พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ: กรุงเทพฯสีฟ้า นำร่องท่องเที่ยว จัดชุมนุมได้ ถ้าไม่ใช่แออัด หรือก่อความไม่สงบ

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 10 ครั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แทบทุกครั้งตำรวจและฝ่ายความมั่นคงยังพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อห้ามไม่ให้มีการชุมนุม โดยอ้างว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และนำไปสู่ปฏิบัติการปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

อย่างไรก็ดี ตามคำสั่ง ศบค. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 กำหนดให้ กรุงเทพมหานคร เป็น “พื้นที่นำร่องทางการท่องเที่ยว” หรือ พื้นที่สีฟ้า ดังนั้น มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ฉบับที่ 37 ถึง 42 จึงไม่ได้ห้ามการจัดชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่มีข้อห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกันใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่ได้ใช้จำนวนผู้เข้าร่วมเป็นเกณฑ์ว่าจะจัดได้หรือไม่ได้

กรุงเทพฯ จัดชุมนุมได้ ถ้าไม่ใช่ที่แออัด หรือ เพื่อก่อความไม่สงบ

ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ที่ 18/2564  โดยกำหนดให้ กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 

ต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามประกาศใช้ข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการรวมกลุ่มไว้ในข้อ 2 ดังนี้

ข้อ ๒ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดปรับปรุงเฉพาะเรื่องจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์  ดังนี้  

(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าห้าสิบคน

(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าสองร้อยคน

(๓) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าห้าร้อยคน

(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนร่วมกันมากกว่าหนึ่งพันคน

(๕) พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของ บุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนอื่นทั่วไป โดยให้เร่งรัดการปฏิบัติตามีหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็ว

นอกจากนี้ ในข้อที่ 8 ของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 ยังกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณการสำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวไว้ด้วย ดังนี้

ข้อ ๘ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สำหรับพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่กิจการและกิจกรรมสำหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง และตามมาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ ๔ แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน   พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม   พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่กำหนดจำนวนบุคคลที่เข้ารวมกลุ่ม โดยกำหนดให้การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวสามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทำงราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

กล่าวคือ ตามข้อ 8 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ได้ยกเลิกเรื่องการห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คน ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หรือ หมายความว่า ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมได้โดยไม่จำกัดด้านจำนวนคนอีกต่อไป

ต่อมา แม้มีการประกาศใช้ข้อกำหนด ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับใหม่ อีกอย่างน้อย 5 ฉบับ ก็ยังคงให้ขยายหลักเกณฑ์ของพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวของข้อกำหนดฉบับที่ 37 ต่อไป อย่างล่าสุด คือ ข้อกำหนด ฉบับที่ 42 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 ได้ระบุในข้อ 2 ว่า ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามข้อกำหนด ฉบับที่ 37 ให้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป

“ศาลยกฟ้อง-อัยการไม่ฟ้อง” คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถ้าไม่ใช่ที่แออัด หรือ ก่อความไม่สงบ

หลังจากมีการดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือแกนนำการชุมนุมมาหลายคดี พบว่า บางคดีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และศาลก็มีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจาก อัยการและศาลเห็นว่า การกระทำหรือการชุมนุมของผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ยกตัวอย่างเช่น คดี #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยระบุว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาได้มีการพูดกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในทำนองและลักษณะที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปกระทำละเมิดต่อกฎหมาย หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด หรือปลุกระดมประชาชนทั่วไป หรือมีถ้อยคำจาบจ้วงหรือหมิ่นสถาบันแต่อย่างใด 

ประกอบกับผู้กล่าวหา ที่ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ชุมนุม ก็ไม่ยืนยันว่าในวันชุมนุม ผู้ต้องหาทั้งสามได้กระทำการใดหรือกล่าวถ้อยคำใดมีลักษณะเป็นการยุยงผู้ร่วมชุมนุม ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด จึงเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้การกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่า ในส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด อันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค พนักงานอัยการเห็นว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ตำแหน่งรักษาการณ์นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ได้ตรวจดูภาพถ่ายการชุมนุมในวันดังกล่าว ยืนยันว่าบริเวณลานกิจกรรมท่าน้ำนนทบุรี เป็นสถานที่โล่ง โปร่ง ไม่มีสิ่งบดบัง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา มิได้เป็นสถานที่แออัด อันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

หรืออย่างคดี #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะศาลเห็นว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจึงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครอง

ส่วนในประเด็นของการชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกินกว่า 5 คน ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63  ศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “มั่วสุม” หมายถึง การชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี “ส่วนการที่มีบุคคลมารวมตัวกันกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น เป็นการเรียกร้องโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ “การมั่วสุม” ประกอบกับอัยการโจทก์นำสืบไม่ได้ว่ามี “การมั่วสุม” อย่างไร

ชวนดูคำสั่งไม่ฟ้องคดี หรือยกฟ้องคดีในข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อได้ที่https://www.ilaw.or.th/articles/9997

กล่าวโดยสรุป จากทั้งสองคดีข้างต้น จะเห็นว่า การชุมนุม หรือ การรวมกลุ่มกัน ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยังเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกทั้ง การชุมนุมในสถานที่โล่ง โปร่ง ไม่มีสิ่งบดบัง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา ย่อมไม่มีความผิดฐานรวมกลุ่มหรือชุมนุมในสถานที่แออัด ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่อย่างใด

ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม

ตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 42 ที่ยังคงใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 กำหนดให้ ในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากให้สามารถทำได้ตามความเหมาะสมโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมถึงห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 

จากข้อความข้างต้น จะเห็นว่า ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ห้ามการรวมกลุ่มหรือการชุมนุมอย่างเด็ดขาด แต่ห้ามมีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือ มั่วสุม ในสถานที่แออัด หรือ เป็นการกระทำในลักษณะยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่ทว่า ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกือบทุกรูปแบบ โดยรูปแบบหนึ่งของการขัดขวาง คือ การกำหนดพื้นที่ที่ห้ามชุมนุม แม้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการแสดงออกก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น #ม็อบ26มกรา65 ที่ผู้ต้องหาคดีกิจกรรมราษฎร์ธรรมนูญและประชาชนร่วมกันเดินขบวนจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพื่อไปรายงานตัวตามหมายเรียกของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับตั้งรั้วเหล็กกีดขวางด้านหน้าสถานีตำรวจและทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ด้านข้างของสถานีตำรวจได้ จนสุดท้ายประชาชนต้องรวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจซึ่งเป็นพื้นถนนและทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัด

หรืออย่าง #ม็อบ1กุมภา65 : #บุกตามหาประยุทธ์ ภาคี #saveบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ประกาศทำกิจกรรม #บุกตามหาประยุทธ์ เพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือที่เรียกร้องให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหาพื้นที่บางกลอย แต่ระหว่างทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการวางตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐเพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังบริเวณหน้าทำเทียบรัฐบาลและมีการตั้งรั้วลวดหนามก่อนถึงตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย

จากทั้งสองกรณีข้างต้น จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงพยายามกำหนดพื้นที่ที่ห้ามชุมนุม อาทิ สถานที่ราชการ หรือ ทำเนียบรัฐบาล ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เป้าหมายในการชุมนุม ทั้งๆ ที่  ไม่มีข้อใดในข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 ถึง 42 ที่ให้ตำรวจกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม อีกทั้ง ตามความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 37 ข้อที่ 22 ยังระบุด้วยว่า ผู้ร่วมการชุมนุมต้องได้รับอนุญาตที่จะทำการชุมนุมในสถานที่ที่อยู่ในระยะของการ “มองเห็นและได้ยิน” ของกลุ่มเป้าหมายของการชุมนุม 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage