ไหม ธนพร: พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เคยคุมโรค คุมแค่เพียงความทุกข์ยากของแรงงาน

ไหม-ธนพร วิจันทร์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2564 เราพบว่า คดีของเธอมีไม่น้อยกว่าเจ็ดคดี จากนั้นผ่านมาเพียงสี่เดือนเท่านั้น คดีของเธอเพิ่มขึ้นเป็น 17 คดี เธอไล่เรียงแต่ละคดีด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากเหตุใดบ้าง มี 15 คดีที่เป็นคดีความในการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเคลื่อนไหวของราษฎร ส่วนอีกสองคดีเป็นคดีชุมนุมของแรงงาน

ชีวิตการทำงาน 29 ปีของเธอตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐประหารอีกสองครั้ง ผ่านรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมานับไม่ถ้วน ทำให้สะท้อนภาพเสรีภาพการชุมนุมของแรงงานในประเทศนี้ได้ดี เธอบอกว่า สถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่รัฐประหาร 2557 นายจ้างกระทำกับแรงงานสารพัดแต่แรงงานไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ และปี 2563 พวกเขาถูกกระทำซ้ำด้วยวิกฤติโควิด นายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและกลไกรัฐไม่สามารถคืนความเป็นธรรมให้แก่พวกเขาได้ เมื่อออกมาชุมนุมเรียกร้องก็ต้องเผชิญกับคดีความ

“ที่ไม่เห็นแรงงานออกมาชุมนุม ไม่ใช่เขาไม่อยากออกไปแต่เขาถูกปิดกั้น ไม่ใช่เขาไม่มีความทุกข์แต่ออกไปก็โดนคดี” 

บทสัมภาษณ์นี้คือความทุกข์ของแรงงานผ่านเรื่องเล่าของไหม นักสหภาพแรงงานหญิงที่พร้อมสู้เพื่อขบวนแรงงานและประชาธิปไตยแม้ต้องเจออีกกี่คดีก็ตาม

รัฐประหารกัดกร่อนกระบวนการต่อรองนายจ้างของแรงงาน

ไหมเล่าประสบการณ์การชุมนุมระบุว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานที่มีเสรีภาพมากที่สุดคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเพื่อสิทธิแรงงานมากมายแต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ปี 2541 ตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ขบวนการแรงงานยังสามารถออกมาเคลื่อนไหวได้ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในเวลานี้ ข้ามมาสู่รัฐประหาร 2557 คสช.ออกคำสั่งให้ผู้นำสหภาพแรงงานต้องรายงานตัวในค่ายทหาร เธอเป็นอีกคนที่ต้องไปรายงานที่ค่ายอดิศร สระบุรี ในตอนนั้นมีการถามถึงบทบาทของสหภาพแรงงาน เธอมองว่า คสช.มีเป้าหมายเพื่อป้องปรามไม่ให้พวกเธอที่เรียกว่าเป็นแกนนำจัดการชุมนุม

ภายใต้การปกครองของคสช. หากสหภาพแรงงานจะรวมกลุ่มก็จะมีเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายความมั่นคงและตำรวจเข้ามาไม่ให้มีการจัดการชุมนุม ทำให้ต้องพยายามหาสถานที่อื่นๆ ในการนัดรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เมื่อนายจ้างและลูกจ้างเจรจาสองฝ่ายแบบทวิภาคีไม่ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการไตรภาคีที่จะมีฝ่ายประนอมข้อเรียกร้องของกระทรวงแรงงานร่วมด้วย แต่บนโต๊ะเจรจาสามฝ่ายก็มักจะมีแขกไม่ได้รับเชิญอย่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาแทรกแซงการเจรจา 

“ตั้งแต่มีรัฐประหารนายจ้างทำกับแรงงานสารพัดแต่เราชุมนุมไม่ได้ พวกพี่ต้องอาศัยศาลาวัดชุมนุมคุยกัน หลังๆ ก็เข้ามาบอกเจ้าอาวาสว่า ไม่ให้ใช้สถานที่จนพวกพี่ต้องมาหาเช่าตลาดในการชุมนุมกัน รัฐบาลจากการรัฐประหารข้อจำกัดเยอะมาก”

 นอกจากนี้ในปี 2558 รัฐบาลคสช. ผ่านพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมต้องไปแจ้งต่อสถานีตำรวจท้องที่ก่อน นั่นเป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การชุมนุมของแรงงานเกิดยากขึ้น 

วิกฤติโควิดสั่นคลอนชีวิตแรงงาน

ในปี 2563 สถานการณ์โควิดเริ่มส่งผลกระทบต่อแรงงานในโรงงาน นายจ้างเริ่มลดสวัสดิการและโบนัส นายจ้างไม่เปิดโอกาสให้มีการชุมนุม ทำให้แรงงานเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองค่าแรงและสิทธิต่างๆ ลำบากมากขึ้น ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 กระทรวงแรงงานออกประกาศกระทรวงแรงงาน ห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในช่วงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ไหมเล่าว่า การเจรจาเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานอาจหยุดงานประท้วงและต่อรองกับนายจ้าง ขณะที่นายจ้างก็มีสิทธิปิดงานเช่นกัน นายจ้างสามารถปิดเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานที่เรียกร้องหรือโรงงานก็ได้ ระหว่างที่นายจ้างปิดงานนั้นลูกจ้างที่เรียกร้องจะไม่ได้ค่าจ้าง โดยการเจรจาจะดำเนินไป หากไม่ได้ข้อยุติ กลไกของกระทรวงแรงงานจะเข้ามาเป็นฝ่ายที่สาม แต่ช่วงหลังจากการออกประกาศของกระทรวงแรงงานก็ทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองของแรงงานถูกแช่แข็ง

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อนายจ้างก็จริง แต่ในกรณีของเธอ นายจ้างใช้สถานการณ์นี้ในการเลิกจ้าง เธอเล่าว่า ด้วยสภาวะเช่นนี้นายจ้างจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตของโรงงาน ต้องย้ายที่ตั้งโรงงาน กรณีที่ลูกจ้างไม่ย้ายตามนายจ้างไปจะถูกเลิกจ้างและได้ค่าชดเชย แรงงานคนอื่นที่แสดงเจตนาจะย้ายก็ได้ย้ายตามไป ยกเว้นเธอที่แสดงเจตนาจะย้ายตามแต่นายจ้างกลับไม่ให้ไป…เป็นเธอคนเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ไปทำงานที่โรงงาน เป็นการนั่งอยู่เฉยๆ กับรปภ.ประมาณปีหนึ่ง สุดท้ายนายจ้างขอเลิกจ้างเธอเพียงคนเดียวอีกครั้ง โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19

“พี่มองว่า เขาอาจกังวลเรื่องการจัดตั้งแรงงาน พี่ทำงานมา 29 ปี ได้เงินเดือน 16,700 บาท  เขามาเจรจากับพี่ว่า จะให้เงินค่าเสียหายตามกฎหมาย ถ้าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะต้องจ่ายเงินเดือนปีละหนึ่งเดือนคือ 16,700 คูณ 29 ปีแต่พี่ไม่เอา พี่สู้ขอกลับเข้าทำงาน เป็นคดีที่ศาลแรงงาน มีกำหนดนัดพิจารณา 23-25 มีนาคม 2565”

เมื่อแรงงานเดือดร้อนลุกขึ้นสู้ แต่รัฐสู้กลับด้วยคดีความ

นอกจากการต่อสู้ในคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมของเธอแล้ว อีกด้านหนึ่งเธอยังเป็นแกนหลักของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน มีบทบาทในการรับเรื่องร้องเรียนและติดตามความคืบหน้าจากรัฐ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการยื่นหนังสือ การประชุมร่วมกับรัฐหรือการชุมนุม กรณีที่มีการชุมนุมแรงงานจะเคร่งครัดมากเรื่องหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่าง การชุมนุมแต่ละครั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งและตลอดมาไม่เคยมีครั้งใดที่การชุมนุมมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ช่วงปี 2563 แรงงานที่ออกไปเคลื่อนไหวเรียกร้องยังสามารถจัดกิจกรรมในบริเวณที่ต้องการอย่างทำเนียบรัฐบาลได้ เป็นการชุมนุมแบบไม่มีแถมท้ายด้วยคดีความ แต่ในปี 2564 การชุมนุมของแรงงานเริ่มตามมาด้วยคดีความ วันที่ 19 ตุลาคม 2564 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ นัดหมายชุมนุมใหญ่ติดตามข้อเรียกร้องหลังลูกจ้างบริษัทตัดเย็บชุดชั้นในสตรีส่งออก “บริลเลียนท์ฯ” เลิกจ้างพนักงานมากกว่าพันชีวิตโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม ต่อมาตำรวจ สน.นางเลิ้ง กล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมหกคน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไหมรวมอยู่ด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เครือข่ายฯ ได้ไปติดตามข้อเรียกร้องการชดเชยเงินอีกครั้ง เนื่องจาก เสกสกล อัตถาวงศ์ เคยรับปากให้สำหนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามนายจ้างที่หนีออกนอกประเทศไป แต่ท้ายที่สุดไม่มีความคืบหน้า เมื่อเครือข่ายฯ ขอให้รัฐบาลใช้งบกลางก็ไม่มีการชงเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งที่เรื่องเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย จนถึงปัจจุบันลูกจ้าง 1,388 คน ยังต้องรอเงินชดเชยอีก 230 ล้านบาท แต่ผู้เรียกร้องถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างฉับไว

ไหมเล่าว่า ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างบางคนอายุเยอะ หางานใหม่ไม่ได้แล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ดีค้าขายก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็กลับไปทำการเกษตรเพื่อประทังชีวิต

หาเรื่องเอาผิดไม่ได้ ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กู้หน้า

ด้วยความที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานจึงมีแรงงานที่เข้ามาร้องเรียนกับเธออยู่เรื่อยๆ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ไหมติดต่อรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อนัดหมายพาแรงงานข้ามชาติเข้าพูดคุยเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เมื่อถึงวันนัดหมายเธอเดินไปที่กระทรวงแรงงานพร้อมกับแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ 30 คน โดยเธอและแรงงาน 10 คนขึ้นไปประชุมหารือกับผู้แทนของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้แรงงานที่เหลือรออยู่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน

ระหว่างนั้นมีตำรวจเข้ามาที่ใต้ถุนและขอตรวจเอกสารแรงงานทั้งหมด มีแรงงานที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมายจำนวนเจ็ดคน ตำรวจจึงพาตัวไปที่ สน.ดินแดง ไหมบอกว่า เป็นการจับกุมที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ กล่าวคือ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแรงงานที่ไม่สามารถเดินทางไปต่อเอกสารการทำงานได้ ทำให้เขาตกอยู่ในสถานะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งวันดังกล่าวพวกเขาก็เดินทางมาเพื่อร้องเรียนว่า จะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมาอยู่ในสถานะที่ถูกกฎหมายแต่กลับถูกตำรวจจับกุม ทั้งนี้กระบวนการเจรจาบนโต๊ะประชุมเพิ่งเริ่มไปเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทำให้การประชุมต้องยุติไปก่อนและไม่มีข้อสรุปใดออกมา

ต่อมาผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานเข้าร้องทุกข์กล่าวหาว่า ไหมช่วยเหลือและซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติ “เขาไปแจ้งความจับว่า พี่ซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติ พี่ไม่ได้ซ่อนเร้น เขาร้องเรียนเราก็พาเขาไป”  แต่เมื่อคดีไม่ครบองค์ประกอบความผิด พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีเรื่องช่วยเหลือและซ่อนเร้นแรงงานข้ามชาติแล้ว เปลี่ยนเป็นคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน 

เราตั้งข้อสังเกตว่า การที่เธอเป็นเป้าถูกดำเนินคดีเป็นเพราะจุดยืนทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลและท่าทีปราศรัยที่ดุดันเสมอ เธอรับว่า ใช่ “คือเขาจะมองเราว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เราออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะการทำงานของกระทรวงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด ลูกจ้างถูกลอยแพ แต่กฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ ปัญหาแรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้เราจำเป็นต้องไป”  การเรียกร้องที่ยากลำบากเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ไหมบอกว่า “เขามีท่าทีจะดูแลคนงานที่พินอบพิเทาและสนับสนุนเขา ซึ่งเหตุนี้ทำให้ขบวนการแรงงานแตกออกไป”

แม้จะตกเป็นเป้าถูกดำเนินคดีและต่อรองยากแต่นักสหภาพแรงงานหญิงรายนี้ก็ยืนยันว่า ขบวนการแรงงานต้องยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตย หลักการของสหภาพคือหลักเดียวกับประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งและตรวจสอบจากสมาชิก

เพื่อความเปลี่ยนแปลงจะอีกกี่คดีก็ไม่ถอย

นอกจากสองคดีที่กล่าวไปแล้ว ไหมยังมีคดีชุมนุมร่วมกับกลุ่มราษฎรหรือแนวร่วมอื่นๆ อีก 15 คดี เช่น การชุมนุม #ม็อบ10กุมภา ‘รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ’ ที่สกายวอล์คปทุมวัน วันที่ 10 กุมุภาพันธ์ 2564  และการชุมนุม #ม็อบ11กันยา  เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำ ที่หน้าศาลธัญบุรี วันที่ 11 กันยายน 2564 ในส่วนผลกระทบเมื่อมีคดีความ เธอบอกว่า “แน่นอนว่า มีผลกระทบต่ออาชีพการงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราไปสมัครงาน…ต้นทุนการเดินทางในการรายงานตัวในศาล ตอนนี้พี่ถูกเลิกจ้างด้วย เราไม่มีรายได้ด้วย เราก็ต้องพยายาม ค่าเดินทางต้องเอาเงินเก็บออกมา พี่ไม่มีครอบครัว  ไม่มีลูกก็พอได้”

เธอมองว่า การบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโควิด-19 เป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดผิดตัวและเห็นได้ว่า ใช้ในการควบคุมการชุมนุม “อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุมโควิด แต่คุณคุมไม่ได้เลย รัฐบาลล้มเหลว พ.ร.ก.ควรยกเลิก ไม่ควรใช้เครื่องมือมาเอาผิดกับเรา” ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐยกเลิกการบังคับใช้และเพิกถอนคดี รวมทั้งเยียวยาให้แก่ผู้ถูกกล่าวคดีที่ไม่เป็นธรรมด้วย

“คุณต้องเยียวยาด้วย คุณสร้างต้นทุนให้เขา ในเรื่องทนายความ ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลา บางคนต้องลางาน หยุดงาน ซึ่งการลางานบ่อยจะส่งผลต่อการปรับเงินเดือนหรือพิจารณาโบนัส และอาจนำไปสู่เงื่อนไขให้เลิกจ้าง”

ไม่เพียงแค่การเรียกร้องชุมนุมจะนำมาซึ่งคดีความ ยังมีการคุกคามตามมา เธอเล่าว่า “เวลาเราโพสต์ว่า จะมีการชุมนุมก็จะมีตำรวจโทรมาถามว่า จะไปยังไง ไม่ไปได้ไหม ไม่ชุมนุมได้ไหม หรือเวลาไปติดหมายเรียกที่บ้าน มายามวิกาลและวันหยุดบ้าง หมายเรียกไม่ควรจะมาตอนทุ่มครึ่ง สองทุ่ม ขยันเกินเหตุ” เธอหัวเราะให้กับความขยันของตำรวจไปด้วยระหว่างเล่า

เมื่อเราถามว่า คดีที่มากเช่นนี้ปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวของเธอหรือไม่ จากที่คุยกันด้วยเสียงเรียบเรื่อยมาตลอด เธอขึ้นเสียงสูงและกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “โน (ลากยาว) ไม่เปลี่ยน ไปต่อ มาขนาดนี้แล้ว พี่ไม่กังวล แม้จะมีการชุมนุม ให้มีคดีกี่คดีพี่ก็จะสู้ไปกับฝ่ายประชาธิปไตย”

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage