แล้วเราจะแก่ไปด้วยกัน : บำนาญชราภาพ หลักประกันชราภาพสำหรับทุกคน

ครั้งที่แล้วได้นำเสนอข้อมูลเรื่อง “หลักประกันชราภาพ” ไว้คร่าวๆ เกี่ยวกับความหมายและทิศทางการจัดตั้งระบบนี้ขึ้นในสังคม ใน “แล้วเราจะแก่ไปด้วยกัน…อย่างไร” ครั้งนี้จะนำรายละเอียดเกี่ยวกับระบบหลักประกันชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพ มานำเสนออีกครั้ง เพื่อให้เห็นทิศทางและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งระบบนี้

ทำไมต้องมีบำนาญชราภาพ 
ประเทศไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี เกินกว่าร้อยละ 10 ซึ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆและประมาณการณ์ว่า อีกราว 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่ง ณ เวลานั้นอาจเรียกได้ว่าไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว 

ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สัดส่วนประชากรวัยแรงงานกลับมีแนวโน้มลดลง ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าด้านการแพทย์ก็ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นสังคมในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในวัยชรายาวนานขึ้น และอาจไม่มีครอบครัวคอยเกื้อหนุนเนื่องจากไม่มีลูกหลาน หรือลูกหลานมีภาระทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูได้  

นอกจากการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในประชากรผู้สูงอายุแล้ว ยังมีภาวะอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรงซึ่งทำให้ผู้สูงอายุไทยต้องเผชิญกับภาวะขาดความมั่นคงทางชีวิต เช่น เป็นหม้าย การศึกษาต่ำ ความยากจน การย้ายถิ่นของคนหนุ่มสาว ถูกทอดทิ้ง ความรู้สึกว่าไม่มีค่า เป็นต้น 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักประกันรายได้ในวัยสูงอายุ ซึ่งโดยหลักการแล้ว รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางชีวิตและสังคม

ที่มาภาพ digital agent

 
ทำไมไม่ให้บำนาญชราภาพเฉพาะคนที่ยากจน
เดิมที ประเทศไทยมีการจัดสรรเบี้ยยังชีพให้แก่คนชรา แต่เป็นเบี้ยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น กลไกนี้เกิดปัญหาในขั้นตอนการพิสูจน์ความยากจนว่า ใครบ้างคือผู้เหมาะสมที่จะได้รับเบี้ยยังชีพ จึงเกิดปัญหาการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส และในบางพื้นที่ การได้รับเบี้ยยังชีพขึ้นอยู่กับความสนิทสนมกับนักการเมืองท้องถิ่น 
  
ด้วยระบบลักษณะนี้จึงไม่อาจเรียกได้ว่า เบี้ยยังชีพเป็น “หลักประกัน” สำหรับบุคคลในยามชราภาพได้ ทั้งยังทำให้เกิดการแบ่งแยกสถานะในสังคมระหว่างคนรวยกับคนจนอีกด้วย 
 
แม้ว่าเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 การจัดสรรเบี้ยยังชีพได้พัฒนาขึ้นจากเดิมที่ให้กับผู้สูงอายุที่ยากจน ขาดรายได้ ขาดคนดูแล เป็นการให้ “ทุกคน” อย่างทั่วถึง เปลี่ยนจากหลักการ สงเคราะห์ มาอยู่บนหลักการเรื่อง สิทธิ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่า จำนวนเงินของเบี้ยยังชีพจำนวน 500 บาทต่อเดือนนั้น เพียงพอหรือไม่สำหรับการดำรงชีวิต
 
ทำไมต้อง 1,500 บาท …การยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญประชาชนในอัตราที่อยู่ได้จริง
ดัชนีชี้วัดรายได้ที่เพียงพอต่อค่าอาหารในการยังชีพ คือ เส้นความยากจนi  ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 เส้นความยากจนของคนไทยคือผู้ที่มีรายได้เท่ากับ 1,443 บาทต่อเดือน หากกำหนดสวัสดิการชราภาพโดยใช้เกณฑ์เริ่มต้นใกล้เคียงกับเส้นความยากจน และกำหนดให้ต้องปรับปรุงอัตราเพิ่มเติมโดยอ้างอิงเส้นความยากจนและภาวะเงินเฟ้อ ก็จะทำให้บำนาญพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุใกล้เคียงความจริง ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจากการคำนวณของนักเศรษฐศาสตร์ พบว่า หากรัฐจัดบำนาญพื้นฐานเมื่ออายุ 60 ปี ในอัตราที่ใกล้เคียงเส้นความยากจน 1,500 บาท/เดือน ในปี พ.ศ.2553 รัฐจะใช้งบประมาณ 142,182 ล้านบาท และเมื่อคำนวณข้ามไปอีก 40 ปีข้างหน้าคือ พ.ศ. 2593 รัฐจะใช้งบประมาณสำหรับบำนาญชราภาพ 320,460 ล้านบาท
 
จะเอาเงินมาจากไหน
จากสถานะทางการเงินการคลังกับอัตราภาษีและฐานภาษีที่รัฐเก็บอยู่ในปัจจุบันนั้น รัฐบาลไม่มีศักยภาพพอที่จะจัดบำนาญให้ผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดเก็บภาษีที่ทั่วถึงและเป็นธรรม ภาษีสำคัญของประเทศอย่างภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นก็เป็นภาระของคนจน  
 
จากการศึกษาพบว่า เกิดภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยในสังคมไทยผ่านการถือครองที่ดิน โดยที่ดินยังคงกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม และคนเหล่านี้ก็ถือครองรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด 
 
 
ดังนั้น นโยบายการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมจึงเป็นหนทางที่จะทำให้รัฐมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดบำนาญชราภาพให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปี ซึ่งรัฐสามารถทำได้ด้วยการแก้นโยบายด้านการเสียภาษี เช่น การแก้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อปฏิรูประบบภาษีไปสู่การจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งมูลค่าภาษีที่ดิน ประมาณการณ์จากราคาที่ดินโดยเฉลี่ยในแต่ละจังหวัด ถ้าเก็บได้จริงร้อยละ 50 รัฐจะมีรายได้ปีละ 216,957.087 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้สำหรับบำนาญพื้นฐาน ที่จะให้กับผู้สูงอายุปี 2553 ราว 142,000 ล้านบาท ถือว่ารัฐมีรายได้ “เหลือเฟือ” เมื่อเทียบกับรายจ่าย
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน
หลักการการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอต่อรัฐบาล มีสาระสำคัญคือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง กรณีที่ถือเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินสิ่งปลูกสร้างนั้น ถ้าหาเจ้าของไม่ได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ตั้งในเขตนั้น ภาษีที่เก็บได้ก็เป็นของเขตนั้น 
 
อัตราภาษีในร่างกฎหมาย ก็กำหนดไว้ 3 อัตราเป็นเพดานสูงสุด (อัตราจริง ๆ ให้แต่ละท้องถิ่นไปพิจารณาจัดเก็บ แต่ผ่านราคากลางที่ดินที่ประมาณโดยรัฐ)
  • อัตราภาษีทั่วไป ร้อยละ 0.5
  • อัตราภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยของตนไม่ได้ประกอบเชิงพาณิชย์ร้อยละ 0.1 ยกเว้นบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านในกรุงเทพ และ5 แสนบาทในต่างจังหวัด
  • อัตราภาษีสำหรับเกษตรกรรมที่ดินที่ใช้ ไม่เกินร้อยละ 0.05
อัตราภาษีที่ที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า เก็บอัตราที่สูงสุด ร้อยละ 0.5 ใน 3 ปีแรก แต่ถ้าไม่ทำประโยชน์อีกก็เพิ่มอีก 1 เท่า มีคณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีทุกรอบ 4 ปีว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง 
 
ประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้ได้ระบบภาษีที่ดินที่ดีขึ้น ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น จัดเก็บได้ทั่วถึง เป็นธรรม ลดการเก็งกำไรของที่ดิน ประมาณการณ์โดยกระทรวงการคลังว่าหากเก็บภาษีได้เต็มพื้นที่ในปีแรก จะเก็บได้กว่า 1 แสนล้านบาท
 
ร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันชราภาพแห่งชาติ (กองทุนบำนาญประชาชน) พ.ศ. … 
จากความพยายามที่จะลดช่องว่างทางสังคมให้เกิดการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข การทำให้เกิดสวัสดิการทางสังคม นำมาซึ่งกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยตรงของภาคประชาชน ซึ่งรวมเครือข่ายประชาชนจากทุกภาคส่วน และกลุ่มนักวิชาการทางสังคม ภายใต้เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จึงเสนอให้มีหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุยามชราภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญ เป็นหลักประกันคุณภาพแห่งชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีในการเป็นพลเมืองของประเทศและมีชีวิตอยู่ในสังคมโดยตลอดเวลาได้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมทั้งทางตรงและทางอ้อม 
 
“ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันชราภาพแห่งชาติ” จึงถูกเสนอขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันของทุกคน เมื่อวันหนึ่งที่เราสูงอายุ เราจะแน่ใจได้ว่าจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ภายใต้สังคมประชาธิปไตย ซึ่งตอบสนองตอบความต้องการของประชาชน เป็นสังคมที่อยู่ดีมีสุข มีสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชนทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน
 

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage