16 กรกฎาคม 2548 เป็นวันที่ “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ถูกจารึกเอาไว้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีดึงดันให้ออกมาใช้แก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ ทันทีที่พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกประกาศครั้งแรกในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และขยายเวลาต่อเนื่องกินเวลาหลายยุคสมัยรัฐบาล เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน กินเวลายาวนาน 5 ปี
บทเรียนของ 5 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ชัดเจนคือ การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการแก้ปัญหาความรุนแรงได้เลย
สำหรับกรุงเทพฯ สถานการณ์เดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ถือเป็นครั้งแรกที่พื้นที่เมืองหลวงและหลายจังหวัดใกล้เคียงถูกประกาศว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงต่อเนื่องยาวนานที่สุด คือเริ่มประกาศตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 53 และขยายเวลาต่อเนื่องจนรวมได้มากกว่า 3 เดือนแล้ว ในช่วงของการประกาศ มีทั้งคนตาย คนเจ็บ คนหาย มีประชาชนธรรมดาถูกเรียกเข้าค่ายทหาร ถูกจับกุม มีการเคอร์ฟิวยาวนานที่สุดในรอบสิบแปดปีที่ผ่านมา ย่อมไม่มีคนที่เชื่อในสันติวิธีและแนวทางประชาธิปไตยคนไหน ที่สนับสนุนว่าการใช้พระราชกำหนดเช่นนี้จะเป็นทางออกที่ถูกต้อง
หลากองค์กรภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทีมงาน iLaw เห็นว่า สิ่งนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่น่าสนใจ ที่บอกได้ทั้งเรื่องราว และจุดยืนท่าทีของแต่ละเครือข่าย แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้รับความสนใจจากกระแสสังคมและรัฐบาลมากนัก แต่เนื้อหาประกอบแถลงการณ์จะเป็นอีกรูปแบบของบันทึกช่วยจำเหตุการณ์ ซึ่งอาจจะกำลังค่อยๆ เลื่อนลางไปในความทรงจำของคน “ไทย“
รวมแถลงการณ์ต่อการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
ตั้งแต่เมษายน 53 – ปัจจุบัน
แถลงการณ์ที่นำโดยเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 บันทึกไว้ว่า เหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงบางส่วนบุกเข้าไปในรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 กลายเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และใช้อำนาจนั้นปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล เว็บไซต์ประชาไท และเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน
ในแถลงการณ์นี้แสดงจุดยืนว่า ขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที เพราะเหตุที่รัฐสภาไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ยังสามารถใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว แต่การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับทำลายหลักการประชาธิปไตย ละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และไม่นำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น
แถลงการณ์ฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เรื่องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ รัฐบาลต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวบุคคล เป็นการควบคุมตัวในสถานที่เปิดเผยซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และต้องไม่เป็นการควบคุมตัวโดยปราศจากการติดต่อกับโลกภายนอก ผู้ถูกควบคุมตัวต้องมีสิทธิได้พบญาติ พบทนายความ และสิทธิในการคัดค้านการควบคุมตัว
ทั้งนี้เพราะเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 นายเมธี อมรวุฒิกุล ดารานักแสดงซึ่งเคยขึ้นเวทีนปช. ถูกทหารจับตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปสอบสวนที่เซฟเฮ้าส์ ซึ่งไม่ชอบธรรมเพราะแม้แต่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังกำหนดไว้ว่าการคุมตัวต้องเกิดขึ้นในสถานที่ที่กำหนด ไม่ใช่ที่ลับ ทั้งยังไม่ปรากฏว่านายเมธีได้มีโอกาสพบญาติและทนายแต่อย่างใด
แถลงการณ์ฉบับที่สาม ออกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 เรื่อง คัดค้านข้อเสนอของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนับสนุนให้รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อจัดการการชุมนุมของนปช. เพราะกฎอัยการศึกให้อำนาจกองทัพในการจัดการบ้านเมืองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ถือว่าขัดต่อหลักปกครองในระบอบประชาธิปไตย สร้างปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรง ทั้งยังเป็นกฎหมายที่มีจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมาก
แถลงการณ์ฉบับที่สี่ ออกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 หลังจากสถานการณ์กดดันการชุมนุม โดยกองกำลังทหารติดอาวุธสงครามและกระสุนจริงเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 มีมาตรการปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม ตัดน้ำไฟ จำกัดการเดินทาง ถัดจากนั้น ในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม ก็เกิดเหตุลอบยิงพล.ตรี.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ตามมาด้วยการปะทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่หน้าสวนลุมพินี และต่อเนื่องไปยังพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ จากเหตุการณ์นั้น ปรากฏพลเรือนผู้เสียชีวิตจากการถูกยิงที่ลำตัว หน้าอก ศีรษะ 33 ราย บาดเจ็บมากกว่า 230 คน
ในแถลงการณ์ระบุว่า การใช้กำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรงต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ สถานการณ์มีแต่แนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และน่ากังวลว่าจะลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเจตนาของรัฐบาลที่จะคืนความเป็นปกติสุขแก่บ้านเมืองด้วยการใช้กองกำลังทหารและใช้อาวุธเพื่อยุติการชุมนุมนั้น ไม่เป็นผล
ข้อเสนอของแถลงการณ์ฉบับนี้ เสนอว่าให้ยุติการใช้กองกำลังทหารและอาวุธ เน้นการเจรจา และให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรง และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบข้อเท็จจริง
แถลงการณ์ฉบับที่ห้า ออกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2553 แสดงความขอบคุณต่อแกนนำที่ประกาศยุติการชุมนุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ยืนยันว่าทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในเหตุครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นคดีการเมือง และต้องได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ และเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสีย และทำความจริงให้ปรากฏ
แถลงการณ์ฉบับที่หก ออกเมื่อ 11 มิถุนายน 2553 เรื่องขอให้รัฐบาลปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการควบคุมตัวนายสมยศตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม แถลงการณ์แสดงจุดยืนว่า การควบคุมตัวบุคคลที่แสดงความคิดความเชื่อที่แตกต่างโดยที่มิได้ใช้ความรุนแรง เป็นการกระทำที่มิชอบ จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ไม่มีข้อหาความผิดทางอาญา และให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คืนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น
แถลงการณ์ฉบับที่เจ็ด ออกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ถูกคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขอให้ยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที
แถลงการณ์ในนามเครือข่ายสันติประชาธรรม
ตั้งแต่ก่อนประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ทางเครือข่ายสันติประชาธรรม ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2553 ว่าให้รัฐบาลยุติการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงและยุติการใช้สื่อของรัฐสร้างความเกลียดชังแก่ผู้ชุมนุม และยื่นข้อเรียกร้องให้ยุบสภาภายใน 3 เดือน ในวันถัดมา รัฐบาลก็ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเมื่อวันที่ 8 เมษายน เครือข่ายสันติประชาธรรมย้ำว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแสดงถึงการที่รัฐบาลมีความอดกลั้นต่อผู้ชุมนุมน้อยลงจนอาจนำไปสู่การปราบการชุมนุม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลละเว้นการใช้กำลังและเครื่องมือต่างๆ เพื่อสลายหรือปราบการชุมนุม และทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่โต๊ะเจรจาโดยเร็ว และต้องยุติการปิดสื่อ เพราะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
หลังจากนั้น วันที่ 22 เมษายนทางเครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์ให้ถอดสลักความรุนแรง ให้รัฐบาลยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อศึกษาและทำข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดช่องว่างระหว่างรายได้
วันที่ 9 พฤษภาคม เครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์อีกฉบับ ให้มีการยุติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นข่าวสาร ยุติการชุมนุมและแกนนำมอบตัว และเสนอข้อเสนอให้ทุกฝ่ายประนีประนอมและยุบสภาภายใน 5 เดือน เพื่อยุติความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น
วันที่ 14 พฤษภาคมในแถลงการณ์ของเครือข่ายสันติประชาธรรมระบุถึงความตึงเครียดของการชุมนุม การประนีประนอมดูท่าว่าจะล้มเหลว ภาพพจน์ของนปช.ย่อยยับในพื้นที่สื่อกระแสหลัก การตายของผู้คนจากเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนไม่มีความหมายอะไร โดยเฉพาะเมื่อเพ่งมองผ่านการรายงานของสื่อมวลชน อีกทั้งสื่อมองไม่เห็นและไม่เข้าใจความเจ็บแค้นของคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจเมื่อแกนนำประกาศรับแผนปรองดองของรัฐบาล และเมื่อผู้ชุมนุมสูญเสียความชอบธรรมในสายตาของมวลชน นายกฯ อภิสิทธิ์ก็บิดพริ้วข้อตกลงที่จะยุบสภาวันที่ 14 พฤศจิกายนได้โดยทันที
แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ยื่นข้อเรียกร้องว่า ทุกฝ่ายจะต้องยึดมั่นแนวทางที่จะรักษาชีวิตของผู้ชุมนุมให้ได้ และรัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเป็นหลักประกันว่า แกนนำและมวลชนจะได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายตามวิถีทางประชาธิปไตย
แถลงการณ์อื่นๆ
เครือข่ายนักเขียนและศิลปินอิสระ อ่านประกาศเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เรื่อง คนต้องเท่ากัน เพื่อคัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร โดยเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ตระหนักถึงความไม่ถูกต้องของการใช้อำนาจกฎหมายมากดขี่สิทธิเสรีภาพของผู้คน
กลุ่มห้าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 ทันทีหลังรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หากรัฐบาลเห็นว่าการกระทำใดของผู้ชุมนุมมีความผิดตามกฎหมายใด ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายนั้นเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดได้ ไม่ได้มีเหตุจำเป็นที่รัฐบาลต้องถือเอาสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงมาประกาศว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน และเมื่อประกาศแล้ว มาตรา 16 ของกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดว่าข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่อยู่ในความควบคุมของศาลปกครอง เท่ากับว่าภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนไม่ได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพโดยองค์กรตุลากรเพียงพอ
กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า กลุ่มประกายไฟ และเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภาคม ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะกฎหมายนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ และย้ำด้วยว่ารัฐบาลสามารถใช้กฎหมายทั้งแพ่งและอาญาที่มีอยู่แล้วจัดการปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งนี้การอ้างว่าความรุนแรงเกิดจากการกระทำของกลุ่มนปช. เป็นข้อกล่าวหาที่ขาดหลักฐาน รัฐบาลควรทำหน้าที่ดูแลหาทางแก้ไข ไม่ใช่เร่งโยนความผิดว่าเป็นของฝ่ายตรงข้ามโดยยังไม่มีการสืบสวนสอบสวน
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 ว่าจากการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำไปสู่การปิดกั้นเว็บไซต์ทางการเมือง ซึ่งพลเมืองเน็ตเห็นว่า การปิดกั้นข่าวสารขัดต่อหลักประชาธิปไตย และยิ่งยั่วยุให้เกิดแรงต้าน จึงขอเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการปิดกั้นการสื่อสาร
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคี ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2553 ว่าแม้มาตรการทหารและกำลังพลติดอาวุธ จะไม่ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชน แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศเลวร้ายและสูญเสียโอกาสในการฟื้นฟูประเทศ จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ขอบคุณแกนนำบางส่วนที่ยุติการชุมนุม ขอบคุณรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมสถานการณ์จนไม่มีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่แสดงความเป็นผู้นำในการแก้วิกฤตด้วยการใช้อำนาจของพลเรือนกำกับดูแลการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร และสนับสนุนให้มุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ส่งเสริมให้รัฐบาลตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บกพร่อง อีกทั้งชื่นชมสื่อมวลชนและบุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานเสี่ยงอันตรายเพื่อประชาชน
กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549 ให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐทันที เพราะถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้ยกเลิกการปิดกั้นสื่อทุกประเภท ทั้งขอเรียกร้องให้สถาบันสื่อเปิดให้ทุกฝายที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเสมอหน้ากันในการนำเสนอข่าวสาร มิใช่มีเพียงฝ่ายรัฐบาลดังที่ได้กระทำไป กลุ่มอดีตส.ว.ยังย้ำว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2540
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2553 สืบเนื่องจากที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เรียกนักศึกษาเข้าไปรายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 โดยมิได้แจ้งข้อหาที่แน่ชัด ซึ่งถือเป็นการคุกคามของรัฐทหารที่กระทำต่อประชาชนที่มีจุดยืนใกล้เคียงกับคนเสื้อแดงและคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐทหาร โดยใช้วิธีการออกหมายเรียกบุคคลจำนวนมาก รวมทั้งการเผยแพร่ผังเครือข่ายล้มเจ้า
สนนท.จึงเรียกร้องให้รัฐบาลมีความโปร่งใสในการปฏิบัติต่อประชาชน และขอให้ยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพ
กลุ่มสันติใต้ ซึ่งนำโดยสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้และนักวิชาการ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เรื่อง รัฐบาลอภิสิทธิ์หมดความชอบธรรมแล้วโดยสิ้นเชิง โดยระบุว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้แนวทางอำนาจนิยม ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการสลายการชุมนุม และยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันทีในทุกพื้นที่ และต้องยุติการบิดเบือนและปิดกั้นข่าวสาร และเสนอให้ประกาศยุบสภาโดยทันที
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (TWFT) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ประณามการล้อมปราบของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หยุดปิดสื่อทุกแขนง
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 ว่า ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และให้รัฐยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขอให้ผู้ชุมนุมยุติการใช้อาวุธ เพื่อลดเงื่อนไขอันนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ชี้ให้เห็นปัญหาว่า หลังจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ศอฉ.ได้ออกหมายจับบุคคลจำนวนมาก แต่ไม่เปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ถูกจับและสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งลักษณะนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ถูกจับและญาติมิตรที่ไม่อาจทราบสภาพความเป็นอยู่ จึงเรียกร้องให้มีการประกาศชื่อและสถานที่ควบคุมตัว เพื่อให้ญาติและทนายสามารถติดต่อได้ทันที
นักวิชาการและประชาชนใน จ.อุบลราชธานี ร่วมกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุว่า สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การคง พ.ร.ก.สร้างความอึดอัดคับข้องใจกับประชาชน ส่วนการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาล ก็สมควรเป็นสิ่งที่ทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่ากับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ
วันที่ 4 กรกฎาคม 2553 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.) และองค์กรภาคี ออกจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นการต่อเวลาหลังจากที่ประกาศใช้มาแล้ว 3 เดือน ในฐานะสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองและความร่วมมือเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิศักยภาพชุมชน ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ปล่อยตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์
กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกจังหวัด เพราะพ.ร.ก.จะทำให้ยิ่งสร้างความแตกแยก และสะท้อนว่าระบบยุติธรรมปกติ ไม่สามารถทำงานได้ และขอให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากการแสดงออกทางการเมือง
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียกร้องให้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเดินไปอย่างรวดเร็ว และให้มีการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง
ที่มาภาพ : philippeleroyer
ไฟล์แนบ
- Nowar (28 kB)
- Empowerment (36 kB)
- Isan (30 kB)
- HumanRightLawyer (28 kB)
- WGJP (33 kB)
- SantiTai (26 kB)
- YPD (36 kB)
- ThaiNetizen (28 kB)
- SocialMove (29 kB)
- FiveLawTU (32 kB)
- SantiPrachatham5 (36 kB)
- SantiPrachatham4 (29 kB)
- SantiPrachatham1 (37 kB)
- SantiPrachatham2 (27 kB)
- HRLA7 (44 kB)
- HRLA6 (50 kB)
- HRLA5 (46 kB)
- HRLA4 (46 kB)
- HRLA3 (46 kB)
- HRLA2 (48 kB)
- HRLA1 (34 kB)
- HLAC (40 kB)
- Fabric (31 kB)
- SFT (28 kB)
- ExSenators (38 kB)
- Writers (41 kB)
- SantiPrachatham3 (30 kB)
RELATED POSTS
No related posts