ปัจจุบันนี้ หากใครที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางรถยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นคนขับ คนนั่ง หรือคนเดินถนนทั่วไป จะมีกฎหมายฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่วางมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเอาไว้ ซึ่งกำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำประกันภัยกับบริษัทเอกชน และเมื่อเกิดความเสียหาย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตต้องไปเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลเอากับบริษัทเอกชน
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าระบบของบริษัทเอกชน มีลักษณะการเกี่ยงภาระในการจ่ายค่าชดเชย มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่ยุ่งยากซับซ้อน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้โดยสะดวกและครบถ้วน และบางกรณีการคุ้มครองก็ไม่สามารถดูแลไปจนถึงที่สุดได้
ประชาชนประมาณร้อยละ 50 จึงตัดสินใจ เลี่ยงไปใช้สวัสดิการทางอื่น เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและลูกจ้าง กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้กองทุนเหล่านี้ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้เก็บเบี้ยประกันกลับไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย
นอกจากนี้ยังพบว่า ระบบการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น และมีลักษณะการบริการที่เน้นผลกำไรทางธุรกิจมากกว่าประโยชน์ต่อสังคม
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จึงเสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และเสนอระบบการชดเชยแบบใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ………… ซึ่งมีหลักการที่น่าสนใจ ดังนี้
- ให้จัดตั้งกองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ มีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีสำนักงานที่เป็นอิสระ ใช้งบประมาณในการบริหารกองทุนไม่เกิน ๓-๕ เปอร์เซ็นต์
- ให้เจ้าของรถมีหน้าที่จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย โดยกรมการขนส่งเป็นคนเก็บเบี้ยประกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการต่อทะเบียนรถยนต์
- ให้รัฐเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทน จึงเชื่อว่าทุกคนจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และให้เป็นหน้าที่แต่ละกองทุนที่จะตกลงกันภายหลังว่าเป็นภาระของกองทุนใด
- กรณีเจ้าของรถไม่ได้ทำประกันภัยไว้ หรือหาตัวเจ้าของรถที่ก่อความเสียหายไม่ได้ ให้กองทุนจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้ประสบภัยภายในสามสิบวัน โดยยังไม่ต้องพิสูจน์ว่าใครเป็นฝ่ายผิด
ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ……. กำลังอยู่ระหว่างเปิดให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนให้ครบหนึ่งหมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
คุณสามารถ มีส่วนร่วมได้ โดยร่วมเป็นหนึ่งในหมื่นชื่อที่เสนอกฎหมาย
ขั้นตอนและวิธี
1.กรอกข้อมูลในแบบ ข.ก.๑ ให้ครบถ้วน
2. แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง และขีดคร่อมว่า
– เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ….
3. แนบสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องและขีดคร่อมว่า
– เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ….
ส่งเอกสารทั้งหมดไปยัง
ตู้ ปณ. 55 ปณฝ.สุทธิสาร กรุงเทพฯ 10321
ไฟล์แนบ
- คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ-เดิม (184 kB)
- กองทุนสินไหม-ฉบับยังไม่สมบูรณ์ (150 kB)
- form-ข.ก.1 (68 kB)