วิเคราะห์เปรียบเทียบ : ร่างกฎหมายเข้าชื่อ ฉบับสถาบันพระปกเกล้า VS ฉบับมสช.

รัฐธรรมนูญ 2550 เปิดพื้นที่ให้ประชาชนหนึ่งหมื่นชื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ จำนวนหมื่นชื่อนี้ถูกปรับลดจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ถึง 5 เท่า

แน่นอนว่า การลดเงื่อนไขจากห้าหมื่นรายชื่อลงมาเป็นหนึ่งหมื่นชื่อ อาจช่วยให้การเสนอกฎหมายของประชาชนง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีขั้นตอนเรื่องวิธีการเข้าชื่อ การตรวจสอบรายชื่อ รวมถึงมีอุปสรรคเดิมๆ อย่างเช่นความล่าช้าในการตรวจสอบเอกสารของภาครัฐ

รายละเอียดของขั้นตอนการเสนอชื่อกฎหมาย บัญญัติเอาไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2542 ซึ่ง เป็นกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาล้อกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน มาในวันนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดเขียนเนื้อหาเรื่องการล่าชื่อไว้ต่างไปจากเดิม กฎหมายฉบับดังกล่าวก็ต้องปรับเนื้อหาใหม่ให้สอดคล้องกัน

ล่าสุด “ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ….” มีหลายฝ่ายร่างเนื้อหาขึ้นมาหลายแบบ ในบรรดาร่างทั้งหมด มีอยู่ 2 ฉบับที่ยกร่างขึ้นและจะใช้วิธีผลักดันกฎหมายด้วยการระดมชื่อจากประชาชนให้ครบหนึ่งหมื่นชื่อ

ฉบับแรก เจ้าภาพร่างคือ สถาบันพระปกเกล้า

ฉบับที่สอง เจ้าภาพร่างคือ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

ทั้งสองฉบับมีหลักการพื้นฐานไม่ต่างกันมากนัก กล่าวคือ ใช้เอกสารแนบเพียงหนึ่งอย่าง มีกำหนดขอบเวลาการทำงานของภาครัฐ และมีกลไกส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฉบับมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ลองสังเกตประเด็นที่ทั้งสองค่ายคิดเห็นไม่เหมือนกัน

ฉบับมสช. กำหนดให้ผู้ลงชื่อเสนอกฎหมายเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (แปลว่า มีอายุ 18 ปี ไม่เป็นพระภิกษุ คนวิกลจริต ถูกจำคุก ฯลฯ)

ฉบับสถาบันพระปกเกล้า กำหนดเรื่องนี้ไม่ต่างกัน แต่เติมท้ายแถมว่า ห้ามผู้อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงชื่อเสนอกฎหมาย

ฉบับมสช. ให้เลือกใช้เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาเอกสารอื่นใดที่ราชการออกให้ที่มีรูปถ่ายของตัวเอง หรือจะใช้สำเนาทะเบียนบ้านก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอแล้ว

ฉบับสถาบันพระปกเกล้าให้เลือกใช้ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาเอกสารอื่นใดที่ราชการออกให้ ที่มีรูปถ่ายและต้องมีเลขประจำตัวประชาชนด้วย ส่วนสำเนาทะเบียนบ้านไม่ต้องใช้และไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการเข้า ชื่อเสนอกฎหมายได้

ฉบับมสช. หลังยื่นหมื่นชื่อแล้ว จะมีการประกาศรายชื่อทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมาคัดค้าน จากนั้นจึงให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ซึ่งหากไม่ครบก็มีช่วงต่อเวลาให้หาชื่อเพิ่มภายในหกสิบวัน

ฉบับสถาบันพระปกเกล้า หลังยื่นหมื่นชื่อแล้ว ประธานรัฐสภาตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ซึ่งหากไม่ครบก็มีช่วงต่อเวลา ให้หาชื่อเพิ่มภายในเก้าสิบวัน จากนั้นจะประกาศรายชื่อทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนมาคัดค้าน ซึ่งถ้ามีการคัดค้านจนรายชื่อไม่ครบหนึ่งหมื่นชื่อ ก็ไม่มีโอกาสแก้ไขอีกแล้ว ต้องจำหน่ายเรื่องนั้นออกเลย

ฉบับพระสถาบันปกเกล้า กำหนดให้การประกาศรายชื่อเพื่อให้ประชาชนมาตรวจสอบรายชื่อนั้น นอกจากวิธีการปิดประกาศแล้ว ยังให้ประกาศผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของสภาผู้แทนราษฎรด้วยส่วนฉบับมสช.ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้

ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับมีกรณีที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วย ในการจัดหารายชื่อได้หากประชาชนต้องการ โดยฉบับสถาบันพระปกเกล้าให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการการ เลือกตั้งประจำจังหวัดได้ด้วย แต่ฉบับมสช.ต้องยื่นต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น

กรณีที่ให้กกต.ช่วยจัดหารายชื่อมีเงื่อนเวลาของระยะการลงชื่อ นับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดให้ประชาชนลงชื่อวันแรกจนถึงวันปิดลงชื่อ โดยฉบับมสช. กำหนด ให้ต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน ขณะที่ฉบับสถาบันพระปกเกล้ากำหนดให้มีระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่าเก้าสิบ วัน

กรณีที่ให้กกต.ช่วยจัดหารายชื่อนั้น หลังจากที่ประชาชนยื่นชื่อได้ครบตามจำนวนแล้ว ฉบับมสช. กำหนดกรอบเวลาให้กกต.ต้อง จัดทำทะเบียนหรือรวบรวมรายชื่อเพื่อส่งให้ประธานรัฐสภาให้เสร็จภายในสามสิบ วันหลังจากที่เปิดให้ประชาชนมาลงชื่อแล้ว แต่ร่างฉบับสถาบันพระปกเกล้าไม่มีกำหนดเวลาไว้

กรณีมีคนที่ไม่ได้ลงชื่อแต่ปรากฏมีชื่อของตนอยู่ในรายชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับสถาบันพระปกเกล้าให้เวลามาคัดค้านได้ยี่สิบวัน แต่ฉบับมสช.ขยายให้เป็น สามสิบวัน

ตามมาตรา 291 (1) ของรัฐธรรมนูญ 50 ระบุว่า ทางหนึ่งในการแก้ไขรธน.ทำได้ด้วยการเข้าชื่อของประชาชนห้าหมื่นชื่อ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ร่างกฎหมายการเข้าชื่อฉบับสถาบันพระปกเกล้า มิได้มีมาตราใดที่พูดถึงเรื่องนี้เลย

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาแล้ว ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับยังมีรายละเอียดเล็กน้อยในแง่ของนิติวิธีและการปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่บ้าง

ในวันนี้ คนไทยสามารถเสนอกฎหมายเองได้ และคงเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจ หากการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้น มาจากการเสนอชื่อโดยประชาชน

คุณสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยร่วมเป็นหนึ่งในหมื่นชื่อที่เสนอกฎหมาย

ขั้นตอนและวิธี

1. กรอกข้อมูลในแบบ ข.ก.๑ ให้ครบถ้วน

2. แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง และขีดคร่อมว่า

– เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ….

3. แนบสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องและขีดคร่อมว่า

– เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ….

หากคุณเห็นด้วยกับ “ฉบับมสช.” ส่งเอกสารทั้งหมดไปยัง

โครงการพัฒนาการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน กองกำเนิดงาน เพื่อสร้างสังคมเข็มแข็ง
224/69 ซ.ลาดพร้าว 94 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10260 โทร. 089-769-9125 อีเมล [email protected]

หากคุณเห็นด้วยกับ “ฉบับสถาบันพระปกเกล้า” ส่งเอกสารทั้งหมดไปยัง

สำนักอำนวยการ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง เลขที่ 2 อาคารรำไพพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนหลานหลวง แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ 10100
โทร. 02-280-6371-5 โทรสาร 02-280-6378-80

วิเคราะห์เปรียบเทียบ : ร่างกฎหมายเข้าชื่อ ฉบับสถาบันพระปกเกล้า VS ฉบับมสช.
ภาพจาก sxc.hu
 
 

 

ไฟล์แนบ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage