สรุปบทเรียน การรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมาย : กรณีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สรุปบทเรียน การรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอกฎหมาย : กรณีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 ที่มาภาพ calos.a.martinez

ช่องทางการเสนอกฎหมายโดยประชาชนเข้าชื่อกันให้ครบ 10,000 ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นความหวังสำหรับการมีส่วนร่วมในการปกครอง การเคารพสิทธิของเสียงส่วนน้อย การรับฟังเสียงของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

หากนับย้อนกลับไปถึงช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งขณะนั้นกำหนดให้ต้องใช้รายชื่อประชาชนถึง 50,000 ชื่อ ก็เป็นระยะเวลารวม 12 ปีแล้วที่ประชาชนคนไทยมีสิทธิที่จะปกครองดูแลตัวเองได้ ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีความพยายามของประชาชนที่จะเสนอกฎหมายขึ้นหลายฉบับ องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนจำนวนมากเคยดำเนินการรวบรวมรายชื่อให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ

แต่ยังไม่เคยมีกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน ออกมาบังคับได้จริงเลยสักฉบับเดียว

กฎหมายหลายฉบับติดขัดในการรวบรวมชื่อของประชาชนให้ครบตามจำนวน  ความขัดข้องทั้งเรื่อง งบประมาณ การสื่อสาร ระยะเวลาที่จำกัด หลักฐานที่ต้องใช้  เหล่านี้ทำให้มีกฎหมายเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่ภาคประชาชนมีแรงส่งเข้มแข็งพอจะหารายชื่อและหลักฐานจำนวนมากให้ครบเพื่อเสนอต่อให้รัฐสภาพิจารณาได้

สารี อ๋องสมหวัง และรุจรี แสงแถลง ผู้มีบทบาทอย่างมากในการรวบรวมรายชื่อประชาชนจนครบ 52,772 ชื่อ เพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าสู่รัฐสภาได้สำเร็จเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2549 ได้จัดทำรายงานสรุปบทเรียนในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ และองค์กรหรือเครือข่ายที่ต้องการผลักดันกฎหมายผ่านช่องทางดังกล่าวต่อไป

ประเด็นสำคัญในรายงานสรุปบทเรียนฉบับนี้ไม่ได้มีเฉพาะการวิเคราะห์ปัญหาในระบบสาธารณสุขและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เครือข่ายร่วมกันผลักดัน แต่ยังเล่าถึงขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อจำนวนมาก ประสบการณ์ ข้อผิดพลาด ปัญหาและอุปสรรคที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น

• ขั้นตอนการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่ จัดประชุมวางแผน จัดทำร่างกฎหมาย การประกาศเจตนารมย์ ให้ความรู้กับประชาชน

• ปัญหาความล่าช้าการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง

• ขั้นตอนการทำงานกับฝ่ายรัฐและฝ่ายการเมือง

• ปัญหาทางเทคนิคที่น่าสนใจ เช่น ผู้ที่ลงชื่อเสนอกฎหมายแล้วภายหลังไม่ไปเลือกตั้งทำให้รายชื่อนั้นใช้ไม่ได้

• ผลทางอ้อมที่ได้รับ ทั้งด้านบวกและด้านลบ จากการทำงานรณรงค์และผลักดันกฎหมาย

• ที่มาของข้อเสนอต่างๆ เช่น การยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน การกำหนดกรอบเวลาให้รัฐสภาทำงาน การให้มีหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานและการร่างกฎหมาย

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ จากรายงานสรุปบทเรียนฉบับเต็ม ตามเอกสารแนบ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage