อะไรๆ ก็ผม … ปัญหาภาระทางกฎหมายของผู้ดูแลเว็บไซต์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เรื่องโดย อัฑฒพล ธนศานติ
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เมื่อผมเปิดสมาร์ทโฟนเครื่องสี่เหลี่ยมของผมขึ้นมา ทั้งหน้าเฟซบุ๊กและไลน์เต็มไปด้วย Notification ต่างๆ มากมายเพื่อเตือนว่ามีใครติดต่อเรามาบ้าง หรือในโลกใบนี้มีอะไรเคลื่อนไหวไหม? ผู้อ่านก็คงไม่ต่างจากผมเท่าไหร่นัก เพียงแค่ท่านลุกไปทานข้าว เข้าห้องน้ำ หรือเพียงแค่นั่งทำงานสักพัก โลกก็หมุนไปด้วยความเร็วอย่างที่คาดไม่ถึง และการสื่อสารในโลกสังคมออนไลน์มีลักษณะผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็วและสื่อสารออกไปรวดเร็วไม่ต่างกัน  

แล้วใครล่ะมีหน้าที่ต้องดูแลสื่อออนไลน์ตัวกลางพวกนี้? คำตอบก็คงเป็น เจ้าของสื่อตัวกลาง หรือภาษาทั่วๆ ไปเรียกว่า “แอดมิน” ส่วนภาษาทางกฎหมายเรียกว่า “ผู้ให้บริการ” กลุ่มคนเหล่านี้มีหน้าที่ต้องดูแลสื่อออนไลน์ของพวกเขาเพราะถือว่าเขาได้รับประโยชน์จากสื่อที่พวกเขาจัดทำขึ้นมา โดยการควบคุมดูแลนั้นเป็น “หน้าที่” ไม่ให้ใครก็ได้เข้ามาสื่อสารทั้งวิธีการแสดงความคิดเห็น โพสต์ หรือกระทำบางอย่างที่สุ่มเสี่ยงว่าผิดกฎหมายของบ้านเมือง

อาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ความจริงนั้นกลับตรงกันข้ามกัน เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า โลกสังคมออนไลน์มันรวดเร็วและว่องไวมาก การควบคุมดูแลจาก “แอดมิน” อาจไม่ทั่วถึงเสมอไปแม้เป็นหน้าที่ของเขาก็ตาม และรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแอดมินเพียงอย่างเดียว แต่แทนที่รัฐจะออกกฎหมายเพื่อช่วยสอดส่องดูแลและแก้ปัญหาในโลกออนไลน์ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย รัฐกลับออกกฎหมายที่สร้างภาระให้กับ “แอดมิน” หรือ “ผู้ให้บริการ” ให้มีภาระทางกฎหมายมากขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ปัญหาอันเกิดขึ้นจากมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 

         “มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14”

ปัญหาการเพิ่มภาระของผู้ให้บริการตามมาตรา 15 จะขอแบ่งอธิบายให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ คือ หนึ่ง ปัญหาจากการบัญญัติถ้อยคำตามมาตรา 15, สอง ปัญหาการสร้างภาระทางกฎหมายให้กับแอดมินในทางปฎิบัติ, สาม สิ่งที่ร่างใหม่จะเพิ่มเติมจากร่างเดิม, สี่ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาเช่นเดิม และ ห้า แนวโน้มต่อเศรษฐกิจดิจิทัลกับมาตรา 15 

 

1. ปัญหาจากการบัญญัติถ้อยคำตามมาตรา 15

1.1 ปัญหาประการแรก คือ การใช้คำว่า “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ในมาตราดังกล่าวขัดต่อหลักเกณฑ์กฎหมายอาญา เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายมุ่งเน้นการลงโทษผู้กระทำความผิด จึงมีลักษณะเป็นกฎหมายอาญาประเภทหนึ่ง การบัญญัติถ้อยคำจึงต้องชัดเจน และการตีความจึงต้องเคร่งครัด จะตีความนอกเหนือจากถ้อยคำมิได้ 

นอกจากนี้การบัญญัติถ้อยคำในกฎหมายว่า “จงใจ” มิใช่การบัญญัติถ้อยคำตามลักษณะของกฎหมายอาญา เนื่องจากกฎหมายอาญา การจะลงโทษผู้กระทำความผิดต้องมีโครงสร้างองค์ประกอบภายในประกอบด้วย คือ “เจตนา” การใช้คำว่า “จงใจ” ซึ่งเป็นคำที่มักปรากฏในกฎหมายแพ่ง จึงอาจทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาดไปได้ว่า การจงใจ กับเจตนา เหมือนกันหรือไม่อย่างไร และขอบเขตเท่าใดจึงถือว่า มีเจตนาแล้ว 

1.2 ปัญหาประการสอง คือ มาตราดังกล่าวมิได้กำหนดฐานะว่า “ผู้ให้บริการ” คือผู้ใดบ้าง ซึ่งตามคำอธิบาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของสำนักงานศาลยุติธรรมระบุว่า ผู้ที่จะมีความผิดตามมาตรา 15 ได้นั้นต้องเป็นผู้ให้บริการตามมาตรา 3 บทนิยามบัญญัติว่า “ผู้ให้บริการ” หมายความว่า

         (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

         (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  

ดังนั้น หากตีความจากมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผู้มีสถานะเป็น “ผู้ให้บริการ”หรือ “แอดมิน” ตามมาตรา 15 จึงต้องตีความโดยกว้าง รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการอย่างน้อยสี่จำพวก  

         1. ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไม่ว่าโดยระบบโทรศัพท์ ระบบดาวเทียม ระบบวงจรเช่า หรือบริการสื่อสารไร้สาย  

         2. ผู้ให้บริการเข้าถึงเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ไม่ว่าโดยอินเทอร์เน็ตทั้งผ่านสายและไร้สาย หรือในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในเรียกว่า อินทราเน็ต ที่จัดตั้งขึ้นในเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงาน  

         3. ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ หรือให้เช่าบริการโปรแกรมประยุกต์ (Host service provider) 

         4. ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นตามมาตรา 3(2) นั้นย่อมหมายถึงผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่าน application ต่างๆ ที่เรียกว่า content provider เช่น ผู้ให้บริการ Webboard หรือ  Web service เป็นต้น 

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คำว่า “ผู้ให้บริการ” ตามมาตรา 15 มีความหมายกว้างเกินไป รวมไปถึงจำพวกผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ดูแลระบบดาวเทียม ระบบวงจรเช่า หรือบริการสื่อสารไร้สาย ซึ่งโดยธรรมชาติผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สื่อสารกันระหว่างผู้ใช้บริการ

 

2. ปัญหาการสร้างภาระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการ

2.1 ปัญหาประการแรก คือ ขอบเขตที่เนื้อหาใดจะเข้าข่ายเป็นความผิด นั้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการต้องนำข้อมูลนั้นออกจากระบบของตนทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบแท้จริงว่าข้อความนั้นขัดกับกฎหมายตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติดังกล่าวจริงหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ทำให้ผู้ให้บริการต้องทำหน้าที่คล้ายศาลที่ตัดสินล่วงหน้าว่าข้อความใดผิดมาตรา 14 เมื่อมีการนำข้อมูลออกจากระบบหรือมีการเซ็นเซอร์จากแอดมิน ย่อมส่งผลโดยตรงให้ผู้ใช้บริการลดน้อยถอยลง กระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปอย่างแน่นอน 

2.2 ปัญหาประการสอง คือ เมื่อปรากฏข้อความที่ยังก้ำกึ่งระหว่างผิดกฎหมายกับไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐ (หลักการ Notice and Takedown) ให้นำข้อมูลนั้นออก แต่กลับถูกตีความว่า “จงใจหรือยินยอม” ให้มีข้อความที่ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงต้องรับความผิดตามมาตรานี้ทันที ประกอบกับไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าเมื่อผู้ให้บริการพบข้อความฝ่าฝืนกฎหมายต้องนำออกภายในกี่วัน จึงเป็นความไม่แน่นอนของ “ผู้ให้บริการ” ที่เป็นคนกลางอยู่ระหว่างรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมดูแล กับประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ภาระหนักทั้งหมดจึงตกกับผู้ให้บริการหรือแอดมินทันที

2.3 ปัญหาประการสาม คือ มาตราดังกล่าวเน้นการลงโทษผู้ให้บริการ ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการเป็นเพียง “ตัวกลาง” เท่านั้น แทนที่จะเน้นไปที่การสืบหาผู้กระทำผิดแท้จริงมากกว่า โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดเอง 

กรณีศึกษาที่เด่นชัดที่สุดสำหรับปัญหาการตีความและบังคับใช้มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ คดีจีรนุช เปรมชัยพร: ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งถูกฟ้องในฐานะผู้ให้บริการจากข้อความบนเว็บบอร์ดทั้งหมด 10 ข้อความ คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้จนถึงศาลฎีกา สุดท้ายศาลฎีกาวางบรรทัดฐานให้จำเลยรับผิดในข้อความเดียว ซึ่งอยู่บนเว็บบอร์ดนาน 20 วัน ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

ในระยะหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงปัญหาที่กล่าวมาแล้ว จึงเกิดความพยายามเสนอแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นหนึ่งในชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล หรือชุดกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และมีการแก้ไขมาตรา 15 เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาแล้วนี้ด้วย 

 

3. ประเด็นที่ร่างแก้ไขฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พัฒนาขึ้นจากกฎหมายเดิม

3.1 การยกเลิกคำว่า “จงใจ” และแก้ไขเพิ่มเติมเป็นคำว่า “ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจกัน”

ร่างกฎหมายใหม่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ยังไม่ได้ใช้คำว่า “เจตนา” ให้ชัดเจน แต่ใช้คำว่า “ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจกัน” ซึ่งย่อมเกิดความชัดเจนในการตีความและปรับใช้มากกว่าคำว่าจงใจ เพราะทั้งคำว่า ร่วมมือ ยินยอม รู้เห็นเป็นใจล้วนเป็นคำที่ใช้ในกฎหมายอาญาหลักทั่วไป มีการตีความในเชิงตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุน ในหมวดที่ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ตัวการ) และมาตรา 86 (ผู้สนับสนุน) ฉะนั้นร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการแก้ไขปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง ในแง่ปัญหาการบัญญัติถ้อยคำสำนวนในมาตรา 15

3.2 รัฐมนตรีออกกฎหมายลำดับรอง กำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน (หลัก Notice and Takedown)

จากกฎหมายเดิมเกิดปัญหาว่า “แอดมิน” ถือว่ามีความรับผิดทันที หากเป็นผู้บริการตามที่กฎหมายกำหนด และเข้าเงื่อนไข จงใจ ยินยอม หรือสนับสนุน ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น 

แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้นำหลัก Notice and Takedown มาใช้ หลักดังกล่าวนี้คือ หากพบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ให้รีบลบออกภายในเวลาอันเหมาะสมนับแต่วันที่รู้หรือได้รับแจ้ง หรือภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด หากลบออกภายในเวลาที่กำหนดแล้วก็จะไม่ต้องรับโทษ หากผู้ให้บริการมิได้ดำเนินการแก้ไขหรือระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ก็จะต้องระวางโทษ 

หลัก Notice and Takedown ที่กฎหมายใหม่จะนำเข้ามาใช้จึงเป็นการลดภาระการควบคุมดูแล และลดภาระความเสี่ยงของตัวกลางได้บ้าง เพราะมีการแจ้งเตือนจากฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเสมือนรัฐเข้ามามีบทบาทคัดกรองข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมายควบคู่ไปกับผู้ให้บริการ หลักการดังกล่าวจึงมีประโยชน์และช่วยลดภาระต่อผู้ให้บริการได้

แต่อย่างไรก็ตามขั้นตอนวิธีการตามมาตรา 15 วรรคสอง ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นั้น ยังไม่มีการออกกฎหมายลำดับรองถึงวิธีการแจ้งเตือนว่า มีขั้นตอนอย่างไร ระยะเวลาเท่าใดในการนำข้อมูลออกจากระบบของผู้ให้บริการ ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาต่อไป หากร่างใหม่ดังกล่าวมีประกาศใช้ออกมา ย่อมต้องมีกฎหมายลำดับรองออกตามมารับรองหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนเช่นกัน

3.3 เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติตามขั้นตอนแจ้งเตือน

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้มีการบัญญัติวรรคสามเพิ่มเติมขึ้นมา “…ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” หลักนี้สืบเนื่องมาจากวรรคสอง ที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้หลักการ Notice and Takedown หรือการแจ้งเตือนผู้ให้บริการว่า มีข้อมูลในการควบคุมดูแลของตนกำลังฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ ต้องนำข้อมูลนั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ตามขั้นตอนที่รัฐมนตรีประกาศอันเป็นกฎหมายลำดับรองออกมา และหากยังมีข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย “ผู้ให้บริการ” จึงมีความผิด

แต่มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่แจ้งแล้ว เพียงแต่ข้อมูลฝ่าฝืนกฎหมายนั้นยังปรากฏอยู่ภายใต้การดูแลของตน ตนย่อมพ้นความรับผิด ซึ่งต่างจากมาตรา 15 เดิมอันปราศจากการพิสูจน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏข้อมูลฝ่าฝืนกฎหมาย ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ให้บริการ กฎหมาย “ถือว่า” มีความรับผิดทันที

ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์หักล้างข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้นต่อผู้ให้บริการ แต่การบัญญัติดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี ดังคำสัมภาษณ์จากเว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ตนี้  

“…ทว่าในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตรรกะดังกล่าวกลับ “กลับกัน” คือแทนที่จะให้ผู้ให้บริการ “ไม่ต้องรับผิดไว้ก่อน” เว้นแต่จะมีส่วนรู้เห็นกับเนื้อหานั้น ร่างกฎหมายไทยกลับให้ “รับผิดไว้ก่อน” เว้นแต่ผู้ให้บริการจะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นกับเนื้อหานั้นหรือได้ทำตามขั้นตอนการแจ้งเตือนและเอาออกแล้ว ซึ่งนี่จะเป็นภาระแก่ผู้ให้บริการไทย…”

ซึ่งการตั้งข้อสังเกตดังกล่าว ผู้เขียนมีความคิดเห็นสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ เนื่องจากในกฎหมายอาญา จำเลยย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จากฝ่ายโจทก์จนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง อันเป็นภาระการพิสูจน์ที่ต้องตกแก่ฝ่ายโจทก์ แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวกลับผลักภาระการพิสูจน์ไปยังจำเลย ซึ่งเป็นการบัญญัติขัดต่อหลักการทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

ฉะนั้นร่างแก้ไขเพิ่มเติมใหม่แม้จะบัญญัติบทยกเว้นความผิดไว้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ แต่การบัญญัตินั้นนอกจากขัดหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ในอีกแง่หนึ่งยังเพิ่มภาระเรื่องการพิสูจน์เพื่อยกเว้นความผิดให้แก่ผู้ให้บริการได้เช่นกัน ความหวังดีของผู้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจึงควรทบทวนเรื่องการพิสูจน์ยกเว้นความผิดให้ถี่ถ้วนเสียก่อนการประกาศใช้จริง

 

4. ประเด็นที่ยังเป็นปัญหาเช่นเดิม โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มิได้แก้ปัญหาหรือลดภาระแต่อย่างใด

4.1 คำว่า “ผู้ให้บริการ” ยังกว้างและขาดการแยกประเภทผู้ให้บริการเช่นเดิม

ดังกล่าวแล้วในบทที่สอง เรื่อง ปัญหาอันเกิดจากการบัญญัติถ้อยคำสำนวน คำว่า “ผู้ให้บริการ” ยังกว้างเช่นเดิม มิได้มีการระบุลงไปเฉพาะเจาะจง ในอนาคตอาจเกิดปัญหาการตีความกว้างเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อเป็นผลร้ายกับคนที่ไม่ควรจะต้องรับผิดไปด้วย

4.2 ไม่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าหลังการแจ้งเตือนต้องนำข้อมูลออกจากระบบภายในกี่วัน

ปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่รัฐออกคำสั่งทางปกครอง ประการใดประการหนึ่งมายังประชาชน ในที่นี้คือ ผู้ให้บริการ ว่าต้องนำข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนควบคุมดูแล อันเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจึงต้องกระทำโดยมีเหตุผลรองรับ และชั่งน้ำหนักตามหลักสัดส่วน จึงสามารถออกคำสั่งเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นได้ และที่สำคัญนอกจากนั้น คำสั่งทางปกครองดังกล่าวยังต้องมีความชัดเจน แน่นอน ของเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐจะล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพนั้นๆ 

กรณีเรื่อง คำสั่งของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลออกจากระบบ จึงต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอน เช่น ต้องนำข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ภายใน 3 วันนับแต่ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที เป็นต้น มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้เป็นช่องโหว่ในการดำเนินคดีต่อผู้ให้บริการ โดยใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการด้วยกันเอง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ ปัญหาดังกล่าวจึงยังต้องรอดูกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจรัฐมนตรี ว่าจะกำหนดวิธีการ ขั้นตอนการแจ้งเตือนอย่างไร ซึ่งหากกำหนดเวลาไว้ให้น้อยเกินสมควร เช่น 1 วัน หลักการดังกล่าวนี้ก็อาจสร้างปัญหาอื่นตามมาอีกก็ได้

 

5. แนวโน้มต่อเศรษฐกิจดิจิทัลกับมาตรา 15 

หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจดิจิทัล ในอนาคตอันใกล้นี้ ต้องมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร หรือเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ

และเมื่อการสื่อสารทั้งหมดถูกรวบรวมโดยระบบคอมพิวเตอร์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ เว็บไซต์ต่างๆ ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น ปัญหาของมาตรา 15 ย่อมเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ฉะนั้นหากยังมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับปัจจุบันอยู่ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการที่ต้องรับภาระความเสี่ยงในการควบคุมดูแลเว็บไซต์ของตนโดยเจ้าหน้าที่มิได้มีส่วนช่วยควบคุมดูแลอย่างเต็มกำลัง และเมื่อผู้ให้บริการต้องคอยควบคุมดูแล จนเกินกำลังที่ตนจะรับภาระไว้ จึงตัดปัญหาโดยการลบ บล็อก ผู้ใช้บริการออกจากเว็บไซต์ของตนเอง ในทางกลับกันผู้ใช้บริการย่อมรู้สึกไม่เสรีในการใช้สื่อผ่านสังคมออนไลน์และหลบเลี่ยงเข้าสู่เว็บไซต์ที่ตนได้รับความรู้สึกเช่นนั้น สุดท้ายสภาวะเช่นนี้จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ในโลกดิจิทัลเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแน่นอน                  

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage