เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องการ สว. 67 อย่างน้อย 67 คน โหวตเห็นชอบ 

ช่วงกลางถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 จะเริ่มมีการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนที่ สว. ชุดพิเศษ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลัง สว.ชุดพิเศษ หมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แล้ว อำนาจของ สว. ชุดพิเศษ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะหมดลงไปด้วย อย่างไรก็ดี สว. 2567 ที่มีที่มาจากการเลือกกันเอง ก็ยังคงมีอำนาจอื่นๆ อยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะอำนาจในการลงมติแก้รัฐธรรมนูญที่พิจารณาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ยากที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญทุกฉบับ กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ใน มาตรา 256 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะผ่านวาระหนึ่งของรัฐสภาได้ ต้องอาศัยเสียง “เห็นชอบ” ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สส. และ สว. ที่มีอยู่ และในจำนวนดังกล่าว ต้องมีเสียงของ สว. ที่ยกมือโหวตเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน สว. ด้วย นอกจากนี้แล้ว การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญในวาระสาม ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็ยังต้องใช้เงื่อนไขเสียง “เห็นชอบ” จาก สว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามเช่นกัน 

สว. จึงเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะแก้ไขรายมาตรา เพื่อปรับปรุงเนื้อหารัฐธรรมนูญ 2560 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สว.ชุดพิเศษ ทำงาน 5 ปี แก้รัฐธรรมนูญสำเร็จแค่ครั้งเดียว

นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 เป็นเวลากว่าเจ็ดปีแล้ว ที่รัฐธรรมนูญอันเป็นหนึ่งในมรดกของ คสช. มีผลใช้บังคับ ภายในช่วงเจ็ดปีนี้ นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2565 มีข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอและเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภามาแล้ว 26 ข้อเสนอ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกันไป ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้แต่การแก้ไขรายมาตราในหลายประเด็น เช่น การเพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การกระจายอำนาจ การรื้อมรดก คสช. การตัดอำนาจของ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส.

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 26 ฉบับ มีผู้เสนอจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน สส. พรรคร่วมรัฐบาล สส. พรรคฝ่ายค้าน ในปี 2563 มีร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จำนวนสองฉบับที่ผ่านวาระหนึ่งแต่ถูกคว่ำในวาระสาม ขณะที่ร่างอีก 23 ฉบับ ถูก “ปัดตก” ไม่ผ่านรัฐสภาตั้งแต่วาระหนึ่ง ในจำนวน 23 ฉบับนี้ มีร่างอย่างน้อย 11 ฉบับ ที่ผ่านเงื่อนไขได้เสียง “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกสองสภา แต่ไม่ผ่านวาระหนึ่งเพราะได้เสียง สว. ไม่ถึงหนึ่งในสาม (หนึ่งในสามของ สว. 250 คน คือ อย่างน้อย 84 คน) มีเพียงร่างแก้รัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับเท่านั้นที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาทั้งสามวาระจนสามารถประกาศใช้ได้ คือร่างแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งเสนอโดย สส. พรรคประชาธิปัตย์ แก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ ระบบนี้ถูกใช้ในการเลือกตั้ง สส. เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566

แก้รัฐธรรมนูญเกิดได้ ถ้า สว. 67 “เห็นชอบ” อย่างน้อย 67 เสียง

สว. ชุดพิเศษ 250 คน จะหมดวาระลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สว. ชุดใหม่ที่กำลังจะเลือกกันเองในช่วงกลางปี 2567 นี้ มีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี หากเข้าสู่ตำแหน่งช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 ก็จะปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2572

สว. 2567 จะมีจำนวน 200 คน จำนวนเสียง สว. หนึ่งในสาม ที่จะยกมือเห็นชอบการแก้รัฐธรรมนูญก็จะเปลี่ยนไปด้วย ถ้าในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญมี สว. ครบ 200 คน การแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องการเสียง สว. อย่างน้อย 67 เสียงที่โหวตเห็นชอบ จึงจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญผ่าน เดินหน้าต่อไปได้

การเลือก สว. ชุดใหม่ ที่มาจากการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มผู้สมัครนี้ จึงมีเดิมพันสูงในการกำหนดความเป็นไปได้ในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากใครสนใจอยากสมัคร สว. เพื่อไปเป็นหนึ่งใน 67 เสียง ที่สนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ชวนทำความเข้าใจระบบเลือกกันเอง คุณสมบัติ และวิธีการสมัคร สว. ได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/16805

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage