วันนี้ (23 ธันวาคม 2553) เป็นวันที่ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ(The Convention for Protection of all Persons from Enforced Disappearance)มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากประเทศอิรักได้ให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 20 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553
แต่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พบกรณีบุคคลสูญหายที่คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติ(UN WGEID) รับเป็นคดีคนหายของสหประชาชาติแล้ว ถึง 52 คดี กลับยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
เนื่องจากอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัวคนหายคือ การไม่มีกฎหมายซึ่งกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม อีกทั้งเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ครอบครัวมักถูกคุกคามจนไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ การมีกลไกทางกฎหมายระดับนานาชาติ และกฎหมายภายในประเทศเพื่อกำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่คุกคามมนุษยชาติ จึงมีความสำคัญ
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เป็นองค์กรที่รณรงค์ให้รัฐบาลไทยลงนามเข้าเป็นภาคี และให้สัตยาบันกับอนุสัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกแถลงการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติ โดยเร็ว เพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลทุกคนในการที่จะไม่ถูกทำให้สูญหายในท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน การปราบปรามการก่อการร้าย นโยบายต่อต้านยาเสติด หรือความขัดแย้งทางการเมือง
2. รัฐบาลต้องให้มีกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรม มีการกำหนดโทษผู้กระทำผิด และให้มีการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ให้มีการเยียวยาแก่ครอบครัว ซี่งครอบคลุมถึงสิทธิที่จะทราบความจริง ความคืบหน้าและผลของการสอบสวน ถึงชะตากรรมหรือที่อยู่ของผู้สูญหายในทุกขั้นตอน
ที่มาภาพหน้าแรก tillwe
ไฟล์แนบ
- Statement_23_12_2010_JPF (150 kB)