112 ชีวิต ความคิด ความฝัน มายด์ ภัสราวลี: จุดยืนยังคงเดิมแม้บทบาทจะเปลี่ยนไป

หากเอ่ยชื่อของ มายด์ ภัสราวลี หลายๆ คนคงนึกถึงบทบาทของเธอในฐานะแกนนำ หรือผู้ปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในช่วงปี 2563 – 2564 การเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมของมายด์ในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้เธอถูกดำเนินคดีในหลากหลายข้อกล่าวหา ทั้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงข้อกล่าวหาร้ายแรงแห่งยุคสมัยอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งตัวของมายด์ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมสองคดี คือคดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยและคดีกล่าวคำปราศรัยในการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ที่แยกราชประสงค์ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้จะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม 2567

ช่วงปี 2565 – 2566 การเมืองบนท้องถนนเริ่มเข้าสู่สภาวะซบเซา ด้านหนึ่งตัวแกนนำหรือผู้ปราศรัยหลักในการชุมนุมต่างวนเวียนใช้ชีวิตอยู่กับสถานีตำรวจ อัยการและศาล ขณะเดียวกันนักกิจกรรมหลายๆ คนก็มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ก้าวพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่ชีวิตการทำงาน นักกิจกรรมบางคนที่เคยโลดแล่นอยู่ในพื้นที่สาธารณะทยอยลดบทบาทตัวเองหรือเร้นหายไปจากพื้นที่สาธาณะหรือแวดวงกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตามก็มีนักกิจกรรมบางส่วนที่แม้บทบาทในชีวิตจะเปลี่ยนไปแต่ก็ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงทางการเมือง มายด์คือหนึ่งในนั้น หลังจากการเมืองบนท้องถนนซบเซามายด์เปลี่ยนบทบาทตัวเองไปทำรายการการเมืองบนโลกออนไลน์ โดยหนึ่งในภาพที่กลายเป็นภาพจำน่าจะเป็นภาพที่เธอไปสัมภาษณ์พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณอย่างใกล้ชิดในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 นอกจากทำรายการการเมือง “มองมุมมายด์” ทางช่อง Friend Talk แล้ว มายด์ยังทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ควบคู่ไปด้วย ทำให้เธอยังคงปรากฎตัวในทางสาธารณะเมื่อมีการรณรงค์ทางการเมืองอยู่เป็นระยะ เช่น ในการรณรงค์เข้าชื่อเสนอคำถามประชามติรัฐธรรมนูญ #conforall    

เพราะสถานการณ์เรียกร้องจึงต้องจับไมค์

มายด์เริ่มมีบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหวแนวหน้าในช่วงปี 2563 โดยเริ่มขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกในการชุมนุม เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งเดียวกับที่ทนายอานนท์ปราศรัยถึงปัญหาแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ตามการชุมนุมครั้งนั้นที่มักถูกเรียกว่า ‘ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์’ ไม่ใช่การชุมนุมครั้งแรกๆในชีวิตของมายด์ เพราะจากคำบอกเล่า มายด์เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2559 เพียงแต่เธอมักจะคอยช่วยเหลืองานอยู่หลังฉากในส่วนของการจัดการเวทีหรืองานสวัสดิการ ช่วงต้นปี 2563 ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวหลังกรณียุบพรรคอนาคตใหม่เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง ตัวของมายด์ก็เข้าร่วมจัดการชุมนุมด้วย โดยเฉพาะการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเธอเคยเรียนอยู่ มายด์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย ในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ถนนราชดำเนิน โดยในครั้งนั้นเธอได้ขึ้นปราศรัยในประเด็นเกี่ยวกับ สว. ต่อมาเมื่อทนายอานนท์ นำภาที่เป็นผู้ปราศรัยหลักในการชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ฯ ถูกจับกุมตัว มายด์ก็ขอขึ้นเวทีในการชุมนุมครั้งต่อมาด้วยตัวเองเพื่อพูดความในใจถึงการจับกุมทนายอานนท์ หลังจากนั้นมายด์ก็มีโอกาสขึ้นเวทีอีกเป็นระยะกระทั่งมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112   

“จริงๆ มายด์ทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงปี 59 แล้ว แต่ช่วงนั้นจะเข้าไปช่วยงานหลังบ้านมากกว่า ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวหน้าฉาก งานเวทีทั้งแบกลำโพง สวัสดิการ หรืองานพยาบาลนี่มายด์ผ่านมาหมดแล้ว คือเอาจริงๆ มายด์ชอบทำงานหลังฉากมากกว่าหน้าฉาก เพราะการทำงานหลังฉาก หรือด้านล่างเวทีทำให้เราได้เห็นคนที่มาร่วมชุมนุมได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น”

“ตอนที่เคลื่อนไหวช่วงปี 59 ต้องบอกเลยว่าเหงามาก ตัวมายด์เองไม่เคยคิดเลยว่าสถานการณ์ทางการเมืองมันจะพลิกจากบรรยากาศที่เงียบเหงา เป็นบรรยากาศที่การชุมนุมเฟื่องฟู อย่างในช่วงปี 63 ส่วนตัวมายด์คิดว่าคนที่ออกมาชุมนุมในช่วงปี 63 โดยเฉพาะคนรุ่นเดียวกับมายด์น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองของประเทศมันทำให้พวกเรามองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ทีนี้พอปัญหาทางการเมืองมันชัดขึ้นมาตัวมายด์เองกับเพื่อนอีกหลายๆ คนก็เหมือนกับพักเรื่องการตามหาความฝันตัวเองไว้ชั่วคราวแล้วออกมาชุมนุม เพราะในเวลานั้นการชุมนุมดูจะเป็นวิธีแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีที่สุด”

“ครั้งแรกที่มายด์ขึ้นปราศรัยเองคือการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นมายด์ไปช่วยเพื่อนกลุ่มมอกะเสดจัดชุมนุมด้วย การชุมนุมครั้งนั้นมันมีการแบ่งประเด็นให้คนที่ร่วมจัดผลัดกันปราศรัยกัน ตัวมายด์เองก็รับปราศรัยในประเด็นเกี่ยวกับ สว. พอหลังจากม็อบวันนั้นก็มีเรื่องที่พี่อานนท์ (ทนายอานนท์ นำภา) ถูกจับกุมตัวเพราะขึ้นปราศรัยในม็อบ มายด์ก็รู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว เราอยากพูด พอมีการจัดชุมนุมที่หน้าสน.บางเขนเพื่อให้กำลังใจพี่อานนท์กับไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ในที่ 7 สิงหาคม ก็มีเพื่อนที่จัดชุมนุมมาขอให้มายด์เป็นพิธีกรในงานนั้น แต่ตอนนั้นมายด์รู้สึกกับเรื่องของพี่อานนท์มาก เลยขอเพื่อนว่าจะไม่เป็นพิธีกรได้ไหม เพราะเราอยากเป็นคนปราศรัย แล้วมายด์ก็ขึ้นไปพูดทุกอย่างที่อยู่ในใจออกมาโดยไม่ใช้สคริปต์ จากนั้นในวันถัดมามายด์ก็ถูกชวนไปเป็นพิธีกรในการชุมนุมที่สกายวอล์กปทุมวันอีก ซึ่งมายด์ก็ตอบรับไป”

“มายด์ได้รับเสียงสะท้อนจากหลายๆ คนว่า ปราศรัยที่สน.บางเขนและเป็นพิธีกรที่สกายวอล์กได้ดี พอรู้ว่าหลายๆ คนชอบการพูดของเราก็เลยคิดว่าควรจะฝึกพูดแบบจริงจัง”

“ถ้าถามว่าใครเป็นไอดอลเรื่องการพูด มายด์ให้พี่เต้นเลย คือเวลาพี่เต้นพูดนี่คนไม่เบื่อ คือเรื่องที่แกพูดเนี่ยจริงๆ มันเป็นเรื่องมีสาระนะ แต่วิธีการเรียงร้อยประเด็นของแก มีประเด็น แต่การพูดของแกมันเข้าถึงใจคน สามารถสร้างอารมณ์ได้ ทำคนรู้สึกไปกับสิ่งที่พี่เขาพูดได้”

สู้เหมือนเดิมแค่เปลี่ยนสมรภูมิ

การเมืองบนท้องถนนที่เฟื่องฟูในปี 2563 ค่อยๆ ลดระดับความเข้มข้นลงในปี 2564 ก่อนจะเข้าสู่สภาวะซบเซาในปี 2565 และ 2566 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาครัฐเริ่มนำกฎหมายมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างเข้มข้น รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ชุมนุมหลายๆ คนรวมถึงตัวของมายด์ต้องวนเวียนเข้าสู่กระบวนการทางคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ และชั้นศาลเป็นระยะตั้งแต่ปี 2564 นอกจากนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยไปชีวิตของนักกืจกรรมหลายๆ คนก็มาถึงจุดเปลี่ยน โดยเฉพาะนักกิจกรรมที่เคยเป็นนักศึกษาในปี 2563 หลายคนเริ่มทยอยจบการศึกษาและก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานในช่วงปี 2565 –  2566 อดีตนักกิจกรรมหลายคนเลือกที่จะยุติบทบาททางการเมือง แต่ก็มีนักกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในแวดวงการเมืองต่อไปบางส่วนเข้าไปทำงานกับพรรคการเมือง บางส่วนไปทำงานสื่อหรือองค์กรภาคประชาสังคม มายด์คือหนึ่งในนั้น

“ช่วงประมาณปี 65 มายด์เริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ ว่าในช่วงที่กระแสการเมืองมันซบเซา เราจะสื่อสารประเด็นทางการเมืองของเราด้วยช่องทางไหนได้บ้าง ก็พอดีพี่โบ้ทที่ทำช่อง Friend Talk มาชวนไปทำรายการให้กับช่องแก มายด์เลยตกลงไปทำด้วยเพราะมองว่าการทำรายการน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เราได้สื่อสารประเด็นต่างๆ ได้“

“เอาจริงๆ มายด์ก็คงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นสื่ออะไรขนาดนั้น มายด์มองตัวเองเป็นคนทำรายการการเมืองมากกว่า มายด์คิดว่าสื่อมีข้อจำกัดในการตั้งคำถาม บางทีจะตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมาเกินไปก็อาจกลัวจะเสียแหล่งข่าว แต่รายการของมายด์จะไม่มีข้อจำกัดนั้น เพราะมายด์เชื่อว่าเราไม่ควรมีกำแพงในการตั้งคำถาม”

“ช่วงที่พีคที่สุดน่าจะเป็นตอนที่มายด์ไปสัมภาษณ์คุณประวิตรช่วงก่อนเลือกตั้งปี 66 ตอนนั้นมายด์ก็ไปตามหมายข่าวที่เขาแจกสื่อทั่วไป ตอนนั้นมายด์มีชุดคำถามเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ไปถามกับตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรค มายด์ก็เลยตั้งใจจะไปถามคุณประวิตรที่งานของพรรคพลังประชารัฐด้วย”

“วันนั้นพอไปถึงที่งานก็มีตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐมาคุยกับมายด์ว่าวันนี้มาทำอะไร มายด์ก็บอกว่าพอดีมีคำถามที่อยากมาถามคุณประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ คนที่มารับก็เลยชวนว่างั้นขึ้นไปคุยเริ่อง

คำถามกับทางคุณประวิตรก่อน มายด์ก็บอกโอเคได้”

“ตอนขึ้นไปวันนั้นก็เจอทั้งคุณประวิตรแล้วก็แกนนำพรรคหลายๆ คน คุณประวิตรก็ถามมายด์ว่าวันนี้มาทำอะไร มาชูสามนิ้วเหรอ มายด์ก็ตอบไปว่าเปล่า แค่อยากมาถามคำถามของมายด์ ที่ถามกับพรรคการเมืองอื่นๆ ทางคนของพรรคพลังประชารัฐเขาก็ถามว่ามายด์อยากถามคำถามกับคุณประวิตรข้างบนเลยไหม มายด์ก็บอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวรอถามพร้อมพี่ๆ สื่อเลย เขาก็โอเคตามนั้น“

”บรรยากาศโดยรวมวันนั้นถือว่าเป็นไปด้วยดี เพราะพรรคพลังประชารัฐเขาก็เล่นการเมืองเป็น คนของพรรคที่มารับมายด์พูดกับมายด์ด้วยดี แล้วรปภ.ก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะมาไล่อะไร ส่วนคุณประวิตรก็คุยกับมายด์ด้วยดี เหมือนว่าตอนหลังพอนักข่าวถามคุณประวิตรว่าคุยกับมายด์เป็นยังไง แกก็ตอบว่าก็ดี แค่ไม่ได้หอมแก้มกัน พีคไหมหล่ะ”

“หลังสัมภาษณ์คุณประวิตรครั้งนั้นก็มีเพื่อนบางคนบอกว่ามายด์ซอฟท์ลง หรือมายด์เปลี่ยนจุดยืนบ้าง ตรงนี้อยากจะบอกว่าจุดยืนมายด์ยังเหมือนเดิม แต่บทบาทของมายด์ในวันนั้นเราไม่ได้ไปในฐานะผู้ชุมนุมหรือคนปราศรัย แต่ไปในฐานะคนทำรายการ ถ้าเราเข้าไปด้วยท่าทีที่แสดงการต่อต้านหรือไปด่าเขาการพูดคุยมันคงเกิดไม่ได้ แต่การที่มายด์พูดกับคุณประวิตรด้วยท่าทีสุภาพมันเป็นคนละเรื่องกับที่มายด์ระลึกอยู่เสมอว่าประเทศนี้เสียหายมาเพราะพวกเขาขนาดไหนและมายด์ก็มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเห็นคนทำรัฐประหารหรือองคาพยพที่แวดล้อมถูกดำเนินคดีจากความเสียหายที่พวกเขาสร้างขึ้น ส่วนคนที่วิจารณ์มายด์ว่ามายด์ถูกซื้อไปแล้ว มายด์คงไม่ตอบโต้อะไรแต่เชื่อว่าการเคลื่อนไหว และการทำงานคอนเทนต์การเมืองของมายด์ก็คงจะเป็นหลักฐานในตัวอยู่แล้วว่าจุดยืนของมายด์เป็นอย่างไร”

ข้อความที่กลั่นมาจากใจ

มายด์ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมดสองคดี คดีแรกมีมูลเหตุจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีที่สองมีมูลเหตุมาจากการปราศรัยในการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 โดยคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่ามายด์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะคำปราศรัยของเธออาจทำให้ประชาชนเข้าใจพระมหากษัตริย์ในทางที่ผิด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณและเข้าใจว่าผิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการใดๆ ตามอำเภอใจ ลงโทษจำคุกเธอเป็นเวลาสามปี ก่อนลดโทษให้เหลือ สองปี เพราะให้การเป็นประโยชน์ ศาลยังให้รอการลงโทษจำคุกของเธอเอาไว้มีกำหนดสามปีโดยให้เหตุผลว่าเธอยังเป็นนักศึกษา ขาดประสบการณ์ในชีวิตจึงอาจกระทำการไปด้วยความคึกคะนอง คำพิพากษาที่ออกมาดูเผินๆ อาจมีข้อดีอยู่บ้าง คือมายด์ยังไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพ ทว่าหากใครมีโอกาสได้ฟังสิ่งที่มายด์พูดไว้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาก็อาจจะรู้สึกว่าการใช้เหตุผลเรื่อง “ความคึกคะนอง” เพราะขาดประสบการณ์มาเป็นเหตุผลในการรอการลงโทษ ในทางหนึ่งก็ดูจะเป็นการด้วยค่าความคิดและจิตวิญญาณของมายด์

“คำปราศรัยเมื่อวันที่ 24 มีนาน่าจะต้องเรียกว่าเป็นคำปราศรัยที่ล่องหน เพราะตอนหลังที่มายด์ย้อนกลับไปดูปรากฎว่าสื่อหลายๆ เจ้า ลบ Live ออกไปแล้ว”

“การขึ้นพูดครั้งมายด์ถือว่าเป็นการขึ้นพูดครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของมายด์เลย จริงๆ สปีชวันนั้นช่วยร่างกันหลายคน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเรื่องสำคัญ จะผิดพลาดไม่ได้ พอทีมช่วยกันดูหลายๆ คนแล้วมายด์ก็จะต้องดูรอบสุดท้ายด้วยตัวเอง ปรับคำพูดปรับภาษาบางส่วนให้เป็นภาษาของมายด์เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะถูกถ่ายทอดออกไปอย่างไม่ผิดเพี้ยน ย้อนกลับไปวันนั้นหลายคนจะบอกว่ามายด์ติดโทรศัพท์มาก เพราะมายด์ดูและท่องสปีชนั้นอยู่หลายรอบ เอาจริงๆ ถึงวันนี้มายด์ยังท่องสปีชวันนั้นได้อยู่เลย”

“สิ่งที่มายด์พูดในวันนั้น มายด์พูดด้วยความบริสุทธิ์ใจและความจริงใจ คำพูดทุกคำที่พูดออกไปวันนั้นถูกร้อยเรียงอย่างระมัดระวัง ไม่มีการใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย มายด์ตั้งใจจะสื่อสารถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนอย่างเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุนักษ์นิยม ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีอำนาจ เพราะอยากให้ทุกคนได้รับฟังและลองคิดตามสิ่งที่มายด์พูด ทั้งเรื่องที่ประเทศควรมีกองทัพเดียวหรือเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินต่างๆ และมายด์ขอยืนยันว่าสิ่งที่มายด์พูดไม่ได้มีเจตนาจะใส่ร้ายใคร เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น”  “ตั้งแต่ก่อนขึ้นเวทีมายด์รู้อยู่แล้วว่าหลังจากพูดออกไปคงไม่พ้นถูกดำเนินคดี แต่มายด์ก็เลือกที่จะพูดมันออกไป เพราะมายด์เชื่อว่าทุกสิ่งที่มายด์พูด ทุกสิ่งที่มายด์เห็นว่าเป็นปัญหา คนอื่นๆ ก็คงเห็นว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน แต่บางคนอาจจะยังไม่พร้อมแบกรับความเสี่ยงที่จะตามมา ตัวมายด์เองพอจะรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งก็เลยเลือกที่จะพูดออกไป เพราะมายด์ต้องการแสดงให้เห็นว่าในฐานะประชาชนเราควรมีสิทธิตั้งคำถามกับทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ และมายด์เชื่อว่าเรื่องทุกเรื่อง ปัญหาทุกปัญหาของประเทศควรจะถูกพูดถึงได้อย่างเป็นปกติและตรงไปตรงมา เพราะถ้าแค่พูดถึงยังทำไม่ได้ การแก้ปัญหาก็คงเป็นไปไม่ได้”

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage