จากการที่เครือข่ายสตรีภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. …. ฉบับประชาชน ที่เสนอควบคู่ไปกับร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ….. ฉบับของ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.)
เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “กฎหมายเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ : จากหลักการสากลสู่การปฏิบัติ” ในวันที่ 8เมษายน 2554 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายภาคส่วน
นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุขมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยภาคประชาชนนี้ เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมความเสมอคภาคและกฎหมายนี้ยังสามารถสร้างให้เกิดความเข้าใจ และทัศนคติของพี่น้องชาวชนบท และคนเมืองที่มีฐานมาจากชนบท ให้เขาเข้ามามีตัวตน สร้างความเข้าใจระหว่างกัน เพราะร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ใช่ขับเคลื่อนกันแค่ 200คน แต่ขับเคลื่อนให้ได้ถึงหนึ่งหมื่นคน
นางเรวดี กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีกฎหมายใดที่ให้หลักประกันความเสมอภาค ที่ทำให้ประชาชนตื่นจากสังคมที่ถูกกำหนดไว้ดังเช่นกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนฉบับนี้
นางเรวดี ยังได้กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.ของภาคประชาชนมีปัญหาการต่อสู้ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เพราะกฎหมายภาคประชาชนที่เสนอเข้าสภาไม่เคยสำเร็จสักฉบับ แต่ท่ามกลางการขับเคลื่อน เราสามารถสร้างรูปธรรมในระดับท้องที่ สมมุติว่ามีการเลือกตั้งขณะที่เรารณรงค์ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เราก็สามารถขับเคลื่อนให้เกิดจริยธรรมทางการเมืองได้ ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมืองไม่ใช่ผู้หญิงมาเป็นเพียงแต่หัวคะแนนช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครเลือกตั้งเท่านั้น
ด้าน นางสาวอรุณี ศรีโต สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนนี้ มีเนื้อหาละเอียดที่ลึกซึ้ง เพราะมาจากพี่น้องที่ร่วมกันร่างจากการสัมผัสปัญหาในชีวิตจริง ที่แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ก็ยังไม่สามารถคุ้มครองเยียวยาผู้ใช้แรงงานได้ทันท่วงที และกระบวนการขั้นตอนเยียวยาค่อนข้างช้า คนที่ยากจนก็ลำบาก เพราะไม่มีกองทุนมาช่วยเหลือสนับสนุน แต่หากมีร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนนี้ก็จะเข้ามาช่วยเสริมในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก
นางสาวอรุณี เล่าว่า ตนเคยไปที่ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เห็นคนที่ทำงานในโรงงานทอผ้าเป็นผู้ชาย ต่างกับบ้านเรา คนทอผ้าจะต้องเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงสามารถทำงานที่ลำบาก จำเจ ได้มากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายมักเป็นหัวหน้างานงานเสียมากกว่า แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกัน
นางสาวอรุณี ยังเน้นย้ำว่า ทุกๆคนจะต้องเตรียมตั้งหลักให้ดีเพราะช่วงนี้ใกล้จะเลือกตั้งแล้ว เราจะมีอำนาจและมีคนมาสวัสดีเรา ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ดีที่เราจะเสนอให้หัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายถ้าอยากได้คะแนนเสียงจากเรา ก็ควรจะเร่งให้เกิดกฎหมายฉบับนี้อาจจะภายในสมัยหน้าก็ได้
ด้าน นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด มูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาองค์กรผู้หญิงทำงานและแบกรับปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆเอาไว้ การมีกฎหมายนี้ทำให้เราสามารถแก้ไขที่ต้นตอ ไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ ทั้งยังเคารพในความแตกต่างระหว่างหญิงชาย เพศภาวะ ต้องมองว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงคนพิการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเสมอภาคทางเพศได้ โดยในสังคมต้องไม่กีดกันเขาออกจากสังคม
ในส่วนของ นายชุตินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับ พ.ม. ที่มีข้อยกเว้นให้นำเรื่องวิชาการ ศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะมาใช้เลือกปฏิบัติได้นั้น อาจทำให้ต่างประเทศเห็นว่า เราสามารถเลือกทำอะไรกับสตรีโดยที่รัฐยอมรับ เพราะหากมีไม่กฎหมายนี้ การเลือกปฏิบัติย่อมเป็นสิ่งไม่ดี แต่ถ้ามีกฎหมายนี้มาใช้กลายเป็นว่าการเลือกปฏิบัติตามข้อยกเว้นทั้งสามเป็นสิ่งที่ดี จากการค้นคว้าก็ยังไม่พบว่ามีประเทศไหนมีข้อยกเว้นเช่นนี้
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น ยังไม่เข้าใจสิทธิและความเสมอภาคทางเพศเท่าใดนัก อย่างเช่นในมาตรา 3 ที่ให้นิยามการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เว้นแต่เมื่อมีเหตุผลทางวิชาการ ศาสนา เพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็สามารถเลือกปฏิบัติได้ ซึ่งวลีเหล่านี้เป็นเสมือนให้ความชอบธรรม อย่างในด้านวิชาการ ก็อาจโยงไปถึงวิชาชีพ ที่เวลาจะรับนักเรียนเข้าศึกษาก็อาจจะเลือกรับได้ เช่น สาขาป่าไม้ หรือ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งมันควรเป็นอย่างนั้น
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังชี้ให้ความเห็นว่า ประเด็นของคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียม ในร่างของพ.ม.มีที่มาจากปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชายล้วน และก็ไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิมาก่อน ไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบคณะกรรมการที่จะเข้ามาว่าเข้าใจปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศดีพอหรือไม่ เช่น หากมีการล่วงละเมิดทางเพศ หากตั้งผู้ชายมาเป็นกรรมการ เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทางแก้นั้นต้องมีการตั้งตัวแทนโดยให้ฝ่ายผู้เสียหายเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะช่วยแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศอย่างแท้จริง
ไฟล์แนบ
- scan_0 (430 kB)