19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดงานเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง” เพื่อมองหาทางออกให้แก่ปัญหาคดีการเมืองและผู้ที่ถูกคุมขังจากข้อหาทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
งานเสวนาครั้งนี้มี สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงยุติธรรม พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เบนจา อะปัญ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ อมร รัตนานนท์ อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นผู้ดำเนินรายการ
วงเสวนาเริ่มต้นด้วยคำถามถึงกลุ่มพันธมิตรฯ โดยอมรกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตามมาด้วยหลายคดีในหมวดคดีอาญา คดีก่อการร้าย และคดีการเป็นกบฏ เช่น คดีเก้าแกนนำจากการเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล หรือ คดีชุมนุมหน้าสมาคมวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) อย่างไรก็ตาม หลายคดีเพิ่งเข้าสู่กระบวนการของศาลชั้นต้น เช่น คดีชุมนุมปิดสนามบิน ที่ยืดยาวมาตั้งแต่ปี 2551 และศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในเดือนธันวาคม 2566 ขณะเดียวกันหลายคดีได้ยุติไปแล้วเช่นกัน
ในประเด็นการนิรโทษกรรมนั้นอมรเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองกรอบของการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ดังที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ทางฝั่ง นปช. เหวง โตจิราการ เล่าถึงสาเหตุของการเกิดคดีความทางการเมืองว่า เป็นเพราะรัฐมองประชาชนเป็นศัตรูจึงเลือกที่จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ ตัวอย่างสำคัญ คือ คดีชายชุดดำ ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศ เป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ขณะที่คดีอื่นๆ อย่าง “คดีเผา” หลายคดีก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เกลี่ยกล่อมให้คนเสื้อแดงเซ็นไปก่อน จนกลายเป็นความเสียเปรียบในชั้นศาล นอกจากนี้ รัฐยังพยายามใช้สื่อในการทำให้สังคมมองภาพผู้ชุมนุมในทางที่ไม่ดีอีกด้วย