สนช. งัดเทคนิคใหม่ ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ยืดเลือกตั้งเพิ่ม 90 วัน

ยังไม่มีความแน่นอนว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยลั่นวาจาไว้หรือไม่ เพราะมีแนวโน้มว่าโรดแมปตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกเลื่อนไปอีกถึง 90 วัน หรือสามเดือน หากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  
เหตุที่ "โรดแมป" จะถูกขยับออกไปอีก 90 วัน เพราะคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แก้ไข มาตรา 2 ของ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ จากเดิม “…ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา…” เป็น “…ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา…” กล่าวคือ จากเดิมประกาศวันนี้ วันพรุ่งนี้ใช้ได้ทันที เปลี่ยนเป็นประกาศแล้วให้รออีก 90 วัน แล้วค่อยบังคับใช้ได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้จากที่กำหนดเดิม คือ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูกทั้งสี่ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งบังคับใช้ ระยะเวลา 150 จะยังไม่เริ่มนับทันที แต่ต้องรออีก 90 วันจึงจะเริ่มนับ และเมื่อเริ่มนับไป 150 วัน กว่าจะถึงวันเลือกตั้งก็ยาวไปอีกเกือบ 240 วัน หรือแปดเดือน ซึ่งเทคนิคนี้เป็นหนึ่งในสี่เทคนิคที่ คสช. ใช้เพื่อขยายโรดแมปยืดเวลาสู่การเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ
4 เทคนิคยืดเลือกตั้ง ของ คสช.
"การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมป" เป็นประโยคที่ คสช. จะยืนยันทุกครั้งเมื่อถูกสอบถามเรื่องเลือกตั้ง แต่เป็นที่รู้กันว่าโรดแมปของ คสช. ไม่มีความแน่นอน ซึ่งปัจจัยหลักของ คสช. ที่เป็นข้ออ้างในการสร้างความไม่แน่นอนของโรดแมปสู่การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับสามปัจจัย คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมา คสช. ใช้ข้ออ้างเหล่านี้เป็นเทคนิคในการเลื่อนการเลือกตั้ง
เทคนิคที่ 1 ยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายลูก 
การยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายลูก ส.ส. เป็นเทคนิคล่าสุดที่ถูกนำมาใช้ในการยืดเวลาเลือกตั้ง จากที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่าเทคนิคนี้ สนช. นำมาใช้กับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การขยายเวลาบังคับใช้ออกไปเช่นนี้ แตกต่างกับกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับอื่นๆ ที่กำหนดชัดเจนว่า “ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ขณะที่ย้อนกับไปดู พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ. 2541 กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ. 2550 ก็กำหนดให้ใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศเช่นกัน
ดังนั้นการยืดเวลาออกไปอีก 90 วัน จึงไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับในทางกฎหมาย เพราะเห็นชัดว่าสามารถประกาศให้มีผลใช้บังคับทันทีได้ และอาจกระทบต่อคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปลายปี 2560 ที่จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
เทคนิคที่ 2 ไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง
วันที่ 8 ตุลาคม 2560 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ พ.ศ.2560 บังคับใช้อย่างเป็นทางการพร้อมด้วยการกำหนดกรอบว่าเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องดำเนินการจัดการภายในพรรคให้ทันก่อนถึงการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ความจริงพรรคการเมืองยังไม่สามารถกิจกรรมใดๆ ได้ เนื่องจากติดล็อก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ยังห้ามชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
จนกระทั่งวันที่ วันที่ 22 ธันวาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จึงออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คสช. อ้างว่า เนื่องจาก สนช. กำลังพิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อยู่ และก็เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสใช้พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ทำลายความสงบเรียบร้อบของบ้านเมือง
ทั้งนั้มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่า เพียงแค่ คสช. ยกเลิกประกาศ/คำสั่งที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม การเลือกตั้งก็จะเป็นไปตามโรดแมปแล้ว โดยไม่ต้องใช้เทคนิค ยืดเวลาบังคับใช้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน 
เทคนิคที่ 3 กำหนดให้ตัวเองจัดทำร่างกฎหมายลูกนาน 11 เดือน
ระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับ สนช. รวมกันเป็นเวลาประมาณ 11 เดือน (330 วัน) โดยแบ่งเป็น กรธ. ใช้เวลาแปดเดือน (240 วัน) สนช. ใช้เวลาสองเดือน (60 วัน) และใช้เวลาอีกหนึ่งเดือน (30 วัน) ในกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าร่างกฎหมายลูกฉบับนั้นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ขณะที่กฎหมายลูกแปดจากสิบฉบับก่อนหน้านี้ กรธ.ลงมือร่างไว้ก่อนรัฐธรรมนูญผ่านและสามารถทำได้เสร็จก่อนกำหนดหลายเดือน แต่ร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งสองฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นสองฉบับที่ใช้เวลาเต็มตามโรดแมปที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเหตุผลอธิบายถึงสาเหตุที่ใช้เวลาไปมาก ทั้งที่ก่อนนี้ กรธ. เคยกล่าวว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนกำหนด เพื่อที่จะจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการจัดทำร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2550 จะพบว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น จัดทำร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 45 วัน นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ และให้ สนช.ในขณะนั้นเร่งพิจารณาให้เสร็จ ภายใน 45 วัน หลังจากนั้นต้องจัดการเลือกตั้ง 
เทคนิคที่ 4 แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วสี่ครั้ง โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งที่ทำให้ระยะเวลาในโรดแมปสู่การเลือกตั้งขยายออกไป การแก้ไขครั้งล่าสุดหากจำกันได้ เกิดขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติไปแล้วกว่าห้าเดือน โดย คสช. สั่งให้ สนช. แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นให้พระมหากษัตริย์สามารถพระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดลงในร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ส่งผลให้จากเดิมที่คาดว่าจะได้เลือกตั้งอย่างเร็วประมาณเดือนธันวาคม 2560 ต้องเลื่อนออกไป
การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ส่งผลให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ คสช. ถูกหลายฝ่ายกดดันให้มีการจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แรงกดดันดังกล่าวจึงนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติม โดย สนช. ผลของการแก้ไขทำให้การเลือกตั้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดอย่างช้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ต้องขยับออกไปเป็นช่วงเดือนธันวาคม 2559
อย่างไรก็ตามภาพฝันแรกเริ่มเคยมีว่า จะเกิดการเลือกตั้งในปี 2559 ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ก็ต้องสลายไปเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง โดยครั้งใหม่นี้นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ และขณะนั้นคาดกันว่าหากมีชัยร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะสามารถจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 ได้
สุดท้ายเข้าสู่ปี 2561 ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า คสช. จะจัดการเลือกตั้งเมื่อไร และดูเหมือนว่า คสช. ยังคงมองหาปัจจัยต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขเพื่อยืดเวลาเลือกตั้งต่อไป และนั่นอาจตรงกับคำตอบของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวหลังร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองถูกคว่ำว่า “เขา (คสช.) อยากอยู่ยาว”  

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage