เงื่อนไขตั้ง กมธ. ศึกษานิรโทษกรรม มาตรการที่รัฐบาลต้องทำเพื่อไม่ให้เป็น “การถ่วงเวลา”

30 มกราคม 2567 พรรคเพื่อไทยโดยการแถลงของชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศจะขอเลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อศึกษาแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาก่อน

นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประเด็นการนิรโทษกรรมประชาชนได้รับความสนใจและเห็นความสำคัญจากพรรคการเมือง เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีอิสรภาพของประชาชนเป็นเดิมพัน อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุของความเร่งด่วนเดียวกัน ทำให้การศึกษาแนวทางนิรโทษกรรมนี้ต้องมาพร้อมกับมาตรการที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ อย่างน้อยก็ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังดำเนินการศึกษา

เวลาคือสิ่งที่สำคัญที่สุด การทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ จะต้องมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องถูกดำเนินคดี เข้าการพิจารณาคดี หรือเดินเข้าฟังคำพิพากษาที่ทำให้อาจต้องถูกส่งเข้าเรือนจำ หากระยะเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญใช้ทอดเวลาออกไป ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์คดีทางการเมืองเลวร้ายลงไปด้วย

ดังนั้น ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังศึกษาการนิรโทษกรรม รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ความจริงใจด้วยการดำเนินมาตราการต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล ให้คดีความทางการเมืองที่กำลังเดินอยู่หยุดลงชั่วคราวหรือชะลอกระบวนการออกไปก่อน โดยที่ไม่ใช่การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้มีดังนี้

มาตรการที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลและสามารถดำเนินการได้ทันที

1.         นายกฯ สั่งตำรวจชะลอ/หยุดฟ้องคดีใหม่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจบังคับบัญชาโดยตรงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถออกคำสั่งให้ตำรวจชะลอหรือหยุดการฟ้องคดีการเมืองที่ยังอยู่ในชั้นตำรวจทั้งหมดได้ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังศึกการนิรโทษกรรม เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกิดเพิ่มจำนวนคดีการเมืองจากที่สูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก หรือกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน ใช้ดุลพินิจอย่าง “เคร่งครัด” ในการสั่งฟ้องคดีโดยหากเป็นคดีที่การกระทำไม่ได้นำไปสู่ความเสียหายต่อผู้ใดอย่างเป็นรูปธรรม หรือยังไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอก็ยังไม่ต้องสั่งฟ้อง

การสั่งให้ชะลอการดำเนินคดีไม่ได้เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มีผลให้คดีความที่เกิดขึ้นหายไป และไม่ใช่เป็นการทำให้คนที่กระทำความผิดไม่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะคดีทั้งหมดยังคงอยู่ในกระบวนการ แต่เป็นการออกนโยบายทางการเมืองเพื่อลดความตึงเครียด และทำให้เปิดพื้นที่การเจรจาเพื่อหาทางออกในระหว่างที่กระบวนการรัฐสภากำลังเดินหน้า หากจะมีการแก้ไขกฎหมายหรือออกนโยบายใดๆ ในอนาคตอันใกล้ก็จะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่สามารถพูดคุยกันบนหลักการและเหตุผลได้ เช่นเดียวกับ การออกนโยบาย “เร่งรัด” ดำเนินคดียาเสพติดให้รวดเร็ว หรือการออกนโยบาย “ชะลอ” การดำเนินคดีกับเกษตรกรในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า โดยสำหรับคดีบางประเภทคดีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสุดท้ายต้องมีการเอาผิดผู้กระทำความผิด คดีเหล่านั้นก็ยังเดินหน้าต่อไปในกระบวนการยุติธรรมได้

2.     รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสั่งคุมขังนักโทษการเมืองนอกเรือนจำได้ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 กำหนดให้กรมราชทัณฑ์โดยคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง สามารถกลั่นกรองและมีมติให้คุมขังนักโทษในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ ดังนั้น ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงสามารถสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ใช้ระเบียบดังกล่าวในการย้ายสถานที่คุมขังของนักโทษการเมืองจากเรือนจำสถานที่อื่นได้ในระหว่างที่มีการศึกษาการนิรโทษกรรม

ซึ่งอาจเป็นการให้นักโทษไปรับโทษต่อโดยกักตัวไว้ในบ้านของตัวเอง หรือการจัดตั้งสถานที่คุมขังใหม่เฉพาะสำหรับผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองให้ไปอยู่อาศัยรวมกันในพื้นที่หนึ่งๆ ก็ได้ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงรัฐบาลภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการแยกนักโทษที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงไปอยู่รวมกันที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ 

3. รัฐมนตรียุติธรรมสั่งพักโทษคดีเด็ดขาด ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52(7) ให้สิทธินักโทษเด็ดขาดความประพฤติดีที่รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน หรือหนึ่งในสาม มีสิทธิได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษ หรือให้ได้รับโทษจริงน้อยกว่าตามคำพิพากษาและได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด ซึ่งทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สามารถดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดและเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.2562 ให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาพักโทษร่วมกับตัวแทนจากองค์กรอื่น ให้นักโทษการเมืองในคดีที่เด็ดขาดและเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษได้

มาตรการที่รัฐบาลต้องผลักดันกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม

1.     อัยการชะลอ/หยุดฟ้องคดีใหม่ ช่วงเวลาที่มีการศึกษาการนิรโทษกรรม รัฐบาลสามารถดำเนินการเจรจากับสำนักงานอัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด แสดงความตั้งใจที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้อัยการชะลอการสั่งฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองออกไปก่อน หรือให้ใช้ดุลพินิจอย่าง “เคร่งครัด” ในการสั่งฟ้องคดีโดยหากเป็นคดีที่การกระทำไม่ได้นำไปสู่ความเสียหายต่อผู้ใดอย่างเป็นรูปธรรม หรือยังไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอก็ยังไม่ต้องสั่งฟ้อง 

หรือสำหรับคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ก็ให้อัยการพิจารณาว่า หากคำพิพากษาของศาลมีเหตุผลถูกต้องตามสมควรและการดำเนินคดีต่อไปไม่ได้เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อไปเป็นหลัก หากมีคำพิพากษาที่เห็นว่าผิดพลาดจากข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างชัดแจ้งถึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเป็นข้อยกเว้นเฉพาะกรณี

2.     ศาลชะลอการพิจารณาคดี/อ่านคำพิพากษา รัฐบาลสามารถดำเนินการเจรจากับประธานศาลฎีกา ขอให้ศาลชะลอการพิจารณาคดีการเมืองที่อยู่ในชั้นศาลออกไปก่อนในระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกำลังทำการศึกษาการนิรโทษกรรมได้เช่นกัน ในขณะที่หากมีคดีใดที่จะต้องอ่านคำพิพากษา ก็ขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเช่นกันโดยสอบถามความยินยอมของฝ่ายโจทก์และจำเลยในแต่ละคดีประกอบด้วย โดยไม่เป็นการแทรกแซงดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐานหรือการตีความกฎหมาย 

อีกทั้งรัฐบาลยังสามารถเจรจาเพื่อขอให้ศาลพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และระเบียบของประธานศาลฎีกา โดยหากศาลเห็นว่าไม่สามารถให้ประกันตัวได้ในคดีได้ ก็ต้องอาศัยข้อเท็จจริงพิเศษเป็นข้อยกเว้นเฉพาะกรณี

มาตรการผ่านสภาผู้แทนราษฎร

1.     ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยต้องเสนอร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลและใช้กระบวนการของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปฯ) เพื่อเร่งกระบวนการในการพิจารณากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำวาระการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาก่อนผ่านการลงมติของสภา รวมทั้งการสนับสนุนร่างกฎหมายที่มีการเสนอเข้ามาโดยสส. หรือภาคประชาชน

ทั้งนี้ ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินการไม่ว่าจำเป็นการศึกษาหรือพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้คดีการเมืองส่งประชาชนเข้าเรือนจำเพิ่มเติม รัฐบาลก็ยังสามารถใช้มาตรการในอำนาจของรัฐบาล และมาตรการที่ต้องผลักดันกับองค์กรในกระบวนการยุติธรรมไปพร้อมกันได้ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในเรือนจำและลดความตึงเครียดระหว่างการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage