องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศได้ร่วมกันผลักดันเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในกฎหมายมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว แต่ร่างกฎหมายที่หวังจะให้เป็นเครื่องมือคุ้มครอง ส่งเสริม สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ให้ได้รับการยอมรับเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และมีผลนำไปสู่การปฏิบัติ ยังพบอุปสรรคด้านทัศนคติ ความเข้าใจอีกหลายประการ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข นำเอาหลักการของภาคประชาชนไปแก้ไข ปรับปรุง และเสนอ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ออกมา
คำว่า อนามัยการเจริญพันธุ์ ตามกฎหมายนี้ หมายถึง สุขภาพทางการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่ดี รวมถึง การได้รับความรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ การได้ตัดสินใจเรื่องเพศโดยอิสระ ปราศจากการเลือกปฏิบัติและการถูกบังคับ
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข มีเนื้อหาสำคัญ คือ
* บุคคลย่อมมีสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ มีสิทธิเข้าถึง ได้รับ ข้อมูลข่าวสาร รับการปรึกษา บริการ ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างเหมาะสม มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน
* ให้มีการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวุฒิภาวะและวัยของผู้เรียน
* ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง ต้องป้องกันไม่ให้มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ต้องไม่ขัดขวางการลาคลอด
* ผู้บริหารสถานศึกษาต้องอนุญาตให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์ และกลับไปศึกษาต่อภายหลังคลอดบุตรแล้วได้
คณะกรรมการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ อยู่ภายใต้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้มีการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเชิญตัวแทนจาก ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันให้ความเห็นเพื่อปรับแก้ร่างกฎหมายนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะปรับร่างกฎหมายให้เสร็จในราวเดือนกันยายน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
จากการทำประชาพิจารณ์พบข้อเสนอที่น่าสนใจหลายประเด็นจากทุกภาคส่วน บางประเด็นก็ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องรอการถกเถียง หาฉันทามติร่วมกันในสังคมต่อไป
ไฟล์แนบ
- พรบอพ13กค53 (122 kB)
- RHLaw_final-ฉบับ-สคส (155 kB)