19 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เปิดเวทีสาธารณะให้มีพื้นทีพูดคุยและถกเถียงกันถึงเรื่อง “กฎหมายอุ้มบุญ: เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับความเป็นธรรมทางเพศ” ซึ่งบรรยากาศในวันนี้เต็มไปด้วยนักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สถาบันครอบครัวและหน่วยงานทางการแพทย์ โดยแต่ละกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างหลากหลาย
ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา อธิบายว่า การอุ้มบุญ (Surrogacy) ในทางการแพทย์ คือ การตั้งครรภ์แทน หรือ การอุ้มท้องแทน เกิดขึ้นจากผู้หญิงคนหนึ่งสมัครใจที่จะรับตั้งครรภ์แทนให้กับบุคคลอื่น โดยให้พันธะสัญญาว่าทารกที่คลอดออกมานั้นจะต้องเป็นบุตรของผู้ที่ขอให้ตั้งครรภ์ วิธีการดั้งเดิม คือ การนำไข่ของผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์ไปผสมกับอสุจิของสามีของหญิงที่้ต้องการมีลูก หรืออสุจิที่รับบริจาคมา หลังจากปฏิสนธิแล้วจึงฉีดเข้าไปฝังตัวในมดลูกของหญิงที่ตั้งครรภ์แทน หรืออีกวิธีการหนึ่งคือ การตั้งครรภ์แท้ ด้วยการนำไข่และ/หรืออสุจิมาจากคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกหรือจากการรับบริจาค ซึ่งกรณีนี้ผู้ตั้งครรภ์แทนจะรับอุ้มท้องจากตัวอ่อน ที่ปฏิสนธิข้างนอกด้วยเทคโนโลยี
แต่ในทางสังคมปรากฏการอุ้มบุญอยู่ 2 กรณีคือ การตั้งครรภ์แทนแบบไม่มีค่าจ้าง (Altruistic surrogacy) เกิดจากความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยคนที่รับจ้างอาจเป็นญาติพี่น้องหรือไม่ใช่ก็ได้ และ การตั้งครรภ์แทนในเชิงพาณิชย์ (Commercial surrogacy) มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงผู้รับจ้างตั้งครรภ์ ด้วยการซื้อบริการผ่านบริษัทตัวแทนกลาง ซึ่งจะจัดหาผู้หญิงตามคุณสมบัติที่ต้องการมาให้เลือก จัดหาไข่ อสุจิ และหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ตลอดจนดูแลหญิงตั้งครรภ์กระทั่งคลอด ด้วยสนนราคารวมเกือบครึ่งล้าน
ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวได้สะท้อนความแตกต่างที่มีอยู่จริงของผู้หญิงทั้งสองกลุ่มไว้ คือ กลุ่มหนึ่งรับจ้างตั้งครรภ์ เพื่อต้องการค่าจ้างที่สูง ในขณะเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่งก็ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลทางหนึ่ง
ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า ความจำเป็นที่ควรมีกฎหมายอุ้มบุญ หรือ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. … “ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับผลกระทบในการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ ทั้งหญิงผู้รับจ้างตั้งครรภ์ และเด็กที่จะเกิดมาจากการอุ้มบุญไม่ให้ตกอยู่ในภาวะไร้สัญชาติ หรือเสียสิทธิบางอย่างที่ควรได้รับจากพ่อแม่ที่มีความเกาะเกี่ยวทางพันธุกรรม จึงควรมีกฎหมายกำหนดให้เด็กเข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองในรัฐที่เป็นภูมิลำเนาของพ่อแม่ผู้ว่าจ้าง” ส่วนหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไม่ว่าในกรณีรับค่าจ้างหรือไม่รับค่าจ้าง ควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสิทธิในการตัดสินใจเรื่องการเจริญพันธุ์ และสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งการมีกฎหมายที่ไม่อนุรักษ์นิยมมากเกินไปจะช่วยตอบโจทย์นี้ได้ดี
ที่สำคัญบริบทชีวิตคู่ในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้การอุ้มบุญไม่ได้จำกัดแค่คู่รักเพศหญิง-ชาย เท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงคู่รักเพศเดียวกัน และคนโสดที่ปราถนาจะมีลูกและชีวิตครอบครัว
ทั้งนี้ ผศ.ดร. สุชาดา เสนอข้อมูลการเปรียบเทียบกฎหมายการตั้งครรภ์แทนในประเทศต่างๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้
ประเทศที่มีกฎหมายอนุญาต เพื่อมนุษยธรรมและเพื่อการพาณิชย์ | ประเทศที่มีกฎหมาย ห้ามทำเพื่อการพาณิชย์ แต่อนุญาตเพื่อมนุษยธรรม | ประเทศที่มีกฎหมาย ห้ามทุกกรณี |
รัสเซีย คนทุกกลุ่มเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ ได้อย่างเท่าเทียม ทั้งคู่สามี-ภรรยา คนโสด คนรักเพศเดียวกัน หรือคนต่างชาติ โดยเน้นไม่เน้นความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม (จะใช้ไข่หรืออสุจิของคนที่ไม่ใช่ญาติก็ได้) และคุ้มครองผู้ขอให้ตั้งครรภ์เป็นหลัก | ออสเตรเลีย ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์ ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องไม่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก ในภาคตะวันตกและภาคใต้มีกฎหมายคนรักเพศเดียวกัน และคนโสดใช้บริการนี้ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ไข่ของผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน | สวีเดน หากเปลี่ยนใจภายหลัง หญิงตั้งครรภ์แทนมีสิทธิ์ไม่ยกเด็กให้กับผู้ขอ และชายที่เป็นเจ้าของอสุจิ อาจเรียกร้องสิทธิในการเป็นพ่อเด็กได้ |
ยูเครน คุ้มครองสิทธิของผู้ขอให้ตั้งครรภ์เป็นหลัก และสนับสนุนสิทธิการเจริญพันธุ์เต็มที่ ให้สิทธิหญิง-ชายโสด หรือคนรักเพศเดียวที่มีสถานภาพโสดใช้บริการได้ | สหราชอาณาจักรอังกฤษ ให้หญิงตั้งครรภ์แทน เป็นแม่โดยชอบด้วยกฎหมาย จนกว่ากระบวนการรับบัตรจะเสร็จสิ้น | ฝรั่งเศส ไม่คุ้มครองสิทธิของพ่อแม่ ที่มีพันธุกรรมเกาะเกี่ยวกับเด็กที่เกิดจาก เทคโนโลยีการตั้งครรภ์แทนกัน และไม่อนุญาตให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม |
แอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้ คุ้มครองข้อตกลงการตั้งครรภ์ที่ไม่ใช่การจ้าง อนุญาตให้คนโสด และคนรักเพศเดียวกันใช้บริการได้ ซึ่งคนโสดที่ใช้บริการ ต้องมีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม และผู้รับตั้งครรภ์ต้องเคยตั้งครรภ์มาแล้ว และยังมีลูกที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างน้อย 1 คน หญิงผู้ตั้งครรภ์แทนมีสิทธิตัดสินใจ ยุติการตั้งครรภ์โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ แต่ถ้าไม่ใช่เพราะเหตุผลทางการแพทย์ หญิงผู้รับตั้งครรภ์ต้องจ่ายค่าชดเชย | แคนาดา (ยกเว้นแคว้นควิแบค) | แคว้นควิแบค ของแคนาดา ไม่ให้สิทธิการเป็นแม่ตามกฎหมายแก่ผู้บริจาคไข่ |
สหรัฐอเมริกา (อาร์คันซอ, แคลิฟเฟอร์เนีย, ฟลอริด้า, อิลลินอย, แมลซาซูเซส, เวอม้อนท์ | สหรัฐอเมริกา (นิวยอร์ก, นิวเจอซี, นิวแม็กซิโก, เนบราสก้า, เวอร์จิเนีย, โอเรกอน, วอชิงตัน) | สหรัฐอเมริกา (อริโซน่า, มิชิแกน, อินเดียน่า, นอร์ธ ดาโกด้า) |
อินเดีย ยังไม่อนุญาตให้คนที่ไม่แต่งงานกันตามกฎหมายคนโสด และคนรักเพศเดียวกันจ้างตั้งครรภ์แทน แต่คุ้มครองสิทธิของพ่อแม่ที่จ้างตั้งครรภ์แทน ในการเป็นพ่อแม่ชอบด้วยกฎหมาย | อิสราเอล หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงโสด หญิงหม้าย หรือหญิงหย่าร้าง และอนุญาตให้ทำได้ เฉพาะคู่สามี-ภรรยาต่างเพศ ที่นับถือศาสนาอิลาม และเป็นพลเมืองของอิสราเอลเท่านั้น | สเปน แต่ไม่ปิดกั้นคนทีไปรับจ้างตั้งครรภ์นอกประเทศ |
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ > Surrogacy laws by country
นอกจากการตั้งครรภ์ในประเทศแล้ว ยังมีการตั้งครรภ์แทนข้ามชาติ เช่นเดียวกับกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยไปสดๆ ร้อนๆ โดยประเทศที่เป็นศูนย์กลางหรือ HUB การตั้งครรภ์แทนข้ามชาตินั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ยูเครน เม็กซิโก เนปาล โปแลนด์ และจอร์เจีย ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลาง เพียงแต่ไม่มีการเปิดตัวอย่างจริงจังเท่านั้น ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำใหับรรดาประเทศกำลังพัฒนาร่วมเป็น HUB สำหรับการตั้งครรภ์แทนนั้น เพราะว่ายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองโดยตรง และยังถือว่าเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก
หากเทียบค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด พบกว่าสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายรวมต่อราย $150,000 ในขณะที่อินเดียมีค่าใช้จ่ายรวมราว $28,750 แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มอีก 15% หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ในประเทศไทยพบว่าค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ $13,000 (ประมาณ 390,000-400,000 บาท) แต่หากเป็นการจ้างผ่านนายหน้าเงินที่ได้ก็จะลดลง โดยจะได้รับเงินเป็นรายเดือนตั้งแต่รู้ว่าตัวอ่อนเริ่มฝังตัว หากเกิดภาวะแทรกซ้อน กระทั่งแท้งหรือเด็กเสียชีวิตในช่วง 5-6 เดือน หญิงรับจ้างตั้งครรภ์จะได้รับค่าจ้างลดลง
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ตัวแทนจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า ควรให้มีกฎหมายในประเด็นนี้แต่กฎหมายควรมีมุมมองมากกว่าการอุ้มบุญ และควรคิดถึงผู้หญิงรับตั้งครรรภ์เป็นหลัก เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เท่าที่ตนคิดคร่าวๆ นั้น คิดว่ามีเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน แต่ข่าวสารและงานวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมานั้นแทบไม่เคยบอกความล้มเหลวของการทำอุ้มบุญเลย แม้ปัจจุบันอัตราความสำเร็จของเทคโนโลยีจะเพิ่มมากขึ้นจนอยู่ที่ 50% ก็ตาม สิ่งที่ควรคิดต่อไปคือ ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญ หน่วยงานที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบเป็นใคร มีกฎหมายในการคุ้มครองอย่างไร เพื่อให้บริการนี้เข้าถึงได้สำหรับคนทุกกลุ่มอย่างเข้าใจ
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเจริญพันธุ์กว่าจะออกมาเป็นมนุษย์ มีขั้นตอนการตัดสินใจหลายขั้นตอน แต่การใช้เทคโนโลยีนี้ทำให้เห็นการตัดสินใจในรายละเอียดมากกว่าเดิม เช่น ใครจะมาอุ้มท้อง แล้วใครจะมาเป็นผู้ตัดสินใจ และคนที่ตัดสินใจมีความสามารถในการเลือกหรือมีความเข้าใจเชิงเทคนิคเพียงพอหรือไม่ อีกทั้ง ประเด็นนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้ตั้งครรภ์แทน เพราะมีการตอบแทนค่าใช้จ่ายหรืออาจมีการต่อรอง ซึ่งขณะนี้เรายังเห็นสภาพความไม่เป็นธรรมอยู่ในสังคม ถ้าหากรัฐจะเข้ามาช่วยกำกับดูแลต้องระวังว่าจะเป็นการช่วยลดความไม่เป็นธรรมหรือเป็นการผลิตซ้ำความไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือจิตใจของผู้ที่อยากเป็นพ่อเป็นแม่ และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ท่ามกลางการแสวงหาผลประโยชน์ มีความอาทรอยู่ในนั้น รวมถึงเด็กที่เกิดจากการเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ที่สื่อกระแสหลักมองว่าเป็นตัวประหลาด จะมีวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ต้องคิดให้รอบคอบและค่อยเป็นค่อยไปมากที่สุด
ศ.นพ. สุพร เกิดสว่าง สูตินรีแพทย์ ให้ความเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้มีบุตรยากนั้นต้องดูแลทั้งสามีและภรรยา หากพบแล้วว่าการแก้ไขเรื่องการมีบุตรยากนั้นยังทำได้ก็ควรทำ การมีกฎหมายอุ้มบุญนั้นยังดูไม่คุ้มทุน โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์นั้นมีค่าใช้จ่ายหลายเรื่อง ทั้งการให้คำปรึกษา การดูแลรักษาตัวอ่อนหลังปฏิสนธิแล้ว งานด้านคลินิกและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ทุกขั้นตอนล้วนยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การหาอาสาสมัครเป็นการว่าจ้างในเชิงธุรกิจ ดูไม่เป็นธรรม ควรคิดเป็นค่าตอบแทนน้ำใจมากกว่าเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังขัดต่อหลักการบางศาสนา
ในช่วงท้ายของงาน ผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว และหน่วยงานทางการแพทย์ ต่างให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่าควรทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ก่อน เพราะยังต้องการปัจจัยที่สำคัญอีกหลายอย่าง เช่น ผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำการอุ้มบุญปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ประบกอบกับวิธีการช่วยผู้มีบุตรยากนั้นยังมีหนทาง
ด้านตัวแทนจากกลุ่มเพื่อนกะเทยไทย เห็นว่า กฎหมายอุ้มบุญนั้นควรจะมี เพราะแรงผลักดันที่ต้องการมีลูกในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มิใช่เกิดเพียงความต้องการของตัวเองหรือเพื่อสนองชีวิตคู่เท่านั้น หากแต่ยังเกิดจากแรงผลักดันของครอบครัวที่ต้องการผู้สืบสกุลด้วย