เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 เวลา 13.30 น. เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผู้หญิง จัดเสวนาในหัวข้อ “ร่างกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ…ส่งเสริมหรือซ้ำเติม?” ณ โรงแรมเวียงใต้ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งนักวิชาการ และตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆที่ทำงานด้านผู้หญิง และความเสมอภาคระหว่างเพศ
สืบเนื่องมาจากประเทศไทย เป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรี (CEDAW) ตั้งแต่ปี 2528 ทำให้รัฐต้องออกมาตรการและกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ ในปี 2550 และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยได้เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. …
ทั้งนี้เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ได้ร่วมกันศึกษาร่างกฎหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเห็นว่ายังมีช่องว่างในการเลือกปฏิบัติอยู่จึงร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนที่มีหลักการคล้ายกันขึ้นอีกหนึ่งฉบับ ใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. …
รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการที่ภาคประชาชนฝ่ายพัฒนาสตรี ได้เสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชนขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมให้มีการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ให้ลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย
รศ.วิระดา วิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายของ พม.ในภาพรวม ว่าไม่ได้ครอบคลุมประเด็นปัญหาความรุนแรงระหว่างเพศทั้งหมด และไม่มีวิธีการที่มุ่งไปสู่การปฏิบัติได้จริง ต่างจากร่างของภาคประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับรากเหง้าของปัญหา ในการที่จะกลบเกลื่อนปัญหาและความรุนแรงระหว่างเพศได้
รศ.วิระดา ยังได้ติงร่างกฎหมาย พม. ที่มีข้อยกเว้นในมาตรา 3 ที่ว่า “การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยกการกีดกัน หรือการจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ในหลักการดูดี แต่ยังมีข้อน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นข้อยกเว้น ทางวิชาการ ศาสนา หรือประโยชน์ทางวิชาการ ที่ยังไม่มีกรอบในการให้ความหมายชัดเจน และคิดว่ายังไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงอย่างแท้จริง [1]
“ที่น่าห่วง และปล่อยไม่ได้ คือมีข้อยกเว้นในกรณี เหตุผลทางวิชาการ คืออะไร ใครให้ความหมาย และผู้ให้ความหมายเป็นนักวิชาการของรัฐหรือไม่ และพร้อมดำรงสถานภาพเดิมหรือเปล่า ” รศ.วิระดา กล่าว
รศ.วิระดา ยังกล่าวด้วยว่า ในข้อยกเว้นเรื่องศาสนาของร่างกฎหมายของ พม. นั้น ขัดต่อหลักสิทธิสังคม วัฒนธรรมอย่างชัดเจน ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรี ไม่สามารถอ้างได้เลย ว่า เหตุผลทางศาสนาจะยกเว้นไม่ต้องเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของหญิงชาย
รศ.วิระดา กล่าวในส่วนข้อยกเว้นอีกเรื่องคือเพื่อประโยชน์สาธารณะว่า อะไรคือประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของผู้หญิงไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะหรืออย่างไร ไม่ว่าสิทธิประโยชน์ในเนื้อตัวร่างกาย สิทธิประโยชน์ทางการเมือง สิทธิประโยชน์ในความเป็นพลเมือง
“การที่มาบัญญัติอย่างนี้ แสดงว่าเขาคิดว่าไม่ใช่ สิทธิประโยชน์สาธารณะ คุนูปการของผู้หญิงทางรัฐไม่คิดถึงเลย ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นมารดา ตั้งท้องให้ ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะหรืออย่างไร เพียงคำนิยาม ก็มีปัญหาอย่างมากแล้ว” รศ.วิระดา กล่าว
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ในฐานะที่เคยเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้กล่าวถึง ร่างกฎหมายของ พม. ที่มีข้อยกเว้นให้เลือกปฏิบัติในเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทางวิชาการ หรือศาสนา ตามมาตรา 3 ของร่างกฎหมายได้นั้น
ในส่วนของประโยชน์สาธารณะ นางอังคนา กล่าวว่า เป็นเรื่องของรัฐที่มีความกังวลและมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิความเสมอภาคของผู้หญิง เพราะเมื่อเดือนก่อน ไทยงดออกเสียงในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับประเด็นให้ยุติการฆ่าหรือสังหารเกย์ กะเทย ทอม ดี้ ตามอำเภอใจ เนื่องมาจากเรื่องการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นการขาดการคำนึงถึงการรับรองสิทธิที่น่าจะกระทำ
นางอังคนา ให้ข้อสังเกตว่า ในทางวิชาการ ที่พูดกันว่าวัยทองมีการอ้างถึงการเบี่ยงเบนทางอารมณ์นั้น ก็เป็นเรื่องปกติ เป็นวัยผู้หญิงเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ แต่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนทางใช้สติน้อยมาก ทั้งนี้ ยังไม่มีกลุ่มผู้หญิงที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และศึกษาว่างานวิจัยหรืองานศึกษาถูกต้องและนำมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือเปลี่ยนทัศนะคติคนได้หรือไม่
ในเรื่องศาสนา ผู้หญิงชนเผ่าหรือชายขอบ ได้รับผลกระทบโดยตรง ในการเลือกปฏิบัติ ถูกบังคับให้แต่งงาน หรือถูกละเมิดทางเพศของชนเผ่าเดียวกัน ในฐานะความเชื่อทางประเพณีที่ถือว่าทำได้ ทำให้เด็กตั้งครรภ์ ต้องทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย ต้องเข้าบ้านพักฉุกเฉิน พอคลอดบุตรแล้วถึงกลับมาเรียนต่อ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเด็กเอง แม้เราจะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็ก แต่รัฐไทยเข้าไปเอื้อมไม่ถึงในการคุ้มครองเด็กกลุ่มนี้
นางอังคนา ยังได้พูดถึงผู้หญิงมุสลิมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การหย่าของสามี การได้รับมรดก เช่น ในกรณีของ ผู้หญิงมุสลิมที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็น 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือว่าที่ไหน ในแง่หลักอิสลามนั้นให้ความคุ้มครองผู้หญิง แต่วิถีปฏิบัติความเป็นปุถุชนไม่ตรงกัน ทำให้ผู้หญิงมุสลิมจำนวนมากอยู่ด้วยสภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะพื้นที่ขัดแย้ง
“เมื่อพูดถึงการหย่าร้าง กฎหมายอิสลามให้ผู้ชายมีสิทธิเอ่ยปากขอหย่าได้ แต่ถ้าผู้หญิงต้องมีผู้แทน แต่พอมาถึงการปฏิบัติมันต่างกันมาก ผู้ชายตะโดนใส่หน้า 3 ครั้งก็หย่าได้ แต่ผู้หญิงไม่สามารถขอหย่าได้ง่าย มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยยอมจ่ายเงินให้สามีบอกหย่า จากที่พบมีผู้หญิงยอมเสียเงินถึง สามแสนบาท ให้สามีบอกหย่า ในขณะที่กฎหมายอิสลามคุ้มครองว่า เมื่อหญิงที่หย่าแล้วชายต้องส่งเสียดูแลหญิงจนกว่าจะหาครอบครัวใหม่ได้ แต่ในทางกฎหมายไม่มีสภาพบังคับ กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้ง รัฐก็ไม่สามารถให้ความดูแลสิทธิผู้หญิงเหล่านี้ได้” นางอังคนากล่าว
ในส่วนเรื่องมรดก นางอังคนา ได้อธิบายถึงหลักการได้รับมรดกไว้ว่า ฝ่ายชายจะได้รับมรดก สองเท่า ของผู้หญิงเพราะฝ่ายชายต้องดูแลผู้หญิง ในกฎหมายอิสลาม ทรัพย์ของหญิงก็เป็นของหญิง แต่ของชายผู้หญิงมีสิทธิ ครึ่งหนึ่ง แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น เช่น กรณี ตากใบ รัฐให้เงินเยียวยาผู้เสียหายรายละ สามแสนบาท ก็มี ดาโต๊ะวินิจฉัยว่า เงินนั้นเป็นเงินมรดก ทำให้เงินสามแสนถูกแบ่งให้หญิงซึ่งเป็นผู้สูญเสียได้รับเพียงแค่ 3 หมื่นบาท ผู้หญิงหลายคนต้องแบกรับภาระหนี้สินจำนวนหนึ่ง
“มีกรณีที่ผู้ชายมีภรรยาหลายคนแต่กลับไม่ได้รับเงินเยียวยาเลยเพราะ สามีมีสิทธิได้รับและอยู่กับภรรยาอีกคน ทำให้แม่ที่เลี้ยงดูบุตรที่เสียชีวิตก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย” นางอังคนากล่าว
บางทีการปฏิบัติไม่ใช่เป็นไปตามหลักศาสนาอย่างแท้จริง แต่กฎหมายอาจตีขลุมไปว่าเป็นไปตามหลักศาสนา จึงไม่ควรนำเรื่องศาสนามาเป็นข้อยกเว้นการเลือกปฏิบัติตามกฎหมาย
ทางด้าน นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร กล่าวว่า ในมาตรา 3 ร่างกฎหมายของ พม. ได้ให้ความหมายว่า ไม่ให้แบ่งแยกความเป็นเพศ รวมถึง การแสดงออกที่ต่างจากเพศโดยกำเนิด แต่ก็เป็นส่วนของกายภาพ ซึ่งเราไม่ควรมองเฉพาะเรื่องกายภาพเท่านั้น แต่ต้องมองถึงอคติทางเพศ เช่น เวลามีคดีถึงศาล ถ้าเป็นอัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ ตำรวจ ที่เป็นผู้หญิง ก็ต้องต่อท้ายว่า ผู้หญิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแบ่งแยก และความเชื่อมั่นของอาชีพนั้น
ทั้งนี้ นางสาวนัยนา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โทษสำหรับผู้กระทำความผิด ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีโทษน้อยไป ควรจะต้องกำหนดโทษให้มากกว่านี้ (โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
ในส่วน นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด มูลนิธิผู้หญิง ผู้ที่คลุกคลีกับร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนโดยตรง กล่าวถึง ร่างกฎหมายฉบับประชาชนนี้ จะต้องมีตัวกำหนดกลไกต่างๆเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง นอกจากกลไกตำรวจเป็นอย่างเดียว
นางสาวอุษา ได้กล่าวถึง ร่างกฎหมายของ พม. ว่า ยังไม่มีกลไกในการฟื้นฟูหญิงที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับของ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีแนวโน้มจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัมยการประชุมครั้งหน้า แต่ยังมีเนื้อหาหลายส่วนที่เป็นปัญหา ในตอนท้ายของวงเสวนาได้มีการหารือร่วมกัน ที่จะเดินหน้ารณรงค์และระดม 10,000 รายชื่อ จากองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ และประชาชน เพื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนให้รัฐสภาได้พิจารณาควบคู่กันไป
[1]มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. … ที่เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ความว่า “ในพระราชบัญญัตินี้ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยกการกีดกัน หรือการจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ”