![ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: บรรยากาศเสี่ยง 'อันตราย' ที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ !](https://www.ilaw.or.th/wp-content/uploads/2016/04/2-1-1024x638.png)
ช่วงเช้าของวันนี้ (27 เมษายน 2559) มีรายงานผ่านโลกออนไลน์เป็นระยะว่า ประชาชนคนธรรมดาถูกจับกุมและพาตัวไปจากบ้านตั้งแต่เวลารุ่งเช้า โดยบุคคลที่ถูกจับตัวไป บางคนเป็นช่างภาพ บางคนเป็นเจ้าของกิจการ บ้างก็เป็นนักเขียน แต่สิ่งที่คล้ายกันในหมู่พวกเขาก็คือ “ความสนใจต่อเหตุการณ์บ้านเมือง”
จากข้อมูลของ Voice TV ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลทั้งในกรุงเทพมหานครและขอนแก่นรวมอย่างน้อย 10 ราย ทั้งนี้ ทราบชื่อเพียง 5 ราย ได้แก่
- นพเก้า คงสุวรรณ ช่างภาพ
- ศุภชัย สายบุตร ช่างภาพ
- วรารัตน์ เหม็งประมูล
- หฤษฏ์ มหาทน 25 ปี อดีตนักข่าว นักเขียน และร่วมหุ้นเปิดร้านราเม็งในจังหวัดขอนแก่น และร้านข้าวมันไก่ใน สปป.ลาว
- นิธิ กุลธนศิลป์ อายุ 26 ปี ผู้จัดการร้านราเม็งของหฤษฏ์
คำบอกเล่าจากปากญาติ: พฤติการณ์การจับกุมที่อุกอาจและน่าสงสัย
จากคำบอกเล่าของญาติหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระหว่างการจับกุม พอจะสรุปได้ว่า การจับกุมอาจจะมีทั้งตำรวจและทหาร ซึ่งเข้ามาจับกุมตัวที่บ้านหรือห้องพักในช่วงเช้าตรู่ ทั้งนี้ ไม่มีการชี้แจงเหตุผลในการจับกุม ไม่แสดงหมายจับ อีกทั้งยังยึดและอายัดทรัพย์สิน พร้อมทั้งตรวจค้นโดยไม่แสดงหมายศาล และยังไม่บอกอีกว่าจะควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไปไว้ที่ไหน
คำบอกเล่าจากญาติคนหนึ่งของบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไป ได้เล่าถึงพฤติกรรมการจับกุมไว้ว่า ขณะกำลังนอนหลับอยู่ที่ห้องนอนได้ยินเสียงเหมือนมีคนกำลังงัดแงะประตูบ้าน เมื่อออกมาจากห้องนอนก็พบว่า มีชายแต่งชุดคล้ายทหารจำนวนประมาณ 10 นาย สวมเสื้อยืดสีขาวและสีม่วงอย่างละ 1 นายกำลังงัดประตูบ้านทั้งด้านหน้าและประตูมุ้งลวดด้านหลัง จึงทำให้ตนตกใจมาก ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะถูกกระทำแบบนี้
นอกจากนี้ ยังมีคำบอกเล่าจากญาติของผู้ที่ถูกจับตัวไปอีกคนว่า เจ้าหน้าที่มาที่หน้าบ้านเเละกดกริ่งติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้ญาติตื่น รีบวิ่งลงมาดู เนื่องจากยังหากุญแจไม่เจอ จึงยังไม่ได้เปิดประตูในทันที แต่เจ้าหน้าที่บางส่วนกลับปีนเข้ามาจากหลังบ้าน เมื่อเปิดประตูทหารเข้ามาต่อว่า ทำไมเปิดช้า ทำลายเอกสารหรือไม่ อีกทั้งทหารเข้ามาในบ้านโดยไม่ถอดรองเท้า และเข้าค้นทุกอย่าง พร้อมกับยึดคอมพิวเตอร์ไป
จับก่อนรู้ทีหลัง: ข้อมูลจาก คสช. เชื่องช้า-สับสน
เมื่อนักข่าวสอบถามไปยัง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งออกมาเปิดเผยถึงกรณีจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด ทราบเพียงว่าเป็นข่าวที่เกิดจากการแชร์ในโลกออนไลน์ ซึ่งต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ในขณะนี้ทาง คสช.กำลังตรวจสอบอยู่
จากนั้นจึงมีรายงานข่าวของมติชนที่ระบุการชี้แจงของ พ.อ.วินธัย ว่า การควบคุมตัวบุคคลทั้ง 10 คน เป็นไปตามการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียมาโดยตลอด พร้อมทั้งมีหลักฐานที่สมบูรณ์ในการเอาผิดทางคดีได้
ทั้งนี้ การควบคุมตัวดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนแรกคือทหารจะควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ซึ่งคุมตัวไม่เกิน 7 วัน เพื่อพูดคุยขอความร่วมมือ และสอบสวนร่วมกันระหว่าง คสช. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ส่วนการตั้งข้อหานั้น ยังไม่มีการตั้งข้อหา เพราะต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นจากการสอบพฤติกรรมในการใช้สื่อนั่นเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ส่วนจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 หรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ดี ยังมีความสับสนอยู่ว่า สถานที่ควบคุมตัวนั้นจะเป็นที่ไหนบ้าง เช่น บุคคลทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) หรือจะแยกควบคุมตัวตามพื้นที่จับกุม เช่น บุคคลที่ถูกจับกุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็จะถูกควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ส่วนบุคคลที่ถูกจับกุมที่ขอนแก่นก็จะควบคุมตัวไว้ค่ายมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) แทน
ความผิด พ.ร.บ.คอมฯ แต่ใช้อำนาจ จับกุม-ควบคุมตัวตามมาตรา 44?
จากข้อมูลของมติชนระบุอีกว่า ความผิดที่นำไปสู่การจับกุมบุคคลดังกล่าว คือความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 ส่วนการควบคุมตัวนั้นเป็นการใช้อำนาจจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งอ้างอิงตาม มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ที่ให้ควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ยังไม่ชัดว่า เป็นคำสั่งฉบับที่เท่าไร
ในขณะเดียวกัน เมื่อมติชนได้สอบถามไปยัง พ.อ.สมชาย ครรภาฉาย รอง ผบ.มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ก็ได้ความว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากคณะทำงานมีการตรวจพบว่ามีการโพสต์ข้อความในเชิงต่อต้านการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งอำนาจการจับกุมยังเป็นไปตามอำนาจของชุดปฎิบัติการตามคำสั่งที่ 13 ของ คสช.
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งว่า บุคคลดังกล่าวกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ การใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในครั้งนี้ อยู่บนฐานอำนาจใดกันแน่
ข้อสังเกตของไอลอว์: อำนาจที่ใช้กับฐานความผิดไม่สอดคล้องกัน
ท่ามกลางความสับสนของการใช้อำนาจจับกุมตัวบุคคลดังกล่าว ไอลอว์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลและความชอบธรรมในอำนาจที่จะจับกุม ตรวจค้น ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน รวมไปถึงการควบคุมตัวในครั้งนี้ว่า มีปัญหาในแง่ “อำนาจที่ใช้กับฐานความผิดไม่สอดคล้องกัน”
เพราะอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.กำหนดว่า เจ้าพนักงานสามารถจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า, ควบคุมตัว, ค้น ยึด อายัด, หรือควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวไว้ด้วย ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามฐานความผิดในคำสั่งหัวหน้า คสช.
แต่ทว่าการจับกุมและควบคุมตัวดังกล่าว หากเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จริง ฐานความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ 3/2558 หรือ 13/2559 ที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมและควบคุมตัวไว้ได้ นอกจากนี้ หากเป็นกรณีที่เป็นความผิดจากการโพสต์เฟซบุ๊ก ย่อมไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทหารไม่สามารถอ้างอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อใช้กับกรณีนี้ได้
ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลด้วยพฤติการณ์อุกอาจไม่ต่างจากนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น คุมตัวสิรวิชญ์ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หรือการบุกจับสิรภพกลางถนนก่อนเข้าเมืองกาฬสินธุ์ และการบุกไปจับณัฐที่คอนโดมิเนียมตอนตีหนึ่ง หรือการใช้กำลังอุ้มสุนันทาขึ้นรถแท็กซี่ออกจากที่ชุมนุม รวมไปถึงการไปควบคุมตัววัฒนา เมืองสุข ที่บ้านพัก
อีกทั้งจากรายงานผลการติดตามการใช้อำนาจ ตามกฎอัยการศึก และคำสั่งหัวหน้า คสช. ของไอลอว์ พบว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมโดยไม่มีหมายศาล ไม่มีการแจ้งข้อหาหรือการกระทำความผิด และไม่ให้สิทธิในการพบทนายความหรือติดต่อญาติ ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ล้วนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการบังคับให้สูญหาย การซ้อมทรมาน และการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว รวมไปถึงการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยทหาร เช่น การข่มขู่ให้รับสารภาพระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหาร
ปัจจุบันนี้ การใช้กำลังเข้าจับกุมตัวบุคคลเช่นนี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอำเภอใจ และไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลายลง โดยเฉพาะเมื่อมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว (คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 และ 13/2559) กลายเป็นช่องทางให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ทหารแบบเดียวกับกฎอัยการศึก เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก หรือปราบปรามผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดไว้แล้วว่ามีฐานความผิดใดบ้างในคำสั่งหัวหน้า คสช.
เมื่อการใช้อำนาจเหล่านี้มีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ทหารจะลุแก่อำนาจ แต่กลไกการป้องกันกลับเปิดช่องให้ทหารไม่ต้องรับผิดและตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง อีกทั้งกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของศาลยุติธรรมก็เป็นไปได้ยาก สิ่งที่น่ากลัวก็คือ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่บรรยากาศเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ใช่หรือไม่
[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ]