เปิดปีใหม่มา คนกรุงเทพฯก็ต้องว้าวุ่นกับความวุ่นวายสับสนเช่นเคย
ชีวิตที่ว้าวุ่น ต้องเดินทางท่ามกลางสภาพการจราจรอันคับคั่งในมหานครหลวงของประเทศไทย สิ่งที่จะช่วยบรรเทาระยะเวลาในการเดินทาง นั่นก็คือ รถไฟฟ้า
ในประเทศไทย มีรถไฟฟ้า อยู่ 2 สายหลักที่ใครๆก็รู้จักกันดี คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (รถไฟลอยฟ้า) และรถไฟฟ้ามหานคร (รถไฟฟ้าใต้ดิน) แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ตรงนี้
ประเด็นที่กฎหมายฮาเฮจะมาพูดคราวนี้เป็นสิ่งที่ใครๆมองข้าม ก็คือ การตรวจกระเป๋าก่อนเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (การตรวจในทางกฎหมายก็คือค้นนั่นเอง)
ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ว่า การตรวจค้นสิ่งของในความครอบครองของบุคคลในที่สาธารณะจะกระทำไม่ได้เลย เว้นแต่เจ้าพนักงานปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 เท่านั้น บุคคลอื่นจะทำการค้นไม่ได้โดยเด็ดขาด
แล้วก่อนเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทำไมรปภ.ถึงตรวจดูกระเป๋าเราได้ล่ะ ??
จริงๆ แล้วรถไฟฟ้าใต้ตินเป็นสาธารณสถาน ประชาชนทั่วไปย่อมมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เมื่อเป็นที่สาธารณะ หากจะค้นโดยบุคคลอื่นย่อมทำไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะขนาดเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจค้นเรา ก็จะต้องมีเหตุอันควรสงสัยก่อน ถ้าไม่มีแล้วก็จะตรวจไม่ได้
ดังนี้ แม้ว่าพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 63 จะให้เจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ มาตรา 63(1) ยังจำกัดว่าจะค้นหรือจับกุมผู้ใดต้องเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า มิเช่นนั้นแล้ว จะค้นกระเป๋าหรือค้นตัว ค้นอะไรของเราก็ไม่ได้เลย
เช่นนี้ หากขึ้นรถไฟฟ้าแล้วรปภ.จะขอตรวจกระเป๋าเรา เราก็อย่าไปให้เขาตรวจ เอ้ย ไม่ใช่ครับ ก็ให้เขาตรวจไปแหละครับ เพื่อความปลอดภัยของเราๆ ท่านๆ ในการรักษาความปลอดภัย
…….กฎหมายอย่างนี้ มีด้วยหรือนี่
ที่มาภาพ : antwerpenR
ภาพหน้าแรก : Daquella manera