นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน ในปี 2547 ที่ค่ายกองพันพัฒนาที่สี่ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้นมา ชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อคุมสถานการณ์ รวมทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักร ในบางอำเภอของจังหวัดสงขลา แต่จนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ชาวบ้านยังต้องอยู่อย่างไม่ปลอดภัย เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือชาวบ้านด้วยกันเอง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ความสันติสุขจะกลับคืนมาได้อย่างไร
นางสาวซารีพะ ยูโซะ หนึ่งในอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันเป็นทนายความผู้ช่วย ประจำศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดนราธิวาส พื้นเพเป็นคนพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทำหน้าที่ด้านคดีความทางภาคใต้ และให้ความรู้กฎหมายกับชาวบ้าน เล่าถึงภาพเรื่องราวในพื้นที่ให้ไอลอว์ฟัง
ซารีพะ เล่าถึงคนในพื้นว่า ปัจจุบันคนในพื้นที่ก็รักกันดี อัธยาศัยใจคอดี ในพื้นที่มีทั้งคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตกับปัจจุบัน ต่างกันมาก เพราะมีทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่
ความกังวลที่ซารีพะมีอันเนื่องมาจากทหารเข้ามาในพื้นที่นั้น เธอมองว่า บ้านของเธอไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม การที่ทหารเข้ามาอยู่ทำให้รู้สึกกดดัน
“เหตุการณ์ที่อำเภอบาเจาะนั้น เป็นพื้นที่สีแดงเลย ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายที่สุด เพราะทหารเข้ามาอยู่ในพื้นที่เยอะ”
การที่รัฐบาลได้ประกาศให้อำเภอบาเจาะเป็นพื้นที่สีแดง ในความรู้สึกคือกลัวเพราะเจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาจู่โจมได้ทุกเมื่อ เพราะพรก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกไม่ใช่กฎหมายทั่วไป แต่กฎหมายเหล่านี้ให้ทหารมีอำนาจเต็มที่ที่จะเข้ามาในพื้นที่เมื่อไรก็ได้
ความหวังของซารีพะและชาวบ้านคือหากว่ามีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ ชาวบ้านเขาจะได้รู้สึกนอนหลับเต็มตามากยิ่งขึ้น
แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น มักจะมองว่า ควรประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อรักษาความสงบ ซึ่งซารีพะมองอีกทางหนึ่ง