บทความโดย สมบุญ สีคำดอกแค
ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
ที่มาภาพ : niosh
มองย้อนไปในอดีต 16 ปีที่ผ่านมา เกิดโศกนาฎกรรมซ้ำซากที่ทำให้สูญเสีญสุขภาพร่างกาย สุขภาพใจ และสูญเสียชีวิต ของคนงาน นำมาสู่หายนะของครอบครัว ซ้ำร้ายยังเกิดการกล่าวขานไปในทางไม่ดีไปทั่วโลก
เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สะเทือนขวัญแรงงานไทย ได้แก่ กรณีชุมชนคลองเตยถูกผลกระทบจากสารเคมีระเบิดที่คลองเตย (2 มี.ค. 34) มีผู้เสียชีวิต 4 คน บ้านเรือน 642 หลังคาเรือนเสียหายในกองเพลิง กรณีโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม ไฟไหม้ตึกถล่ม จนทำให้คนงานวัยหนุ่มสาวต้องตายถึง 188 ศพและบาดเจ็บถึง 469 ราย (10 พ.ค. 36) กรณีโรงงานรอยัลพลาซ่าถล่ม (13 ส.ค. 36) มีคนงานข้าราชการ นักท่องเที่ยว ตายรวม 167 ราย บาดเจ็บกว่า 200 ราย กรณีไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน (11 ก.ค. 40) ทำให้คนงาน นักท่องเที่ยว และพนักงานไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตายรวมจำนวน 91 รายบาดเจ็บกว่า 50 ราย กรณีโรงงานอบลำไยแห้งบริษัทหงษ์ไทยระเบิด (19 ก.ย. 42) คนงานเสียชีวิต 36 คน บาดเจ็บ 2 ราย ชุมชนสันป่าตองบริเวณ รอบโรงงานรัศมี 1 กิโลเมตร บ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล เสียหายกว่า 571 หลังคาเรือน และชาวบ้านบาดเจ็บ 160 ราย จะเห็นว่าผลกระทบเหล่านี้ยังขยายตัวออกมาสู่คนในชุมชน เช่น ชุมชนแม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นต้น
จากการเจ็บป่วย บาดเจ็บ และเสียชีวิต กว่าจะได้รับสิทธิทดแทนนั้น ต้องมีขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของญาติผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเรียกร้องอย่างยากเย็นและใช้เวลานาน แต่การสูญเสียบุคคลที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ไม่มีอะไรชดใช้ได้
ช่วงนี้เอง ที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 6 ก.พ. 36 จากการรวมตัวกันของคนงาน ‘โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายเนื่องจากการทำงานในโรงงานทอผ้าปั่นด้าย‘ ที่เจ็บป่วยและปอดเสื่อมสมรรถภาพอย่างถาวร เรียกร้องสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ทั้งถูกปฎิเสธจากนายจ้างและจากกองทุนเงินทดแทน ต้องฟ้องร้องกันหลายร้อยคดี คนป่วยรวมกันหลายพันคน บางรายถูกปลดออกจากงาน บางรายทำงานไม่ไหวก็ต้องลาออกเอง แต่หลายรายก็ถูกนายจ้างปลดออกจากงานทั้งๆ ที่ป่วยอย่างไร้ความปราณี
สภาเครือข่ายกลุ่มมผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ต้องต่อสู้คดีกับนายจ้างและกองทุนเงินทดแทนเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันรวมเวลาที่ต่อสู้คดีฝุ่นฝ้าย ใช้เวลาไปแล้ว 14 ปี
จากการต่อสู้ของผู้ป่วยในประเด็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ก็ขยายวงไปยังประเด็นอื่นๆ เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยหลายๆ โรคจากหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม
หลายฝ่ายเริ่มคิดร่วมกันว่า การเรียกร้องสิทธิ ทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ในขณะที่ตัวเลขสถิติทางกระทรวงแรงงานก็มีผู้บาดเจ็บประสบอันตรายจากการทำงาน ปีละ 200,000 คน ยังไม่รวมกับผู้ป่วยด้วยโรคจากสารเคมี มลพิษสิ่งแวดล้อมในโรงงานที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ เพราะขาดแพทย์และระบบการวินิจฉัยโรครองรับ หรือเพราะคนงานไม่รู้ นายจ้างไม่ส่งเรื่องเข้ากองทุน ฯลฯ
1
กำเนิดร่างพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ
การเรียกร้องทางนโยบายเริ่มเกิดขึ้น เช่น เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์และหน่วยงานที่เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยสถาบันคุ้มครอง สุขภาพคน งาน โดยผลักดันเป็นกฏหมาย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เรียกร้องในนามสมัชชาคนจน ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาล สมัย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี จนได้มติ ครม. 26 มี.ค. 40 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง ใช้ระยะเวลาร่วมร่าง 6 เดือน จนได้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับสมบูรณ์ “ร่างพ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานกระกอบการ พ.ศ. ….” แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถูกระงับไปเสียก่อนจะถูกเสนอเข้า ครม.
ต่อมา ปี พ.ศ.2544 เริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเอาข้อเสนอเรื่องร่าง พ.ร.บ.ไปเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานมาจนถึงปัจจุบัน
2
ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัยฯ ฉบับบูรณาการ
เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล สมัยคุณลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก็ออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. และยื่นเข้าสู่ ครม.ไปควบคู่กับ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯ เป็น 2 ฉบับ ในขณะนั้น และถูกตีกลับมายังกระทรวงแรงงานใหม่
ในวันที่ 14 ก.ค.44 กระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับใหม่ เข้าด้วยกัน ในส่วนของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ สมัชชาคนจน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ผู้นำแรงงาน ก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณารวมร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ด้วย รวมกันแล้วใช้ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. … (ฉบับบูรณาการ)” ซึ่งเป็นร่างที่ยอมรับได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฯ ยังคงอยู่เหมือนเดิม เช่น มีการตั้งองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการบริหารงาน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ และภาคีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ (ภาคีผู้ถูกผลกระทบ) โดยทำงานครบวงจร เช่น รักษา ฟื้นฟู ทดแทน โอนสถาบันความปลอดภัย และกองทุนเงินทดแทนมาอยู่ในสถาบันเสริมความปลอดภัยฯ ภายใน 5 ปี
3
ร่างฉบับกลายพันธุ์ เป็น “ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ“
แต่เมื่อร่างกฎหมายฉบับบูรณาการเสร็จแล้ว ก็มีอันเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง จนต่อมา ปี 2547 กระทรวงแรงงานก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ชื่อว่า “พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …” ยื่นเข้าสู่ ครม. โดยเสนอตีคู่ไปกับ “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. … (ฉบับบูรณาการ)”
ครม.มีมติรับหลักการให้รวมร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เข้าด้วยกันอีกเป็นครั้งที่สอง และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารวมร่าง 2 ฉบับออกมาเป็น “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …” ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้งกองทุนความปลอดภัยในการทำงาน โดยเอาเบี้ยดอกผลของกองทุนเงินทดแทนมาเป็นกองทุนเพื่อให้นายจ้างกู้ไปจัด ซื้ออุปกรณ์ จัดการความปลอดภัยในการทำงาน สนับสนุนงานวิชา การและการรณรงค์ บริหารจัดการโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ส่วนการจัดตั้งองค์กรอิสระตาม “ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….” ให้ไปอยู่ใน มาตรา 52 ของ “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….” โดยมีเนื้อหาเพียง 3 บรรทัดว่า “หากมีความพร้อมเมื่อใด ให้จัดตั้งองค์กรอิสระ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และเป็นองค์กรอิสระด้านที่ทำหน้าที่ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
มีข้อสังเกตว่า ทำไมกระทรวงแรงงาน ถึงไม่ยอมรับร่างฉบับบูรณาการที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็มีส่วนร่วม และทำไมต้องนำ ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ขึ้นมาใหม่ เพื่อประกบ โดยอ้างว่าเป็นร่างกฎหมายแม่บทในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน
แท้จริงแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. (ฉบับกระทรวงแรงงาน) ก็นำเอาสาระสำคัญของหลายๆ มาตราของร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. …. ไปบรรจุไว้ใน ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ….
ในขณะที่ร่างกฎหมายของกระทรวงแรงงานเน้นการบริหารโดยราชการที่ไปเพิ่มอำนาจให้ภาครัฐ โดยการสร้างองค์กรใหม่ในหน่วยงานภาครัฐ ที่คนทำงานก็เป็นคนเดิมๆ ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับแรงงาน อีกทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพที่ให้นายจ้างหรือองค์กรเอกชนกู้ยืมเงินในการส่งเสริมความปลอดภัย แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับแรงงานโดยตรง ซึ่งจุดนี้ดูเหมือนเป็นการแสวงหาผลกำไรมากกว่า
แต่เมื่อมาดูในส่วนเนื้อหาสาระ จะพบว่า ร่างกฎหมายฉบับของแรงงาน มีความแตกต่างจากฉบับของกระทรวงแรงงานมาก ดังนั้น เรื่องนี้ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิด
4
ทำไมภาคประชาชน ต้องผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันฯ
ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ได้ผลักดันร่างพ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับบูรณาการ ที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปัญหา เน้นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม บริหารโดย จตุภาคี ที่ทำงานแบบครบวงจร คือ รักษา คุ้มครอง ทดแทน ฟื้นฟู รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบสถานประกอบการ และเป็นต้นแบบคลินิกโรคจากการทำงาน และออกเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการปฎิรูประบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ ทันสมัย
ซึ่งต่อมาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ สมัชชาคนจน สมานฉันท์แรงงานไทยนักวิชาการ องค์กรเอกชน ได้ร่วมกันคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ของกระทรวงแรงงาน และได้ตัด มาตรา 52 ออก
ทั้งนี้สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ก็ยังเสนอต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยฯ ไว้ เพราะเห็นว่าการออกกฎหมายนี้ มิได้ปฎิรูประบบสุขภาพความปลอดภัย ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเรื่องสุขภาพความปลอดภัยได้ เพราะขาดการมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ภาครัฐก็เป็นคนเดิม จำนวนเท่าเดิม ในหน่วยงานเดิมๆ ซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายที่ล้าหลังกว่า พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
ผู้ใช้แรงงาน จึงใช้วิธีการเข้าชื่อหมื่นรายชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 เพื่อเสนอกฎหมาย (โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้เคยมีการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อมาแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2541 แต่ช่วงนั้นการเข้าชื่อยังไม่มีกฎหมายลูก การเข้าชื่อจึงไม่เป็นผล) แต่ในปัจจุบันการเข้าชื่อยังไม่ครบ 10,000 รายชื่อได้เพียง 8,000 รายชื่อเท่านั้น เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคมากมาย
ในวันที่ 8 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้นำเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ต่างๆ เช่น อ้อมน้อย–อ้อมใหญ่ พระประแดง บางพลี สมุทรปราการ อยุธยา และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก ได้ชุมนุมเพื่อประท้วงพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ทำตามสัญญา ซึ่งในสมัยเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้มีมติรับหลักการ ยึดถือ พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯเป็นร่างของพรรค แต่พอได้เป็นรัฐบาลกลับผ่านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ไปยัง ครม. และกำลังจะผ่านเข้าไปในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ใน การชุมนุม นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าพบและรับหนังสือคัดค้าน พร้อมทั้งรับปากว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอนายกฯ ให้เร็วที่สุด โดยนายชุมพลกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธาน ส.ส.พรรค เมื่อมีใครเดือดร้อนตนจะเป็นผู้รับเรื่องไว้ เพื่อให้นายกฯ พิจารณาสั่งการ และจะติดต่อกลับไปตามที่อยู่ที่มีการระบุไวในหนังสือ รวมทั้งเดือนสิงหาคม 2552 มีพรรคฝ่ายค้าน เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ที่เพิ่มมาตรา 52 ทั้ง 2 ฉบับคือนายสุชาติ ลายน้ำเงิน กับนายเจริญ จรรย์โกมล
ปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน เป็นปัญหาที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา นับวันจะวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้านับสถิติที่มีคนประสบอันตรายปีละ 2 แสนราย รวม 5 ปีจะมีคนงานประสบอันตรายและเสียชีวิต 1 ล้านคน ที่ต้องสังเวยไปกับอุตสาหกรรม เป็นคนป่วย บาดเจ็บ คนพิการ และเสียชีวิตจากการทำงาน ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ทำได้เป็นรายกรณีไป ไม่สามารถติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในขณะที่ระบบยังคงไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาแรงงานเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โรคที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในกลุ่มแรงงานทุกอุตสาหกรรม ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติด้วยแล้ว คือ โรคกล้ามเนื้ออักเสบและกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคจากสารเคมี ซึ่งนอกจากแรงงานจะประสบกับปัญหาความเจ็บป่วย ยังมีเรื่องของการฟ้องคดีเนื่องจากกองทุนเงินทดแทนตีความว่า ไม่ใช่การป่วยจากการทำงาน และการถูกนายจ้างให้ออกจากงานทำให้มองได้ว่า ปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในรอบ 16 ปีนี้ หาได้ดีขึ้นแต่อย่างใด กลับยิ่งเลวร้ายมากขึ้นตลอดเวลา
ในส่วนการรักษาพยาบาล แม้ล่าสุด การเรียกร้องของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงแรงงาน ทำข้อตกลง MOU ให้มีโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์จำนวน 25 แห่ง (คลินิกโรคจากการทำงาน) ในประเทศไทย เพื่อตรวจรักษาโรคการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ แต่ก็ยังไม่มีระบบการตรวจรักษาที่ครบวงจรอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง การตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของโรคต้องไปตรวจกับโรงพยาบาลภายนอก และผู้ป่วยต้องเป็นคนเสียค่าใช้จ่ายเอง แพทย์เชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็มีน้อยมาก แพทย์ที่มีก็ยังทำงานไม่เต็มเวลา งบประมาณในการตั้งคลินิกก็น้อย แรงจูงใจไม่มี
นอกจากนี้ ผู้ใช้แรงงานยังไม่รู้ว่า มีโรงพยาบาลด้านอาชีวเวชศาสตร์ให้บริการ ซึ่งก็เรียกร้องให้ทางผู้เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นความชอบธรรม ที่ผู้ใช้แรงงานจำเป็นจะต้องมีองค์กรอิสระด้านความปลอดภัย สมควรที่จะผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองป้องกัน
การเสนอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ เป็นสิ่งไม่สมควร ไม่แก้ต่อปัญหาที่มีอยู่ และเป็นการเสนอกฏหมายเพื่อลวงตา แท้จริงแล้ว เป็นการกระทำที่ต้องการหวงอำนาจไว้ในมือของรัฐแต่ฝ่ายเดียวและ เอาใจนายทุนเท่านั้น