ที่มาภาพ tillwe
เมื่อเกิดกรณีบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หรือสันนิษฐานว่าถูก “อุ้ม” นั้น มักจะไม่ค่อยปรากฏว่าผู้กระทำความผิดถูกจับตัวมาลงโทษ สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่า ไม่มีหลักฐานมาเพียงพอที่จะเอาผิดกับผู้ใดได้ และถึงแม้ว่าจะสามารถโยงใยถึงผู้ที่เกี่ยวข้องได้บ้างแต่ก็ติดปัญหาข้อกฎหมายในการดำเนินคดี
เพราะเมื่อไม่มีศพ ก็แจ้งข้อหาฆ่าคนตายได้ลำบาก
ปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย แต่ในระดับสากลมีกฎหมายระหว่างประเทศวางหลักการเหล่านี้อยู่ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีหลักการที่น่าสนใจดังนี้
-
บุคคลใดๆ จะถูกบังคับให้หายสาบสูญมิได้ ไม่มีข้อยกเว้นแม้ในภาวะสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมือง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆ (ข้อ1.)
-
รัฐภาคีจะต้องประกันว่าการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายของประเทศตน (ข้อ 4.)
-
ต้องให้มีความรับผิดทางอาญารวมถึง ผู้สั่งการ ร้องขอ หรือสมรู้ร่วมคิดในการบังคับให้บุคคลสูญหาย ผู้บังคับบัญชาที่ทำเป็นไม่รู้ข้อมูลที่ชี้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาบังคับให้บุคคลสูญหาย (ข้อ 6.)
-
ผู้ร้องเรียนว่ามีการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญต้องได้รับการป้องกันจากการข่มขู่คุกคามอันเนื่องมาจากการร้องเรียน บุคคลที่ถูกร้องเรียนต้องไม่อยู่ในฐานะที่มีอิทธิพลมาขัดขวางการสืบสวนสอบสวนหรือข่มขู่คุกคามผู้ร้องเรียน พยาน หรือญาติของผู้หายสบสูญได้ (ข้อ 12.)
-
ผู้ตกเป็นเหยื่อมีสิทธิในการรับรู้ความจริงอันเกี่ยวข้องกับสภาพการณ์ของการบังคับให้บุคคลสูญหาย ความคืบหน้าและผลของการสืบสวนสอบสวน และชะตากรรมของบุคคลที่หาย (ข้อ24.)
น่าเสียดายที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฉบับนี้ ถ้าหากประเทศไทยลงนามแล้ว จะมีผลให้รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาเช่นเดียวกันมารองรับหลักการดังกล่าว
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จึงเคลื่อนไหวโดยการระดมรายชื่อจากประชาชนทั่วไปผู้มีความคิดเห็นตรงกันเพื่อร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ลงนามเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับดังกล่าว โดยตั้งเป้าว่าจะนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อรัฐบาลในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 6 ปี การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
อนึ่ง การระดมรายชื่อครั้งนี้ไม่ใช่การเข้าชื่อกันให้ครบหนึ่งหมื่นชิ่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติให้รัฐสภาพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 แต่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยได้
อ่านเนื้อหาอนุสัญญาได้ที่ หนังสือ การสูญหายของบุคคลหรือการสูญหายของความยุติธรรม (The Disappearance of Persons is The Disappearance of Justice)
คุณสามารถมีส่วนร่วมได้
ขั้นตอนและวิธี
1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มลงชื่อสนับสนุนให้รัฐบาลร่วมลงนามเข้าเป็นภาคี
ในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ
2. ลงนามในแบบฟอร์ม
3. พับตามรอยปะ ติดแสตมป์ และส่งตู้ไปรษณีย์
ไฟล์แนบ
- Enforce-disappearance-signing (464 kB)