วิธีการยื่นขอพระราชอภัยโทษ หากถูกยกจะยื่นใหม่ไม่ได้อีกสองปี!

“มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้” 

บทบัญญัติข้างต้นอยู่ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 หรือ ป.วิอาญาฯ ระบุช่องโอกาสสำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษในคดีอาญาไว้ตามมาตรา 259 ซึ่งต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โดยอาจจะยื่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วยตนเอง ฝากผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยื่นให้ก็ย่อมกระทำได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 261 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ถวายความเห็นว่า สมควรให้การอภัยโทษหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 264 ระบุเอาไว้ว่า หากการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษที่ไม่ใช่โทษประหารชีวิตถูกยกไปแล้วหนึ่งหน จะไม่สามารถยื่นใหม่ได้อีกจนกว่าจะพ้นระยะเวลาสองปี

ในช่วงเวลาที่มีนักโทษจากคดีการเมืองอย่างการถูกจำคุกด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากถึง 17 คน โดยมีคนต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 29 ปี 174 เดือนเช่นนี้ การนำประเด็นพระราชทานอภัยโทษกลับมาในสังคมไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาอีกครั้งหนึ่ง

วิธีการและขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ แบบรายบุคคลหรือคณะบุคคล

หลักสำคัญของการขอพระราชทานอภัยโทษ แบ่งออกได้เป็นดังนี้ 

1. คดีต้องมีการพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น

2. ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ จะต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษา ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือคณะรัฐมนตรี เท่านั้น ทนายความไม่นับเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง

3. ผลลัพธ์มีสามรูปแบบ คือ พระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด พระราชทานอภัยโทษให้บางส่วน และ ไม่ให้พระราชทานอภัยโทษ โดยหนังสือคำสั่งเหล่านี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

4. หากถูกยกฎีกาไม่ให้พระราชทานอภัยโทษซึ่งไม่ใช่โทษประหารให้ชีวิต ต้องรอไปอีกสองปีนับตั้งแต่มีการยกฎีกาจึงจะยื่นใหม่ได้

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษจะต้องถูกคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเสียก่อน กล่าวคือได้รับการลงโทษแล้ว เช่น อยู่ในระหว่างการจำคุก มีสถานะเป็น “นักโทษเด็ดขาด” จึงจะสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ โดยกฎหมายและ ป.วิอาญาฯ ไม่ได้กำหนดช่วงเวลารับโทษขั้นต่ำเอาไว้ จึงหมายความว่าสามารถยื่นได้ทุกเมื่อ นับตั้งแต่วินาทีแรกของการถูกลงโทษตามคำพิพากษาคดี

เมื่อต้องการจะยื่นขอการพระราชทานอภัยโทษ สามารถยื่นเรื่องได้ที่ผู้บัญชาการทัณฑสถาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ สำนักราชเลขาธิการ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่นักโทษเป็นชาวต่างชาติ เพื่อนำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายเป็นฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ต่อไป

เมื่อทัณฑสถานได้รับฎีกาทูลเกล้าฯ แล้ว จะเข้าขั้นตอนของการ “สอบสวนเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา” โดยทัณฑสถานจะต้องรวบรวมเอกสารจำนวน 10 ชิ้นส่งให้แก่กรมราชทัณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณาดังต่อไปนี้: 

1. แบบสอบสวนเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ 

2. ฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ 

3. สำเนาคำพิพากษาทุกชั้นศาลที่มีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่ศาล 

4. สำเนาหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดและหมายลดโทษ 

5. ทะเบียนประวัติอาชญากร  

6. สำเนาทะเบียนรายตัว หรือ ร.ท. 101 

7. บันทึกความเห็นของแพทย์หรือจิตแพทย์ ในกรณีที่นักโทษอ้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย จิตใจ หรือความพิการ 

8. คำสั่งถอดยศ ยกเว้นกรณีที่เคยเป็นพลตำรวจหรือพลทหาร 

9. หนังสือสถานทูตรับรองการส่งตัวกลับประเทศ ในกรณีเป็นนักโทษชาวต่างชาติ และ

10. เอกสารอื่นๆ หากจำเป็น

หลังจากนำสำเนาของเอกสารทั้ง 10 ชิ้นนี้ไปส่งให้แก่กรมราชทัณฑ์แล้วสองชุด ทัณฑสถานจะต้องเก็บไว้เองหนึ่งชุดด้วย หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนที่กรมราชทัณฑ์จะพิจารณาจากเอกสารเพื่อเสนอความเห็นให้แก่กระทรวงยุติธรรม ก่อนจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อไป

การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป

การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะแตกต่างจะการขอพระราชทานอภัยโทษอย่างมาก เนื่องจากการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะตราเป็นพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมักเกิดขึ้นในโอกาสสำคัญต่างๆ ของประเทศ เช่น วันครบรอบตามพระราชประเพณีไทย หรือ เป็นเหตุผลทางด้านราชทัณฑ์และวาระสำคัญของประเทศ เป็นต้น

สำหรับการพระราชทานอภัยโทษในกรณีนี้ นักโทษเด็ดขาดจะถูกแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ:

1. เกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

2. เกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ

3. เกณฑ์ที่ไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

ขั้นตอนในการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปเริ่มที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่จะทำให้เกิดการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปเสียก่อน โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาพระราชทานอภัยโทษ” ขึ้นมาหนึ่งคณะ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องดังนี้: 

1. ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย 

2. ผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม 

3. สำนักราชเลขาธิการ 

4. สำนักงานศาลยุติธรรม 

5. สำนักงานคณะกรรมการราชกฤษฎีกา 

6. สำนักงานอัยการสูงสุด 

7. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 

8. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

9. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 

10. ผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ 

สมาชิกข้างต้นนี้จะทำงานโดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งยังมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มให้เหมาะสมตามบริบทการทำงานได้อีก โดยมีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในอนุกรรมการเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลักในการกำหนดเกณฑ์ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ รับผิดชอบและเร่งรัดกระบวนการพระราชทานอภัยโทษ และคอยรายงานผลการดำเนินงานให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป้าหมายคือการได้มาซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อได้ร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนที่จะส่งไปตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วจึงให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป

ดังนั้นการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ตัวแปรสำคัญจึงอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การอภัยโทษว่านักโทษเด็ดขาดกลุ่มใดจะได้รับการอภัยโทษบ้าง และขึ้นอยู่กับแรงผลักดันของรัฐบาลทั้งคณะในการตราออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อบังคับใช้จริงต่อไป 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage