่ แต่ฉบับของภาคประชาชนใช้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ….

ขณะที่ร่างของภาคประชาชนนั้นยังอยู่ระหว่างการเดินทาง ระดมชื่อยังไม่ครบหนึ่งหมื่นชื่อ แต่ร่างของรัฐบาลเข้าเกียร์ห้า เดินทางเร็วจี๋ผ่านสภาผู้แทนเป็นที่เรียบร้อย แล้วร่างกฎหมายของประชาชนไปอยู่ตรงไหน? ที่ผ่านมาต่อสู้กันมาอย่างไรบ้าง? ร่างรัฐบาลไปไกลแล้วประชาชนจะทำอย่างไรต่อ? หากยกนี้ประชาชนแพ้อีกผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร? ด้วยความสงสัยเหล่านี้ ไอลอว์จึงบุกไปพบกับ ภรภัทร พิมพา

ภรภัทร พิมพา ผู้รับผิดชอบงานเลขานุการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ทำหน้าที่ประสานงานส่วนกลางในการเคลื่อนไหวผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของภาคประชาชนมาตั้งแต่ต้น เล่าให้เราฟังถึงการต่อสู้ที่เรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์อีกบทหนึ่งของกฎหมายภาคประชาชน

ย้อนปูมจากปี 49 ความสำคัญและอุปสรรคในการล่ารายชื่อ

ภรภัทร เล่าว่า ร่างกฎหมายนี้ภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2549 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กำหนดให้มีองค์การอิสระ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นในโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แต่ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาจัดตั้งองค์การนี้ขึ้น ประชาชนจึงต้องจัดทำร่างและเข้าชื่อเสนอกฎหมายกันเอง

“กฎหมายนี้จะทำให้ชาวบ้านมีสิทธิรู้เรื่องราวทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นกับเขา อะไรมาลงที่บ้านต้องมีสิทธิรู้ตั้งแต่ตอนคิด และตอนเดินเข้ามา ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กฎหมายฉบับนี้จะบอกว่าที่ดินในประเทศนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ใครจะใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้องมีการรักษาพร้อมกันทุกๆ จุด ก่อนจะจัดตั้งอะไรก็ดีต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นทุกขั้นตอน”

“ถ้าดำเนินการตามเป้าหมายได้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จะเป็นคณะกรรมการชุดที่เป็นหูเป็นตาดูแลต้นไม้ของทั้งประเทศ แผนผังเมืองของประเทศทั้งหมดจะอยู่ภายใต้กรอบกติกา จะมีคนกลุ่มหนึ่งจะช่วยประเมินว่าอะไรควรเกิดไม่ควรเกิด มีภาคีครบเครื่อง จะยืดหยุ่นและเป็นกลาง ทำหน้าที่เชื่อมร้อยองค์ประกอบทั้งหมดที่มีปัญหาและมีประโยชน์เข้าด้วยกัน” ภรภัทร กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายนี้

สำหรับวิธีการระดมรายชื่อประชาชนมานั้น ภรภัทรเล่าว่า ได้อาศัยกลไกของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ประสานงานร่วมกับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกภูมิภาค ยังมีสมัชชาฯ และเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทยเข้าร่วมด้วย ส่วนกลางก็ทำสื่อ แผ่นพับ หนังสือ สื่อเสียง ฯลฯ ย่อยกฎหมายให้เป็นภาษาชาวบ้าน เตรียมเอกสารสำหรับการเข้าชื่อ กระจายลงภูมิภาค ส่วนภูมิภาคก็ไปทำเวทีรณรงค์ ทำโฟกัสกรุ๊ปในพื้นที่ ไม่ว่าจัดเวทีเรื่องอะไรก็ต้องใส่เรื่องการเข้าชื่อครั้งนี้เข้าไปด้วยทุกครั้ง คนที่เซ็นต์ชื่อร้อยละ 80 เป็นชาวบ้านในพื้นที่ปัญหา ตอนแรกล่ารายชื่อได้เกือบสองหมื่นแล้ว ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับ 2550 มาตรา 163 ลดจำนวนลงให้ใช้แค่หนึ่งหมื่นชื่อ ก็เลยถือว่าได้ครบแล้ว

แต่เมื่อภรภัทรและทีมงานมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารแล้วจึงพบว่า มีรายชื่อที่ใช้ได้จริงเพียงแค่ประมาณ 7,000 ชื่อเท่านั้น ยังไม่พอที่จะยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาได้ ภรภัทรสรุปบทเรียนของตัวเองว่า มีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง ขณะนั้นความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมของประชาชนต่อกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มากพอ คนที่ไม่ได้รับผลกระทบยังไม่ตื่นตัวพอที่จะเซ็นชื่อด้วย เพราะยังไม่เข้าใจถึงปัญหา ทำให้เธอต้องจัดทำเอกสาร ย่อยให้เข้าใจได้มากที่สุดเพื่อไปอธิบายกับประชาชนในวงกว้าง

อุปสรรคที่สอง คือ ขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดว่าการเข้าชื่อต้องใช้หลักฐานทั้งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นเอกสารที่ทุกคนไม่ถือติดตัว หรือบางคนก็ไม่มีติดบ้านอยู่ตลอด แถมผู้ที่เคยเซ็นชื่อแล้วแต่เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วไม่ไปเลือกตั้งก็จะหมดสิทธิ ชื่อนั้นก็ใช้ไม่ได้ไป และสาม เนื่องจากจังหวะแรก การรณรงค์ทำไปพร้อมกับการเซ็นต์ชื่อเพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ทำให้ประชาชนที่มาลงชื่อสับสน และการจัดเก็บหลักฐานก็เกิดความผิดพลาด

บทเรียนที่ผ่านมาทำให้คณะทำงานต้องตั้งหลักยุทธศาสตร์กันอีกรอบเพื่อเก็บรวบรวมรายชื่อเพิ่มให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อ แต่ระหว่างที่ภาคประชาชนกำลังค่อยๆ เรียนรู้อยู่นั้น ภาครัฐเองก็ส่งร่างกฎหมายชื่อคล้ายแต่เนื้อหาต่างกันเข้าไปในสภา ดูเหมือนเวลาจะไม่เคยคอยท่า เมื่อคู่แข่งมีอำนาจเหนือกว่าอยู่ในมือ

ร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐ รวดเดียวผ่านสภาฉลุย

ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ฉบับของรัฐบาล เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 แต่ฉบับของภาคประชาชนยังล่ารายชื่อได้ไม่ครบ ภรภัทรจึงตัดสินใจนำเอกสารส่วนหนึ่งไปยื่นเพื่อฝากให้กรรมาธิการวิสามัญช่วยเอาไปเปรียบเทียบด้วย โดยแนบรายชื่อเจ็ดพันกว่าชื่อเท่าที่มีเข้าไป

“เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว เร็วมาก แป๊บเดียวเอง ตอนเดือนมีนาคมเราก็เพิ่งจัดเวทีวิพากษ์ไป ประเมินกันว่าผู้ใหญ่หลายฝ่ายน่าจะพยายามเร่ง คิดว่าถ้าเข้าสภาแล้วสามวาระน่าจะยกมือรวด คือจะเร็วมาก ตอนนั้นใจหายใจคว่ำกันมาก” นี่คือความรู้สึกจากปากของภรภัทร ถึงภาวะที่ฝ่ายประชาชนมีอำนาจแค่นั่งลุ้นให้การต่อสู้ที่เดินมากว่าสี่ปีไม่สูญเปล่า ซึ่งถึงวันนี้ก็เหลือแค่ขั้นตอนการยกมือรับรองของวุฒิสภาเท่านั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับของรัฐบาลก็จะประกาศใช้อย่างสมบูรณ์

สำหรับร่างของรัฐบาลที่กำลังจะผ่านนั้น มีข้อน่าสงสัยอยู่บ้างเช่น องค์ประกอบของคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายกระทรวงที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง, อำนาจในการกำหนดประเภทโครงการที่อาจก่อให้เกิดผละกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงยังคงเป็นของหน่วยงานรัฐซึ่งอาจมีส่วนได้เสีย ไม่ใช่อำนาจของกรรมการองค์การอิสระ, จำกัดอำนาจขององค์การอิสาระเฉพาะการให้ความเห็นรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาตั้งแต่การริเริ่มโครงการ ฯลฯ แต่โดยรวมแล้วภรภัทรรู้สึกว่ายังไม่เลวร้ายเกินไป ยังพอหาทางปรับแก้ไขได้

“จริงๆ แล้วไม่อยากรับ แต่ก็จำเป็นต้องรับ เพราะเราแก้อะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ยังไงเราก็อยากให้เป็นฉบับของเรา แต่มันก็มีบางข้อที่เราต้องลดอัตตาตัวเองลง ถ้าเกิดมันไม่ได้จริงๆ ฉบับนี้ออกก็ออกไปก่อน อย่างน้อยให้มีพ.ร.บ.ตัวนี้ให้ชัดเจนก่อนแล้วเราค่อยขยับหาทางแก้ไขต่อไป” ภรภัทรกล่าว

จะไปอย่างไรต่อ

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะต้องเดินอย่างไรต่อ ภรภัทร เล่าให้ฟังว่า ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำลังอยู่บนทางเลือกสองทาง คือ หนึ่ง ไม่ต้องสนใจฉบับของฝ่ายรัฐแล้ว ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เราก็เดินหน้าล่าชื่อต่อให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อ เมื่อครบแล้วก็เสนอใหม่เข้าไปให้รัฐสภาพิจารณาใหม่อีกรอบ หรือ สอง เริ่มตั้งต้นใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ด้วยการล่าชื่อเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมฉบับของฝ่ายรัฐ เมื่อฉบับของฝ่ายรัฐผ่าน เราก็ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปให้รัฐสภาพิจารณา

“คุณออกพ.ร.บ.นี้ก็ออกไป ตามกระบวนการของคุณ จะยกมือกันกี่สมัยก็ยกไป ฉันก็จะล่าของฉันใหม่ ก็จะเริ่มต้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ได้มาส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อกันพลาดก็ต้องตั้งเป้าไว้เอาสักสองหมื่น” ภรภัทรกล่าว

ซึ่งตอนนี้ภรภัทร ตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ว่าจะเลือกทางที่หนึ่งหรือทางที่สอง คงต้องให้พี่น้องในสมัชชาและเครือข่ายต่างๆ ที่ต่อสู้ด้วยกันมาตัดสินใจครั้งนี้ร่วมกัน

ภรภัทรชี้ให้เราดูถุงใบใหญ่สองใบลวดลายการ์ตูนสีสดใสมีกระดาษติดอยู่เขียนว่า “เสร็จแล้ว” ซึ่งภายในบรรจุเอกสารหลักฐานและรายชื่อทั้งหมดประมาณ8,600 รายชื่อ เป็นรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในมือแล้วตอนนี้ ขาดอีกเพียงพันกว่ารายชื่อเท่านั้น ซึ่งในระหว่างนี้ยังต้องเร่งเดินหน้าต่อเพื่อรวบรวมมาให้ได้ และยิ่งได้มาเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี ส่วนที่ได้มาอยู่ในมือแล้วนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียเปล่า

   

แปดพันกว่ารายชื่อ ทำมาแล้วได้อะไร

ภรภัทร เล่าให้ไอลอว์ฟังว่า  เธอสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงว่าทุกวันนี้การพูดถึงประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ นั้นง่ายกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน องค์กรในพื้นที่ยอมรับปัญหาของโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีตัวอย่างเกิดขึ้นจริงให้เห็น ทำให้การรับรู้เรื่องนี้กว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่เดือดร้อน แม้คนกรุงเทพหรืออยู่ในชุมชนแออัดก็เข้าใจได้

หลังผ่านเวลามากว่า 4 ปี ภรภัทรประเมินว่าสิ่งที่ได้กลับมานั้นมากกว่ากองกระดาษกองใหญ่ๆ เพราะโครงการนี้เป็นการทำงานของเอ็นจีโอจำนวนมาก และพี่น้องประชาชนเอง นอกจากกฎหมายที่เสนอแล้วยังได้ความรู้สึกร่วมกันจากคนทำงานว่ากฎหมายของประชาชน ประชาชนต้องกำหนดเอง ต้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะทำงานอยู่ประเด็นไหนก็ตามก็สามารถมาร่วมกันได้ อย่างการล่ารายชื่อที่ผ่านมาก็มีชื่อจากเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายผู้บริโภค ฯลฯ ส่งมาร่วมด้วย แม้จะไม่มากนัก แต่ทุกคนก็ได้รู้ว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเสนอกฎหมายภาคประชาชน

“จากตอนแรกทำเรื่องพ.ร.บ.นี้ แต่ต่อมาขยับเป็นเรื่องว่า สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ที่สอดคล้องกับชีวิตของตัวเอง นั่นคือ การพิทักษ์สิทธิของตัวเอง เรารู้สึกแบบนั้นเราจึงอยากให้เขารู้สึกแบบนั้นด้วย ก่อนที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สิ่งสำคัญที่สุดคือเขาต้องตระหนักก่อนว่าเป็นกฎหมายของเขา เป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันเขาจริง เป็นกฎหมายที่มาจากความรู้สึกร่วมว่าเขาได้ประโยชน์จากมัน นั่นคือกฎหมายประชาชน”

“เห็นว่าชาวบ้านเปลี่ยนไป ถ้าเทียบกับช่วงยุคแรกๆ สมัยที่ทำเรื่องพ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อได้นั่งคุยกับชาวบ้านกลุ่มเดิมที่เคยเซ็นต์ชื่อ สมัยก่อนคุยด้วยยังไม่รู้เรื่องมาก แต่ตอนหลังที่ไปคุยด้วยชาวบ้านสามารถตอบโต้ได้และสามารถให้มุมมองอื่นๆ ที่คนทำงานคิดไม่ถึงได้ กระบวนการครั้งนี้มันศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม มันทำให้รู้สึกว่าเขามีสิทธิแล้วเขาทำได้ ถึงจะไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมายตามใจฉัน แต่ว่าเขาได้ทำ” ภรภัทรเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

ความพยายามกว่า 4 ปี งบประมาณ เวลา และกำลังคนถูกใช้ไปไม่น้อย แม้วันนี้จะถูกร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ฉบับของรัฐบาลที่ถือไพ่เหนือกว่าแซงหน้าไปแล้วหลายก้าว แต่ภรภัทรกับภาคประชาชนที่ร่วมต่อสู้กันมา กลับไม่ได้แสดงความผิดหวังหรือท้อแท้ใจออกมาให้เห็น เธอยังคงสรุปบทเรียนถึงข้อผิดพลาด และสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางการต่อสู้เอาไว้ พร้อมกับการมองไปข้างหน้าเสมอ

ไม่ว่าร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของภาคประชาชน จะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ แม้ว่ามีตัวอย่างหลายครั้งที่มหากาพย์ของกฎหมายภาคประชาชนมีบทจบคือ โดนผู้ถืออำนาจรัฐในขณะนั้นปัดทิ้งเสียง่ายๆ หรือเอาหลักการมาผสมปนเปแล้วออกเป็นกฎหมาย “ลูกครึ่ง” ในฉบับของรัฐบาล แต่บนเส้นทางของการต่อสู้ การที่ประชาชนได้แสดงออกถึงเจตจำนงค์ของเขา ด้วยชื่อ 1 ชื่อที่ไม่ว่ารวยหรือจนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ถือเป็นการยืนยันอย่างแน่ชัดแล้วว่าความต้องการของประชาชนคืออะไร ซึ่งระหว่างทางก็ได้สร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมไทยไปเรื่อยๆ ในทุกจังหวะก้าว

และเมื่อประชาชนมีความตื่นตัวมากพอถึง “สิทธิ” ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการทำงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมาย หรือ การพิจารณาโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะถ่วงดุลกับอำนาจที่รัฐและทุนผูกขาดฝ่ายเดียวมาเป็นเวลานานได้แล้ว วันนั้น ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของภาคประชาชน คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น เมื่อประชาชนยังมี “สิทธิ” เพียงแค่เซ็นด้วยชื่อ 1 ชื่อ ก็ต้องเซ็นกันต่อไป

ร่วมลงชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของภาคประชาชนได้ โดยคลิกที่นี่

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage