เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 20 มกราคม 2559 ชายฉกรรจ์แปดคนแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารบังคับให้สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่ถูกศาลทหารออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ขึ้นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่มีป้ายทะเบียนขับไปยังสถานที่ไม่เปิดเผย
ในคืนเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช.ปฏิเสธว่าไม่ทราบถึงการควบคุมตัวครั้งนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 21 มกราคม 2558 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.ก็แถลงว่า การควบคุมตัวครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ปฏิบัติอย่างให้เกียรติละมุนละม่อมไม่มีความรุนแรง อย่างที่บางคนพยายามจะบิดเบือน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่าสิรวิชญ์ทำผิดหลายครั้ง ไม่ใช่แค่กรณีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่วนการจับกุมสามารถทำได้หลายรูปแบบ
สิรวิชญ์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจที่จะจับกุมตัวเขาได้ แต่การจับกุมก็ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายและต้องมีความพอเหมาะไม่เกินกว่าเหตุ แม้ก่อนหน้านี้สิรวิชญ์จะไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนจนเป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับ แต่เขาก็ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนียังคงใช้ชีวิตตามปกติ วันที่ 8 มกราคม 2559 สิรวิชญ์และเพื่อนก็เดินทางไปที่ สน.รถไฟธนบุรี แต่ไม่ได้เข้ารายงานตัว และวันที่ 16 มกราคม 2559 สิรวิชญ์และเพื่อนก็เดินทางไปทำกิจกรรมที่สถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำหมายจับไปแสดงตัวและจับกุมในเวลากลางวันได้โดยไม่ยาก
การควบคุมตัวโดยใช้กำลังทหารในยามวิกาล โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ปกปิดสังกัดของเจ้าหน้าที่ ปกปิดสถานที่ที่จะนำตัวไป การไม่อนุญาตให้ติดต่อญาติหรือทนายความ รวมทั้งการใช้กำลังตามคำบอกเล่าของสิรวิชญ์ จึงเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อละเมิดสิทธิของประชาชนเกินความจำเป็น และไม่พอสมควรแก่เหตุ
สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้รับความคุ้มครองโดยนัยของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แม้กติกาดังกล่าวจะถือว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายจะเป็นสิทธิที่ถูกจำกัดได้โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย แต่การจำกัดก็ต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิยังต้องได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตลอดกระบวนการ
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ภายใต้รัฐบาล คสช. ยังเคยเข้าควบคุมตัวบุคคลด้วยพฤติการณ์อุกอาจไม่ต่างจากนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น กรณีเข้าควบคุมตัวธเนตรขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล, การบุกจับสิรภพกลางถนนก่อนเข้าเมืองกาฬสินธุ์, การบุกไปจับณัฐที่คอนโดมิเนียมตอนตีหนึ่ง หรือการใช้กำลังอุ้มสุนันทาขึ้นรถแท็กซี่ออกจากที่ชุมนุม
การใช้กำลังเข้าจับกุมตัวบุคคลเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ ตามอำเภอใจ และไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลายลง ช่วงแรกเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก แม้ต่อมากฎอัยการศึกจะถูกแทนที่ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจจับโดยพลการ หรือจับโดยไม่มีหมายศาลได้อีกต่อไป แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีองค์กรหรือกลไกที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชน
ยิ่งในภาวะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจควบคุมตัวได้ 7 วันโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดเผยสถานที่ ยิ่งทำให้ผู้ถูกจับกุมไม่มีความมั่นคงในชีวิตและร่างกาย
กรณีเหตุการณ์วันที่ 20 มกราคม 2559 ยังไม่เลวร้ายเกินไปนัก เมื่อภายหลังสิรวิชญ์ปรากฏตัวที่สถานีตำรวจ แต่หากสังคมยอมรับพฤติการณ์การควบคุมตัวด้วยความรุนแรงโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลาเช่นนี้ เท่ากับการยอมรับให้ประชาชนทุกคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหายได้ตลอดเวลา
หมายเหตุ: ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ ชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เขียนและเผยแพร่ต่อสาธารณะ