ขอเพิ่มแค่คำเดียว “ภิกษุณีสงฆ์”

ทั้งที่ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี หรือนักบวชในศาสนาพุทธได้ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ก็รับรองไว้ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม โดยไม่จำกัดว่าเฉพาะชายหรือหญิง

แต่ในประเทศไทย ผู้หญิงยังไม่สามารถบวชเป็นภิษุณีได้ เพราะไม่ได้รับการรับรองจากมหาเถรสมาคม โดยเหตุเพราะมี พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ. 2471 ห้ามไว้ และยีงมี คำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมในการประชุมครั้งที่ 28/2527 และครั้งที่18/2530 ห้ามภิกษุสงฆ์ทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี ดังนั้นหากวัดใดทำการบวชภิกษุณี จึงอาจถือว่าละเมิดระเบียบคณะสงฆ์ไทย และถูกตัดขาดจากมหาเถรสมาคมได้ ดังเช่น วัดโพธิญาณ เมื่อปี พ.ศ.2552

นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ยังไม่มีการบัญญัติรับรองสถานะของภิกษุณี ไว้แม้แต่ที่เดียว ทำให้วันนี้ หากหญิงคนใดต้องการบวชเป็นภิกษุณีก็จะไม่มีกฎเกณฑ์ใดรับรองสถานะได้

ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน จึงเสนอให้แก้ไข พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ชุ่น ไม่ต้องถึงกับให้ “ภิกษุณี” รวมเป็นหนึ่งใน “คณะสงฆ์” ของไทย แต่เสนอให้เพิ่มคำว่า “คณะภิกษุณี” ลงในนิยามของคำว่า “คณะสงฆ์อื่น”

หรือ เสนอแก้ไข มาตรา 5 ของ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505

จาก

“คณะสงฆ์อื่น” หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรือ อนัมนิกาย

เป็น

“คณะสงฆ์อื่น” หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกาย คณะภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาวงศ์

เพียงเท่านี้ แม้มหาเถรสมาคมยังไม่ยอมรับการบวชเป็นภิกษุณีในทันที ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่อย่างน้อยก็เป็นการรับรองสถานะการมีอยู่ของภิกษุณีตามกฎหมายไทยได้

ผู้ที่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ในประเด็นดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจากเอกสานแนบด้านบนได้ และ

  1. กรอกข้อมูลในแบบฟอร์ให้ครบถ้วน
  2. ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  3. ส่งมาที่ “เครือข่ายส่งเสริมสถานภาพทางกฎหมายของภิกษุณีสงฆ์เพื่อเติมเต็มพุทธบริษัท 4” สว.ไพบูลย์ นิติตะวัน ตู้ปณ. 4 บางนา กรุงเทพฯ 10260

เมื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ครบ 10,000 ชื่อแล้ว ก็จะนำเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป โดยตั้งเป้าจะรวบรวมให้ได้ครบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ขอเพิ่มแค่คำเดียว “ภิกษุณีสงฆ์”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ เว็บไซต์มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง

 

 

ไฟล์แนบ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage