พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ต้องใช้มากกว่าจรวดกระดาษ

กรณีที่ฝ่ายองค์กรภาคประชาชนนำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครื่อข่ายองค์กรสายสุขภาพ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณะสุข เสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แล้วมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ นำโดยแพทยสภา สมาคมโรงพยาบาลเอกชน

ฝ่ายผู้เสนอกฎหมายอยู่ในฐานะตั้งรับ ปล่อยให้ฝ่ายหมอเล่นบทบู๊นัดแต่งดำถือป้ายประท้วง จัดกิจกรรม แสดงออกตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

การออกมาเคลื่อนไหวของฝ่ายหมอในพุทธศักราชนี้เข้มข้นรุนแรงไม่แพ้การขับเคลื่อนต่อต้านร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2543 เรียกความสนใจจากสังคมได้มาก ขวางให้ร่างกฎหมายค้างเติ่งอยู่ แม้รัฐบาลจะยังไม่ถอนออกจากสภา แต่ก็เดินหน้าไปไหนไม่ได้

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ฝ่ายองค์กรภาคประชาชนจึงนัดรวมตัวกันเพื่อแสดงออกบ้าง ฝ่ายตรงข้ามเคยนัดแต่งดำ ก็เลยนัดแต่งขาวเอาฤกษ์เอาชัย รวมตัวกันบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ก่อนออกเคลื่อนขบวนไปยังหน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกับส.ส.ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน เร่งเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป

 
 
         
 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุม กล่าวเรียกร้องบนรถปราศรัยในเช้าวันนั้นว่า กลุ่มผู้ออกมาคัดค้านมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชนอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น รัฐบาล และสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ควรเห็นแก่ประชาชนโดยการเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไปตามกระบวนการ ไม่ควรหยุดชะงักเพื่อเห็นแก่กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง
 
ผู้จัดการชุมนุมเตรียมกิจกรรมมาให้มวลชนเล่นสนุกกันอย่างไม่รู้สึกเบื่อ เช่น การให้คนใส่หน้ากากเลียนแบบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข รวมถึงหน้ากากล้อเลียนฝ่ายคัดค้านอย่างนายกแพทยสภา การขออาสาสมัครมาช่วยกันชักคะเย่อกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ว่าอาสาสมัครฝั่งผู้ชุมนุมจะมีจำนวนมากกว่าเท่าไรก็แพ้ เพราะอีกฝ่ายแม้มีจำนวนน้อย แต่มีแรงมากกว่า ไปจนถึงการพับจรวดกระดาษแล้วปาเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล
 
คาดการณ์กันว่ามีประชาชนมาร่วมการชุมนุมครั้งนี้ประมาณ 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการระดมมวลชนที่เป็นเครือข่ายจากเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศและองค์กรที่เป็นเครือข่ายกันอยู่แล้ว แต่สังเกตจากแววตาคนจำนวนไม่น้อยที่ใส่เสื้อขาวมานั่งแสดงพลัง ก็เป็นแววตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนาน เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังเรียกร้อง มีอารมณ์ร่วมกับผู้นำการปราศรัย ไชโยโห่ร้อง พร้อมที่จะมีส่วนร่วม 
 
กิจกรรมจรวดกระดาษเป็นรูปธรรมที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจของมวลชนเสื้อขาว แกนนำแจกกระดาษเอสี่ให้กับทุกคนที่มาร่วมชุมนุม ให้พับเป็นจรวดกระดาษคนละลำ เขียนสิ่งที่อยากบอกกับรัฐบาลลงในจรวดลำนั้น และเมื่อเวลาประมาณ 10.00 . หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ เดินออกมารับข้อเรียกร้องจากแกนนำและกลับเข้าไปแล้ว ทุกคนก็ระดมปาจรวดนับพันลำข้ามรั้วสูงเหนือหัวของทำเนียบรัฐบาลเข้าไปภายใน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องส่วนตัวบ้าง ก่อนออกเดินทางไปยังหน้ารัฐสภา
 
กิจกรรมจรวดกระดาษเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เขียนสิ่งที่อยากจะบอก และได้ส่งออกไป โดยจรวดทำหน้าที่เป็นพาหนะส่งสาร ขณะเดียวกัน จรวดสีขาวก็เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความบริสุทธิ์ของประชาชนที่ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องมืออันทรงพลังใดอันจะทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่หันมาฟังเสียง
 
  
        
 
 
หลายคนตั้งใจเขียนกันยืดยาว หลายคนใช้เวลาในการพับ เพราะเพิ่งมาหัดพับจรวดเป็นครั้งแรก ข้อความที่เขียนก็มีทั้งเรื่องให้เร่งรัดร่างพ...คุ้มครองผู้เสียหาย ย้ำว่ากฎหมายนี้ดีอย่างไร หลายคนเขียนข้อความด่าแพทยสภา บ้างขอความเห็นใจในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทั้งหมดก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนที่เดินทางมาใกล้บ้างไกลบ้างล้วนมีข้อความส่วนตัวที่อยากส่งออกทั้งนั้น
 
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ออกมารับข้อเรียกร้องและใช้เวลากล่าวกับผู้ชุมนุมเล็กน้อย ทุกคนยืนขึ้น โห่ร้องยินดีที่รัฐมนตรีออกมารับจดหมาย ขณะที่ในมือกำจรวดสีขาวไว้แน่น ไม่ว่าคนที่ถือป้ายผ้า คนที่ขนของ กางร่ม กินข้าว หรือถ่ายรูป ก็จะต้องกำเอาไว้ในมือคนละลำ เป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือการแสดงความคิดเห็นตามกรอบตามสิทธิของฉันเอง
 
คงน่าเสียดาย หากสารเหล่านั้นไปได้ไม่ไกลไปกว่าอาณาบริเวณของแม่บ้าน หรือคนสวนประจำรัฐสภา
 
แต่หนทางข้างหน้า จะต้องไปไกลกว่าจรวดกระดาษ เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหมอกับภาคประชาชนครั้งนึ้คงไม่จบลงง่ายๆ การชุมนุมครั้งนี้คงไม่ถึงกับสร้างความชอบธรรมให้กฎหมายทั้งฉบับได้ ฝ่ายคัดค้านเองก็ยังเดินหน้าระดมดิสเครดิตกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
 
หวังว่าในทางกลับกันความขัดแย้งนี้จะช่วยเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจและแนวร่วมใหม่ๆ เพราะเมื่อฝ่ายประชาชนเองยืนยันแล้วว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มาจากการเข้าชื่อของประชาชน มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน ก็ต้องเตรียมรับบทพิสูจน์อันท้าทายจากฝ่ายหมอที่คัดค้าน รวมถึงเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนับสนุน และเมื่อผู้คนเริ่มเข้าใจเนื้อหาของร่างกฎหมายว่ามีความจำเป็นต่อสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วยแค่ไม่กี่กรณี หรือผลประโยชน์ของคนแค่บางกลุ่ม แรงกดดันจากสังคมก็จะบีบจนเสียงคัดค้านนั้นฟังไม่ขึ้นไปเอง
 
ภารกิจนี้คงไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของแกนนำ เอ็นจีโอสายหลักไม่กี่คน แต่คงต้องหวังพึ่งเสียงของคนที่เคยเซ็นต์ชื่อร่วมกันทั้งหลาย และทุกคนที่อุตส่าห์นั่งพับอาวุธด้วยกันเพื่อกระจายสิ่งที่อยู่ในใจ
 
และกว่าจะถึงวันนั้น
คงต้องใช้มากกว่าจรวดกระดาษ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage