เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี เกินกว่าร้อยละ 10 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าอีกราว 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 4ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกัน ไม่ใช่เพียงจำนวนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุ ยังต้องเผชิญกับภาวะขาดความมั่นคงทางชีวิตอีกหลายประการ เช่น เป็นหม้าย การศึกษาต่ำ ความยากจน ถูกทอดทิ้ง ความรู้สึกว่าไม่มีค่า เป็นต้น
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนจากทุกภาคส่วน และกลุ่มนักวิชาการทางสังคม จึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักประกันรายได้ในวัยสูงอายุให้กับประชาชนทุกคนโดยเท่าเทียม เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพแห่งชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีในการเป็นพลเมืองของประเทศ โดยเห็นว่าระบบประกันสังคม ระบบการให้เบี้ยยังชีพเดือนละ 500 บาทและระบบกองทุนการออมแห่งชาติยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจึงเสนอระบบ หลักประกันชราภาพ ขึ้น ด้วยวิธีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันชราภาพแห่งชาติ ให้เป็นกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน มีหลักการที่น่าสนใจดังนี้
- ประชาชนทุกคนเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์มีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ
- ประชาชนที่มีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ ให้รวมทั้งคนที่มีสัญชาติไทย และคนที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและเสียภาษีอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสิบปี
- ให้มีคณะกรรมการหลักประกันชราภาพแห่งชาติขึ้น มีอำนาจหน้าที่ กำหนดอัตราบำนาญชราภาพที่จะให้แก่ประชาชนและพิจารณาใหม่ทุกสามปี พิจารณางบประมาณที่ต้องใช้ กำหนดวิธีการจ่าย ตรวจสอบการจ่าย ฯลฯ
- ในวาระเริ่มแรกให้กำหนดบำนาญรายเดือนที่หนึ่งพันห้าร้อยบาท
ด้วยความหวังว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานนี้เพื่อเป็นหลักประกันจากรัฐว่า ประชาชนทุกคนจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีสวัสดิการที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่จำกัดระดับการศึกษา ไม่จำกัดศักยภาพ ไม่จำกัดเพศและวัย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจึงดำเนินการระดมรายชื่อจากประชาชนทุกภาคส่วนให้ครบหนึ่งหมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันชราภาพแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
คุณสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยร่วมเป็นหนึ่งในหมื่นชื่อที่เสนอกฎหมาย
ขั้นตอนและวิธี
1. กรอกข้อมูลในแบบ ข.ก.๑ ให้ครบถ้วน
2. แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง และขีดคร่อมว่า
– เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.หลักประกันชราภาพแห่งชาติ พ.ศ….
3. แนบสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องและขีดคร่อมว่า
– เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.หลักประกันชราภาพแห่งชาติ พ.ศ….
ส่งเอกสารทั้งหมดไปยัง
ตู้ ปณ. 55 ปณฝ.สุทธิสาร กรุงเทพฯ 10321
ไฟล์แนบ
- draft-pension (49 kB)
- form-for-signing-pension (43 kB)
- draft-pension-act (49 kB)