***ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. … ฉบับที่ชำนาญ จันทร์เรืองเสนอนี้
ถูกยกขึ้นมาและรับฟังความเห็นหลายครั้ง จนถูกปรับปรุงไปมาก
ก่อนออกเป็นร่างฉบับใหม่ที่ใช้ล่ารายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย***
ดูรายละเอียดร่างที่ปรับปรุงแล้วคลิกที่นี่
เชียงใหม่ ในฐานะเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศไทยและศูนย์กลางของภาคเหนือ กำลังก้าวขึ้นมามีความสำคัญอย่างมากทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดการปกครองแบบพิเศษเฉพาะตัวของเชียงใหม่ เช่นเดียวกับที่ กุรงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา มีรูปแบบการปกครองต่างจากส่วนอื่นของประเทศ
ประกอบกับกระแสเรียกร้องให้จัดการปกครองแบบกระจายอำนาจมากขึ้น และยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางอย่างเดียว ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมาย นักคิดนักเขียน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. …. ออกแบบการปกครองเฉพาะตัวของเชียงใหม่ขึ้น ให้สังคมได้พิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. …. มีหลักการที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ให้จัดตั้งการปกครอง เชียงใหม่มหานคร เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น (มาตรา6)
2. แบ่งพื้นที่การปกครองเป็นเขต และแขวง ส่วนการปกครองที่เคยเรียกว่าอำเภอให้เปลี่ยนเป็นเขต และตำบลให้เปลี่ยนเป็นแขวง (มาตรา8)
3. ให้มีสภาเชียงใหม่มหานคร มีสมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครมาจากการเลือกตั้ง จำนวนของสมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครขึ้นอยู่กับจำนวนเขตเลือกตั้งที่กำหนดโดยจำนวนราษฎรประมาณหนึ่งแสนคนตามทะเบียนราษฎร (มาตรา 10-11) ทำหน้าที่พิจารณาข้อบัญญัติของเชียงใหม่มหานคร และตรวจสอบผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร (มาตรา 28)
4. ให้มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร มาจากการเลือกตั้งของราษฎร (มาตรา43) ทำหน้าที่บริหารงานของเมืองเชียงใหม่มหานคร
5. ถ้าหากการทำงานของผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครขัดแย้งกับสภาเชียงใหม่มหานคร ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครอาจยื่นข้อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยุบสภาเชียงใหม่มหานครเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ (มาตรา17) สมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครจำนวนสองในห้าของอาจยื่นญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป ให้ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครแถลงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นได้ (มาตรา36)
6. ให้มีสมาชิกสภาเขต อย่างน้อยเขตละเจ็ดคน มาจากการเลือกตั้งของราษฎรในเขต (มาตรา70)
7. ข้อบัญญัติของเชียงใหม่มหานคร มาจาก ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานครหรือราษฎรเข้าชื่อกันเสนอให้สภาเชียงใหม่มหานครพิจารณา (มาตรา 96-97)
8. เชียงใหม่มหานครเป็นผู้จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์ (มาตรา108) เชียงใหม่มหานครอาจเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ไม่เกินร้อยละสิบ (มาตรา111) เชียงใหม่มหานครอาจเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มอีกหนึ่งในเก้าของประมวลรัษฎากร (มาตรา112)
9. ยกเลิกการปกครองในระบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล (มาตรา113. 127)
10. ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ยังมีอยู่ต่อไป โดยขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการเขตและผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการ และพัฒนาเป็นของชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาตนเอง
ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลร่างกฎหมายฉบับเต็มมาศึกษาได้ หรือดูรายละเอียดได้ที่ ประชาไท ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เพื่อออกแบบกฎหมายนี้ให้เป็นร่างกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยภาคประชาชนอย่างแท้จริง
ไฟล์แนบ
- pdf_0 (484 kB)