12 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.17 น. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เริ่มประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบคุณสมบัติฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมขอใช้วิธีการประชุมลับ ที่ประชุม สนช. ไม่มีใครคัดค้าน
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. จึงขอให้ยุติการถ่ายทอดสด ปิดกล้องวงจรภายในสภา ให้สมาชิกงดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด และเชิญผู้สื่อข่าวออกนอกห้องประชุม สัญญาณการถ่ายทอดสดกลับมาอีกครััง เวลา 13.15 น. นับเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในการพิจารณาลับ สมาชิก สนช. ลงคะแนนเห็นชอบผู้สมัคร กกต. ทั้ง 7 คน
ผลปรากฎว่าที่ประชุม สนช. เห็นชอบผู้สมัคร กกต. จำนวน 5 คน และไม่เห็นชอบ จำนวน 2 คน
ผู้สมัคร กกต. ที่ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 5 คน
1) สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อายุ 60 ปี ศาสตราจารย์ ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 178 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง งดออกเสียง 3 คน
2 ) อิทธิพร บุญประคอง อายุ 61 ปี อดีตเอกอัครราชทูต ด้วยคะแนนเห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 5 คน
3) ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อายุ 65 ปี อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้วยคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 5 คน
4) ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อายุ 64 ปี ผู้พากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 11 เสียง งดออกเสียง 6 คน
5) ปกรณ์ มหรรณพ อายุ 63 ปี ผู้พิพากษาศาลฎีกา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 185 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 6 คน
ผู้สมัคร กกต. ที่ไม่รับความเห็นชอบ จำนวน 2 คน
1) สมชาย ชาญณรงค์กุล อายุ 60 ปี อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยคะแนนเห็นชอบ 3 เสียง ไม่เห็นชอบ 193 เสียง งดออกเสียง 5 คน
2) พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อายุ 61 ปี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และประธาน กกต. จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 28 เสียง ไม่เห็นชอบ 168 เสียง งดออกเสียง 5 คน
จากรายชื่อทั้งว่าที่ กกต. ทั้ง 7 พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีผลงานหรือประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีเพียง พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ที่เคยเป็นประธาน กกต. จังหวัดศรีสะเกษ แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช. สำหรับตำแหน่ง กกต. อีกจำนวน 2 คน จะต้องมีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน
4 ปี หลังการรัฐประหาร คสช. ยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญครบทุกแห่งแล้ว
ในช่วง 4 ปีหลังการรัฐประหาร คสช. พยายามแทรกแซงองค์กรอิสระหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 44 ต่ออายุ หรือ ปลด ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในขณะเดียวกัน คสช. ก็ยังใช้ สนช. หรือสภาที่มาจากการแต่งตั้งของตัวเอง ทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ
ล่าสุดที่ประชุม สนช. เห็นชอบบุคคลผู้สมควรเป็น กกต. จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 7 คน แบ่งเป็น 3 คนแรก ได้แก่ สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อิทธิพร บุญประคอง และ ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย ซึ่งทั้ง 3 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาอันประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราฎร (ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ที่แทน) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว) ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรมนูญแต่งตั้ง
ส่วนอีก 2 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นคนคัดเลือก ได้แก่ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ ปกรณ์ มหรรณพ
อย่างไรก็ดี กกต. เป็นองค์กรอิสระแห่งสุดท้ายที่ สนช. ยังไม่ได้แต่งตั้งนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อ สนช. แต่งตั้ง กกต. แล้ว ก็จะเท่ากับว่า สนช. ซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ได้ส่งคนเข้าไปยึดองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญครบทั้งหมดแล้ว
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทสำคัญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ในการกำกับการทำงานของนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน