(1) รู้จักจำเลยทั้งห้า และที่มาของป้ายผ้า
“ช่วงที่โควิดระบาดหนักมาก มีญาติของผมเสียชีวิตเพราะโควิด หลังจากเหตุการณ์นั้น มันทำให้ผมรู้สึกว่า สังคมของเรามันเป็นอะไรไป … ทำไมรัฐบาลที่มีหน้าที่ทำบริการสาธารณะ หรือจัดการเรื่องสาธารณสุขให้ประชาชน ทำไมเขาจึงเมินเฉยเรื่องวัคซีนโควิด ถ้าเราดูข่าวช่วงนั้น หลายๆ ประเทศเริ่มมีวัคซีนกันแล้ว และจริงๆ ประเทศไทยควรจะได้เป็นประเทศแรกๆ ของโลกด้วยซ้ำ”
“ด้วยความที่แฟนของผมเรียนสาธารณสุข ก็เลยรู้ทั้งข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อมูลเชิงลึกว่าสาเหตุที่เรายังไม่ได้วัคซีนเป็นเพราะอะไร หรือเรื่องการบริการสาธารณสุขที่ย่ำแย่มากๆ หลังจากนั้นผมจึงมาคุยกับเพื่อนๆ ว่าต้องทำกิจกรรมซักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการเรียกร้องเรื่องวัคซีนโควิด-19”
“พอดีกับที่ตอนนั้นมีการอภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร ผมก็มีความสงสัยว่าทำไมงบประมาณสถาบันกษัตริย์ถึงพุ่งไปหลายหมื่นล้าน เชื่อไหม ผมไปหาข้อมูลมาว่างบวัคซีนถูกจัดสรรมาไม่กี่ร้อยล้านเอง ก็เลยนำมาคุยกับเพื่อนต่อว่า เมื่อนำงบสองส่วนมาเปรียบเทียบกัน ทำไมมันต่างกันหลายเท่าตัวขนาดนี้ งบประมาณที่สำคัญหรือเร่งด่วน ไม่ได้ถูกจัดสรรได้อย่างเต็มที่เพื่อนำวัคซีนมารักษาพี่น้องประชาชนที่ติดโควิดหรือยังไม่ได้เป็นโควิด นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า งบสถาบันกษัตริย์ > วัคซีน COVID 19”
“ข้อความก็มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้ระบุถึงใคร ผมคิดว่า คำว่างบสถาบันกษัตริย์ เป็นคำที่มีความเป็นสาธารณะอยู่พอสมควร ก็เลยนำมาใส่ในป้ายผ้าผืนนั้น และจริงๆ วันนั้นมีเพื่อนมาร่วมกิจกรรมกันหลายสิบคน แต่น่าแปลกใจมากที่ตำรวจลำปางเล็งเป้ามาที่พวกเราห้าคนนี้ นี่ยังเป็นคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจผม”
ทำความรู้จัก จอร์จ โม จูน และแอน เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/9769
รับชม “ป้ายผ้าลำปาง กับความฝันที่อยากเห็นประเทศดีขึ้น” https://www.youtube.com/watch?v=wQhB5Ksd65o&t=6s
(2) บุกค้นบ้าน-ตรวจ DNA
“เขากล่าวหาว่าเราเข้าไปใช้ในพื้นที่ของสำนักงานคณะก้าวหน้า เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการบ่งชี้ว่าตำรวจลุแก่อำนาจพอสมควร วันนั้นในหมายค้นระบุเลขที่อาคารผิด เขาแจ้งแค่ว่ามีหมายค้นว่า ‘พินิจ ทองคำ’ ก็คือชื่อของผม แต่เขาก็ใช้อภิสิทธิ์ในการเข้ามาเลย ก็อาคารมีสามชั้นนะตำรวจเดินขึ้นไปถึงชั้นสอง ทั้งที่เราพยายามตักเตือนเขาแล้ว บอกเขาแล้ว เขาก็ไม่ฟัง”
ต่อมา มีการตรวจค้นที่พักของโม แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ยึดสิ่งใดไป โดยโมเล่าว่า ในตอนแรก ตำรวจไม่ได้บอกเธอว่ามีหมายคดีมาตรา 112 แต่จะขอไปตรวจค้นที่บ้านเท่านั้น แต่เมื่อตำรวจทำการค้นบ้านเสร็จกลับยื่นหมายคดีมาตรา 112 ให้พ่อและแม่ของเธอ
“ตอนแรกคือยังไม่ได้บอกว่าเราโดน 112 เรายังไม่โดนหมายเขาบอกว่าแค่จะไปค้นบ้านเฉยๆ ไม่มีอะไร เราก็ ‘ได้ค่ะ’ ยังไม่อะไรเพราะบ้านเราก็ไม่ได้มีอะไรต้องปิดยัง สักประมาณ 15 นาที ค้นบ้านและเอกสารในค้นบ้านเรียบร้อย เขาก็เอาเอกสารเกี่ยวกับที่เราโดนหมายมายื่นให้พ่อกับแม่ เราก็อยู่ด้วย แต่เขายื่นให้พ่อ พ่อเลยเป็นคนรับหมาย แล้วพอเห็น พ่อทำอย่างแรกพ่อหัวเราะ หัวเราะใส่ตำรวจด้วย” โมเล่าย้อนเหตุการณ์อย่างติดตลก
สถานที่สุดท้ายที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นคือ ที่พักของจูน แต่เลขที่บ้านตามหมายค้นนั้นไม่ตรงกับเลขที่บ้านจริง จูนจึงไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้น
แอนระบุว่า กระบวนการของตำรวจมีทั้งการซักประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายรูปให้ถือป้าย รวมทั้งการ “ตรวจดีเอ็นเอ” โดยแอนเล่าว่า เจ้าหน้าที่จะนำดีเอ็นเอที่ตรวจไปเทียบกับหลักฐานที่เขายึดไปได้ ส่วนวิธีการตรวจคือการเอาสำลีมาเก็บน้ำลายกระพุ้งแก้ม
“เขาบอกว่าถ้าเราไม่ให้เขาตรวจดีเอ็นเอก็เหมือนเราไม่บริสุทธิ์ใจ เขาจะเอาไปเทียบกับหลักฐานที่เขายึดไปได้ประมาณนั้น ก็เลยให้ตรวจ มีการเอาสำลีมาเก็บน้ำลายกระพุ้งแก้ม” แอนเล่าพร้อมทำท่ากระทุ้งแก้มเหมือนเวลาแปรงฟัน
*หมายเหตุ ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์เมื่อ 25 มกราคม 2564 https://www.ilaw.or.th/articles/9769
(3) เปิดแฟ้มคดี พร้อมสู้ด้วยข้อเท็จจริง
การแขวนป้ายผ้าที่สะพานรัษฎาภิเศกโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการแสดงกิริยาจาบจ้วง ล่วงเกิน ลบหลู่ ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทำให้พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี เสื่อมเสียเกียรติยศ และทำให้ประชาชนบุคคลทั่วไปอ่านข้อความแล้วเข้าใจว่า งบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลนั้นมีจำนวนมาก ไม่เป็นไปตามหลักการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน และมากกว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ซึ่งเป็นการได้เปรียบหรือเอาเปรียบประชาชน
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ในนัดส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนคดีให้กับอัยการ ทั้งห้าคนได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ให้พนักงานอัยการทำการสอบสวนเพิ่มเติมด้วยการออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสาร ประกอบไปด้วย
“ถ้าจำไม่ผิด ฝ่ายโจทก์ใช้เวลาสี่ถึงห้าวัน แต่ฝ่ายจำเลยแปปเดียวเอง ประมาณหนึ่งวัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการต่อสู้เรื่องข้อเท็จจริง เพราะเราได้พูดคุยกับทางทนายแล้วว่า มันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ การเปรียบเทียบงบประมาณหมื่นล้านกับร้อยล้าน มันชัดเจนมากว่านี่คือข้อเท็จจริงทางสาธารณะ อยู่ในสื่อต่างๆ และพิสูจน์ได้”
“จะว่าเร็วก็ไม่เร็ว จะว่าช้าก็ไม่ช้า (วันพิพากษา) เป็นอีกหนึ่งวันที่น่าจะมีความสำคัญกับชีวิตผมมากพอสมควร”
ฟังรายการ Hear Me, Here with me ep.ป้ายผ้าลำปาง ย้อนหลัง https://twitter.com/i/spaces/1yoJMZrwXzdxQ
ดูรายละเอียดคดีทั้งหมดhttps://www.ilaw.or.th/articles/case/24093