ระบบการ “เลือกกันเอง” เพื่อใช้สรรหาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซับซ้อนและเต็มไปด้วยช่องโหว่ ในปี 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ระบบที่คล้ายกันนี้ในการหาผู้สมัคร สว. กลุ่มอาชีพ 200 คน เพื่อให้รัฐบาลทหารคัดเลือกเหลือ 50 คนเป็น สว. กลายมาเป็น 50 คน ในจำนวน 250 สว. ชุดพิเศษ
จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการในปี 2561 มีหลายกลเม็ดที่ผู้สมัครใช้ในการช่วยให้ตนเองได้เข้ารอบหรือรับเลือก โดยมีทั้งในรูปแบบที่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงใช้ยุทธศาสตร์-เทคนิค จากช่องทางบางประการในกฎหมาย
ให้ผลประโยชน์ แลกพาคนไปโหวตให้ตัวเอง
การเลือก สว. ภายใต้ระบบเลือกกันเอง ใครมีพรรคพวกมาก ก็มีโอกาสได้รับเลือกมาก สำหรับผู้ที่อยากเป็น สว. การตระเตรียมและเกณฑ์คนให้ไปสมัคร สว. เพื่อมาโหวตให้ตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งเล่าว่า เมื่อถึงวันเลือกจริง ผลลัพธ์ก็อาจจะรู้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงคะแนนเสียง โดยคนที่ระดมไปได้ก็มีตั้งแต่ญาติพี่น้อง คนรู้จักในชุมชนหรือในสมาคมท้องถิ่น ไปจนถึงกลุ่มการเมืองท้องถิ่นต่าง ๆ
โจทย์ใหญ่ของการระดมคนไปโหวตก็คือผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ผู้อยากเป็น สว. ต้องแลกกับคะแนนเสียง โดยในการเลือก สว. เมื่อปี 2561 มีผู้ให้ข้อมูลว่ามีการเสนอผลประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เช่น
- เงิน : การให้ทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินเป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุด โดยพื้นฐานแล้ว ผู้สมัคร สว. ที่อยากให้มีคนไปลงคะแนนให้ตนเอง ต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาทต่อคน พร้อมกับค่าเดินทางของแต่ละคนที่อาจไม่เท่ากัน จากการพูดคุยกับคนที่เคยอยู่ในกระบวนการเลือก สว. วงเงิน 500 บาท เป็นจำนวนที่ถูกใช้เป็นค่าเดินทางในบางพื้นที่ เมื่อรวมกับค่าสมัครก็เป็น 3,000 บาทต่อคนเป็นอย่างน้อย ยังไม่รวมกับเงินค่าตอบแทนการเสียเวลาอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป
การเลือก สว. เมื่อปี 2561 ในบางพื้นที่ การจะ “ล็อคผล” ให้ได้ในระดับอำเภอต้องใช้คนประมาณ 20-30 คน แยกกระจายลงสมัครในกลุ่มต่าง ๆ หมายความว่าผู้สมัครจะต้องใช้เงินประมาณ 60,000-90,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาคนมาโหวต - ตำแหน่ง : การตอบแทนผู้มาลงคะแนนให้ อาจมาในรูปแบบของคำสัญญาว่าจะให้ตำแหน่ง หากผู้สมัครได้รับเลือกเป็น สว. ในขั้นสุดท้าย ตำแหน่งที่สะดวกที่สุดและสามารถใช้ “ตอบแทน” ได้ คือ “ผู้ช่วย สว.” ซึ่ง สว. คนหนึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงาน รวมทั้งหมดแปดคน เงินเดือนตั้งแต่ 15,000-24,000 บาท โดย สว. อาจจะตั้งผู้ที่เคยให้ความช่วยเหลือตนเองเป็นผู้ช่วยโดยไม่ต้องปฏิบัติงานแต่ได้รับเงินเดือน ซึ่งมีตั้งแต่ได้เป็นผู้ช่วยตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งห้าปีของ สว. คนนั้น หรือใช้วิธีการ “เวียน” กล่าวคือ ให้เป็นผู้ช่วยในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยอาจจะเป็นหกเดือนหรือหนึ่งปี หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนคนอื่นเข้ามาแทน
หากได้รับตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว อัตราเงินเดือน 15,000 บาท เป็นเวลาห้าปี ก็จะได้รับเงินรวม 900,000 บาท แต่หากได้ตำแหน่งเพียงหนึ่งปีก็จะเหลือ 180,000 บาท แต่หากนับว่าค่าสมัครเพียง 2,500 บาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ได้กำไรงาม
นอกจากนี้ ยังมีการให้ตำแหน่งในกรรมาธิการของ สว. แตกต่างกันไป โดยมีทั้งตำแหน่งที่ได้เงินค่าตอบแทนและไม่ได้ค่าตอบแทน ทั้งนี้ บางคนเพียงต้องการจะเข้าไปมีตำแหน่ง “เป็นหน้าเป็นตา” และมีโอกาสได้รับเครื่องราชอิสรยาภรณ์ โดยไม่ได้หวังค่าตอบแทน - ผลประโยชน์ทางธุรกิจ : บางกรณี ผู้คนที่ตระเตรียมให้ไปลงคะแนนนั้นก็อาจจะกระทำผ่านเครือข่ายทางธุรกิจ ทำให้มีการใช้ผลประโยชน์ทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง เช่น การต่อสัญญาการค้าขาย หรือให้สิทธิประโยชน์บางประการ เพื่อให้จัดหาคนไปลงสมัครและเลือกผู้สมัครเป้าหมายให้ผ่านเข้ารอบ
กระจายพรรคพวกทั้งประเทศ ทุกกลุ่มอาชีพ
เนื่องจากการเลือก สว. จะไม่จบที่แค่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่หากได้รับคะแนนมากที่สุดห้าอันดับแรก ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะต้องไปเจอกับ “การเลือกไขว้” โดยให้จับสลากแบ่งสาย และผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจะต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัครจากกลุ่มอื่น
ผู้สมัครที่อยากผ่านเข้ารอบจึงจำเป็นต้องให้ “คนของตนเอง” กระจายไปตามกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อการันตีว่าเมื่อมีการจับฉลากสายโหวตไขว้แล้ว จะมีคะแนนเสียงจากคนที่ตนเองจัดตั้งมา นอกจากนี้ ผู้สมัครยังต้องหาคนกระจายไปตามอำเภอต่าง ๆ ในกรณีที่ผ่านเข้ารอบไปในระดับจังหวัด และจังหวัดต่าง ๆ ในกรณีที่ผ่านเข้ารอบไปในระดับประเทศ
ดังนั้น หากไม่ใช่ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปในระดับประเทศ ผู้สมัครจะต้องเป็นคนที่มีเครือข่ายกว้างขวางในการรวบรวมคนในทุกกลุ่มอาชีพจากหลายอำเภอและจังหวัด
สมัครแบบมียุทธศาสตร์ เลือกอำเภอ-จังหวัดคนน้อย กลุ่มอาชีพที่ไม่มีคนสมัคร
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ให้ทางเลือกผู้สมัครไว้หลากหลาย สำหรับอำเภอที่จะลงสมัครนั้น ผู้สมัครสามารถเลือกจาก อำเภอที่เกิด อำเภอที่ศึกษาหรือเคยศึกษา อำเภอที่ทำงานหรือเคยทำงาน อำเภอที่มีหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองปีติดต่อกัน ในขณะที่กลุ่มอาชีพ หากผู้สมัครมีประสบการณ์มากกว่าหนึ่งด้าน ก็สามารถเลือกลงสมัครได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้สมัครสามารถเลือกสมัครได้เพียงกลุ่มอาชีพเดียวในอำเภอเดียวเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น หากนางสาวสมหญิง เกิดที่ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เรียนมัธยมที่ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ทำงานที่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และสมหญิงรับราชการครู มาแล้ว 20 ปี ในระหว่างการเป็นครูก็ยังทำอาชีพเสริมคือการขายของออนไลน์ด้วย ทำมาแล้ว 15 ปี
ในกรณีนี้ สมหญิงจะมีถึง 20 ทางเลือกในการสมัคร (สี่อำเภอ และห้ากลุ่มทางอาชีพและสังคม ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มการศึกษา กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มสตรี และกลุ่มอื่น ๆ)
ดังนั้น ทางเลือกที่ดีของผู้สมัครคือสมัครในอำเภอและกลุ่มอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สมัครน้อย เพื่อให้มีคู่แข่งน้อยที่สุด ในกรณีที่มีผู้สมัครน้อย ไม่เกินสามคนในระดับอำเภอ (เฉพาะการเลือกกันเองในปี 2561 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 94 (5) ของพ.ร.ป.สว. ฯ) ผู้สมัครก็จะผ่านเข้ารอบโดยทันทีและไม่ต้องการมีการเลือกกันเอง ในการเลือก สว. ปี 2561 มีการจัดการเลือกกันเองเพียง 197 อำเภอ ใน 52 จังหวัด ส่วนอำเภออื่นนั้นมีผู้สมัครไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีถึงสี่จังหวัด ได้แก่ พังงา ระนอง สมุทรสาคร และชุมพร ที่ผู้สมัครไม่ต้องผ่านการเลือกในระดับจังหวัดด้วยเนื่องจากมีผู้สมัครไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ที่สมัครในอำเภอในจังหวัดเหล่านี้ผ่านไปเลือกในระดับประเทศทันที