วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์และชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ สองช่างภาพข่าวที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับพวก การชุมนุมวันดังกล่าวจัดโดยเยาวชนปลดแอกเพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกระทรวงกลาโหมเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาโควิด 19 และเรียกร้องให้ใช้วัคชีนชนิด mRNA หลังผู้ชุมนุมพยายามจะเคลื่อนขบวนผ่านถนนราชดำเนินนอกมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจเริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังแยกนางเลิ้งแทน การชุมนุมวันดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 34 คน โดยเป็นผู้ชุมนุม 22 คน นักข่าว 4 คนและเจ้าหน้าที่รัฐ 8 นาย กรณีของธนาพงศ์ถูกยิงที่บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศที่สะโพกด้านขวา ขณะที่ชาญณรงค์ถูกยิงที่บริเวณป้ายรถเมล์ตรงข้ามโรงเรียนราชวินิตมัธยมบริเวณแขนด้านซ้าย
เวลาประมาณ 10.10 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่หนึ่งใช้กระสุนยางต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำละเมิด ส่วนของธนาพงศ์สรุปว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยิงโดยกำหนดเป้าหมายชัดเจน ไม่แยกแยะ ปราศจากความระมัดระวัง และชาญณรงค์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำต่อเป้าหมายเฉพาะเจาะจง จากพยานหลักฐานไม่ได้กระทำตามยุทธวิธี ไม่ได้ใช้อย่างระมัดระวัง โดยสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายให้ธนาพงศ์ เป็นเงิน 42,000 บาทและชาญณรงค์เป็นเงิน 30,000 บาท คำพิพากษาโดยสรุปดังนี้
สตช. กระทำละเมิดจากการใช้กระสุนยางไม่เป็นไปตามยุทธวิธี ไม่ระมัดระวัง
กรณีของธนาพงศ์ โจทก์ที่หนึ่ง – ขณะเกิดเหตุตามฟ้องธนาพงศ์ปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ อยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณห้าเมตร ไม่ได้มีผู้ชุมนุมปะปนและเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการประกาศจะใช้กระสุนยาง เจือสมกับภาพหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือคือ จากคำเบิกความมีเหตุยกขึ้นอ้างการใช้กระสุนยางว่า เวลาดังกล่าวมีผู้ชุมนุมนำหุ่นฟางมาเผาที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติทำให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังมาดับเพลิง ผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงทำให้จำเป็นต้องใช้กระสุนยาง เป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปไม่ได้เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามสตช. ในฐานะจำเลยที่หนึ่งไม่ได้นำตัวเจ้าหน้าที่ที่ยิงมาเบิกความ ทั้งข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับวิดีโอเหตุการณ์ที่ธนาพงศ์ ยืนปฏิบัติหน้าที่อยู่ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมพอสมควร ไม่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรง รับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า มีเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยาง มีการตรวจสอบบาดแผลและวิดีโอในที่เกิดเหตุ มีเสียงปืนดังขึ้นสองนัด ในเวลาเดียวกันกับที่นักข่าวที่ถ่ายวิดีโอนั้นหันกล้องไปทางโจทก์ทันทีทันใด สอดคล้องกับพยานจำเลยที่ตอบคำถามถามค้านของโจทก์ว่า ในเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะมีตำรวจยิงหนึ่งนาย
ในการใช้กระสุนยาง จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลัก กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เป้าหมายต้องมีลักษณะคุกคาม ซึ่งไม่ปรากฏในข้อเท็จจริง ในการยิงวันดังกล่าวแบ่งเป็นแนวที่หนึ่งถือโล่ และแนวที่สามถือปืนลูกซอง ระยะยิงจากแนวที่สามถึงตัวธนาพงศ์อยู่ที่ 30 เมตรซึ่งเป็นระยะที่เล็งยิงได้อย่างแม่นยำ เห็นได้ว่า เป็นการยิงโดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่แยกแยะ ปราศจากความระมัดระวัง
กรณีของชาญณรงค์ โจทก์ที่สอง – เหตุตามฟ้องแบ่งเป็นสองส่วนคือ เรื่องการได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศและการได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาและถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ป้ายรถเมล์ตรงข้ามโรงเรียนราชวินิตมัธยม ส่วนที่ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา จากการนำสืบยังฟังไม่ได้ว่า ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาที่บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ สอดคล้องกับพยานบุคคลว่า มีกลุ่มควันขว้างจากผู้ชุมนุมและมีการระบุทำนองว่า เป็นควันจากพลุสี มีผู้ที่แสบตาจากพลุสีด้วย จึงอาจเป็นไปได้ว่า ผลกระทบที่ชาญณรงค์ได้รับบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศมาจากพลุสี
เหตุที่สอง วันดังกล่าวหลังผู้ชุมนุมไม่สามารถเคลื่อนผ่านแนวตำรวจที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ จึงเปลี่ยนไปทางแยกนางเลิ้ง ตำรวจตั้งแนวกีดขวางบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ พยานจำเลยเบิกความว่า แนวปฏิบัติคือการรักษาพื้นที่ ไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ตำรวจใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตาและการยิงแก๊สน้ำตาเป็นวิถีโค้งเพื่อผลักดันผู้ชุมนุมที่พยายามจะเคลื่อนเข้ามา พยานระบุว่า ตำรวจไม่ได้เคลื่อนกำลังออกจากที่ตั้งเนื่องจากเป็นการรักษาพื้นที่ไม่ใช่การคลี่คลายสถานการณ์ มีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อลดระยะห่างและแจ้งเตือน จึงยังฟังไม่ได้ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การใช้แก๊สน้ำตาไม่ใช่เรื่องเฉพาะเจาะจง ตำรวจไม่อาจหลีกเลี่ยงให้ชาญณรงค์ได้รับผลกระทบได้ ส่วนกระสุนยาง ขณะถูกยิงชาญณรงค์ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ หน้าร้านสหกรณ์วิทยาลัยพณิชยการพระนคร (ตรงข้ามโรงเรียนราชวินิตมัธยม) ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 60 เมตร แม้ระยะยืนอยู่ห่างจากระยะยิงที่หวังผล (ตามตำราคือ ระยะไม่เกิน 30 เมตร) แต่จากคำเบิกความก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ กล่าวคือ หากมุมยิงเชิดขึ้นเพิ่ม 2 องศาจะมีระยะยิงได้ประมาณ 77.5 เมตรและหากเพิ่มขึ้นอีกเป็น 4 องศากระสุนจะไปได้ไกลขึ้น ประกอบกับมีภาพที่ตำรวจเชิดปลายปืนซองขึ้นสูง ไม่ใช่แนวระนาบ จึงทำให้ระยะกระสุนตกไปได้ไกลขึ้นกว่าการเล็งยิงในแนวระนาบ ทั้งจำเลยเองไม่ได้นำสืบค้านให้ชัดเจนในประเด็นนี้ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าโจทก์
จุดที่ชาญณรงค์ยืนนั้นอยู่นอกระยะแม่นยำ เป็นระยะไกลเกินกว่าจะเล็งเพื่อหวังผลในการป้องกันอันตรายที่เข้ามาถึงหรือป้องกันการกระทำคุกคาม การกระทำของตำรวจไม่ได้กระทำต่อเป้าหมายเฉพาะเจาะจง จากพยานหลักฐานฟังได้ว่า ไม่ได้กระทำตามยุทธวิธี ไม่ได้ใช้อย่างระมัดระวังถือเป็นการกระทำโดยละเมิด
๐ ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายสร้างความหวาดกลัวต่อสื่อ สั่งชดใช้ค่าเสียหายจากกระสุนยาง
จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตำรวจไม่ได้ห้ามการทำข่าว เสนอข่าวการชุมนุมกระทำได้ตามปกติ มีสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวอย่างอิสระและไม่ได้มีการกีดขวาง วันดังกล่าวมีเหตุ “ผู้ชุมนุมบางส่วน” ใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องธรรมดาที่การปฏิบัติหน้าที่จะกระทบต่อผู้ไม่ใช้ความรุนแรง การกระทำของตำรวจไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย สร้างความหวาดกลัว ไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้ในส่วนนี้ การคำนวณค่าเสียหายดังนี้
- ธนาพงศ์ จำนวน 42,000 บาท แบ่งเป็นค่าเสียหายทางกายภาพจำนวน 10,000 บาท ค่าเสียโอกาสการทำงานสี่วัน วันละ 3,000 บาท รวม 12,000 บาท และค่าเสียหายทางจิตใจ 20,000 บาท
2. ชาญณรงค์ จำนวน 30,000 บาท แบ่งเป็นค่าเสียหายทางกายภาพจำนวน 10,000 บาทและค่าเสียหายทางจิตใจ 20,000 บาท
มีคำขอที่ยกเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายเช่น คำขอให้สตช.ประกาศขอโทษเนื่องจากไม่ใช่การกระทำละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณและการประกาศรายชื่อเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ นอกจากนี้คำกล่าวอ้างจากฝ่ายจำเลยที่ว่า ธนาพงศ์และชาญณรงค์มีส่วนที่ก่อให้ความเสียหายเช่นกัน ข้อเท็จจริงปรากฏจากปากคำของพยานโจทก์เรื่องแนวปฏิบัติและวิธีการทำงานของสื่อมวลชนที่จะพิจารณาความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงบริเวณปะทะ ขณะที่ธนาพงศ์ก็ไม่ได้ยืนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ได้อยู่ในแนวปะทะ ใช้ความระมัดระวังและไม่มีส่วนในการก่อความเสียหาย เช่นเดียวกันกับชาญณรงค์ที่ยืนอยู่ห่างประมาณ 60 เมตร จึงสั่งให้สตช.ชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้