ตามคำแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยจะมีตำแหน่งส.ส. 500 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 ที่นั่ง และเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน ให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้ชิงชัยกัน
กติกาการเลือกตั้งส.ส.ครั้งนี้ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ การมีระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น หรือ ระบบ Primary Vote กล่าวคือ ก่อนการเลือกตั้งจริงทุกพรรคการเมืองจะต้องจัดการเลือกขั้นต้น เพื่อให้สมาชิกพรรคลงคะแนนเลือกว่า ใครจะเป็นตัวแทนของพรรค ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งประจำเขตต่างๆ ระบบนี้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ โดยมีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้
การส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต (มาตรา 47)
1. พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ใด ต้องมี “สาขาพรรคการเมือง” หรือ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น
2. ให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้ง จากผู้ซึ่งได้รับเลือกจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้นให้เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
“สาขาพรรคการเมือง” ต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป | “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน |
การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต (มาตรา 50)
1. ให้ “คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง” ของแต่ละพรรคการเมือง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกของพรรคทราบ
2. เมื่อกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครในแต่ละเขต แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น
3. เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัคร ให้จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งมา
4. การประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยในการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้หนึ่งคน และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วให้นับคะแนนและประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกให้คณะกรรมการสรรหาฯ
5. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งรายชื่อผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดของแต่ละเขตเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบ ให้แสดงเหตุผลและให้พิจารณาผู้สมัครซึ่งได้คะแนนในลำดับถัดไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบกับรายชื่อทั้งหมด ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาฯ ประชุมร่วมกัน หากที่ประชุมร่วมกันมีมติเห็นชอบกับผู้สมัครรายใด ให้เสนอชื่อผู้สมัครรายนั้น
การส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 48)
การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง
การสรรหาผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา 51)
1. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบ
2. เมื่อกำหนดเวลาเสนอรายชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 คน โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
3. ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน โดยการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาฯ โดยเร็ว
4. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
5. ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เห็นชอบให้ดำเนินการใหม่จนกว่าจะได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
บทลงโทษ ฝ่าฝืนไม่ทำตามระบบ Primary Vote
พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มีบทกำหนดโทษผู้สมัคร และกรรมการบริหารพรรค ที่กระทำการไม่สุจริตในขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้
1. ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการจูงใจให้สมาชิกพรรคลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้ใด เช่น การ เสนอว่าจะให้เงิน หรือ ทรัพย์สิน หรือ หลอกลวง หรือ ขู่เข็ญ (มาตรา 53) ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย (มาตรา 118)
หากผู้ฝ่าฝืนเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี (มาตรา 117)
2. ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดเรียกรับ หรือยอมจะรับเงิน หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือก (มาตรา 54) ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืน ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการ บรรดาที่รู้เห็นกับการกระทำนั้นรับโทษเช่นเดียวกัน (มาตรา 119)
ทั้งนี้หากผู้ฝ่าฝืนเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี (มาตรา 117)
3. ห้ามไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดยินยอมให้บุคคลใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือออกเสียงลงคะแนนในการดำเนินการ (มาตรา 55) ผู้ใฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี (มาตรา 117)
ความเห็นต่อเรื่อง “Primary Vote” ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงความจำเป็นต้องมีระบบนี้ว่า พรรคการเมืองในอดีตเป็นเผด็จการในตัว เป็นของนายทุน เป็นของครอบครัว ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยที่เป็นของสมาชิก ด้วยเหตุนี้จึงต้องปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เป็นของสมาชิกพรรคให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายยาว 7 หน้า เปิดผนึกถึงกรธ. แสดงความกังวลต่อระบบ Primary Vote สรุปได้ว่า ระบบนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคและสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมาก แต่กองทุนพัฒนาพรรคการเมืองกลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงิน ระบบนี้จะทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆ โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้างคงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรง
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ก็มีหนังสือถึง กรธ. โดยในตอนหนึ่งกล่าวถึงปัญหาของระบบ Primary Vote ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ว่า การให้สิทธิค่อนข้างเด็ดขาดแก่สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดซึ่งมีสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเพียง 100 คน กรณีของสาขา และ 50 คน กรณีตัวแทนประจำจังหวัดนั้น อาจเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ทั่วถึงทำให้เกิดกรณีที่สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครจัดตั้งสมาชิกซึ่งสนับสนุนตนเองเพื่อมาลงคะแนนเลือกตนได้ง่าย ทั้งที่บุคคลดังกล่าวอาจไม่มีความเหมาะสมเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของพรรคในการสมัครรับเลือกตั้ง
ไฟล์แนบ
- Political Party (329 kB)