ร่างพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์) เป็นร่างที่พัฒนาต่อยอดมาจาก ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 16 มกราคม 2561 ก่อนจะแก้ไขเพิ่มเติมและ “กลายร่าง” มาเป็นร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ กฎหมายดังกล่าวได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 สนช. ได้มีมติรับหลักการ(เห็นชอบวาระหนึ่ง) กฎหมายฉบับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาจทำให้หลายคนสงสัยอยู่ว่าจะมีการเปลี่ยนอย่างไรบ้าง แล้วบทบาทหน้าที่ยังเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ ดังนั้น เรามาเริ่มสำรวจที่มาที่ไปของ สศช. หรือ สภาพัฒน์และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับนี้กันดีกว่า
สศช. หรือ สภาพัฒน์ คืออะไร มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาอย่างไรแล้วบ้าง ?
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2493 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สอง โดยในระยะแรกใช้ชื่อว่า “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” มีหน้าที่เสนอความเห็นและคำแนะนำตลอดจนข้อชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ
ในปี 2501 ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของสภาให้มีมากขึ้นกว่าเดิม โดยได้รับคำแนะนำจากคณะผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก เสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนมีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่วางแผนพัฒนาประเทศขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ดังนั้นในปี 2502 จึงมีการปรับโครงสร้างการทำงานและเปลี่ยนชื่อของหน่วยงานแห่งนี้ใหม่เป็น "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ" หรือที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “สภาพัฒน์”
ถัดมาปี 2515 ขณะนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหารในปี 2514 มีการนำการวางแผน “พัฒนาสังคม” มาใช้ควบคู่กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจด้วย จึงมีการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อย่างเป็นทางการจนปัจจุบัน อยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีตลอดมา
จนกระทั้งปี 2561 ทหารได้เข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งภายใต้ชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ ฉบับใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทอีกครั้ง
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ ฉบับใหม่ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ ฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับหน่วยงานเดิม เช่น การเปลี่ยนชื่อเรียกบอร์ดบริหาร องค์ประกอบของคณะกรรมการ และบทบาทหน้าที่ ซึ่งพอจะสรุปสาระสำคัญของกฎหมายได้ดังนี้
(1) เปลี่ยนชื่อบอร์ดบริหารเป็น ‘สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ’ ย้อนกลับไปเหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ ได้เปลี่ยนชื่อ สศช. เป็น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะกลับไปคล้ายคลึงกับ “สภาพัฒน์” ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีการระบุไว้ในส่วนหลักการและเหตุผลด้วยว่า การแก้ไขในครั้งนี้เป็นไปในทำนองเดียวกับ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ.2502 ซึ่งเป็นยุคที่จอมพลสฤษดิ์กำลังปกครองประเทศ
(2) เพิ่มตำแหน่งบอร์ดบริหาร โดยเพิ่มคณะกรรมการจากข้าราชการประจำ 4 ตำแหน่ง และเพิ่มคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ตำแหน่ง
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ มาตรา 6 ได้ปรับรูปแบบและองค์ประกอบของบอร์ดบริหารใหม่ โดยกำหนดให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบด้วยประธานสภา 1 คน และกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 15 คน ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และกรรมการสภามาจากปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะการข้าราชการพลเรือน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
การปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้คณะกรรมการมีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 15 คน เป็น 23 คน โดยองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นมาคือ ตำแหน่งคณะกรรมการจากข้าราชการประจำ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังเพิ่มคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 ตำแหน่ง และตำแหน่งที่หายไปจากกฎหมายเดิมคือ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(3) ปรับรูปแบบการทำงานให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ มีการแก้ไขปรับปรุงโดยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากมีคำว่ายุทธศาสตร์อยู่ในร่างกฎหมายถึง 21 คำ จากทั้งหมด 28 มาตรา โดยการปรับบทบาทให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่
หนึ่ง กำหนดให้สภามีอำนาจและหน้าที่ในการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งของประเทศ และของโลก (มาตรา 7)
สอง การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพัฒน์ต้องส่งแผนพัฒนาให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาก่อน (มาตรา 17)
สาม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ต้องมีคณะกรรมการประสานการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นที่สภามอบหมาย (มาตรา 21)
(4) หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งต้องรายงานให้สำนักงานสภาพัฒน์ทราบ
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ มาตรา 19 กำหนดว่า เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประกาศใช้แล้ว ให้หน่วยงานรัฐต้องจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สภาพัฒน์กำหนด
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังมีหน้าที่ต้องรายงานผลการปฏิบัติงานให้สำนักงานสภาพัฒน์ทราบ และเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผน ให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการกำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐดำเนินการตามแผน
(5) สำนักงานสภาพัฒน์ มีอำนาจแต่งตั้งหรือจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐหรือเอกชนมาช่วยงานได้
ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ มาตรา 22 กำนหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานสภาพัฒน์ ให้สำนักงานสภาพัฒน์สามารถดำเนินการแต่งตั้งบุคคลจากภาครัฐหรือเอกชนมาทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาของประเทศและเสนอแนะการกำหนดเป้าหมายได้ รวมถึงยังสามารถดึงตัวเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐใดก็ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานสภาพัฒน์ไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ ยังให้อำนาจจ้างบุคคลทั้งในและต่างประเทศ สถาบันการศึกษา หรืออื่นๆ มาดำเนินการศึกษา วิจัย หรือปฏิบัติในเรื่องใดก็ได้
(6) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสภาพัฒน์ชุดใหม่ภายใน 180 หลังกฎหมายบังคับใช้ และให้แผนพัฒนาฯ ที่ออกในยุคคสช. มีผลบังคับใช้ไปจนถึงปี 2565
หลัง ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ มีผลบังคับใช้ ในส่วนของบทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะกรรมการสศช. ชุดเดิมยังคงดำรงตำแหน่งไปก่อนแต่ไม่เกิน 180 วันหลังจากที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ใช้บังคับ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งนี้ หากกฎหมายประกาศใช้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก็จะเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลคสช. เป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้งบอร์ดบริหารของสภาพัฒน์ชุดใหม่
นอกจากนี้ ให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2565) ที่มีพระราชโองการเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ยังมีผลบังคับใช้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายนี้ไปจนถึงวันที 30 กันยายน 2565